วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

เพราะเข้าใจ จึงเยียวยา.... มูลนิธิสตรีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 27 ก.ค. 2560 23:58 น.    เข้าชม 2735

      ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจนทำให้หัวหน้าครอบครัวต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้น นั่นหมายถึงบทบาทของสตรี ที่ขึ้นชื่อว่า แม่บ้าน ได้เริ่มต้นขึ้น โดยสตรีผู้ได้รับผลกระทบ ต้องรับบทบาทเป็นทั้งแม่และผู้นำครอบครัวในเวลาเดียวกัน ทั้งกลุ่มสตรีที่สามีเสียชีวิต หรือสามีพิการจำนวนมาก ในช่วงเริ่มแรกทางรัฐบาล ได้ใช้โครงการสร้างงานเร่งด่วน เป็นโครงการที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาให้สตรีเหล่านี้มีอาชีพ ต่อมาเมื่อจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ มีมากขึ้นกว่า 2,000 คน ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) จึงหนุนเสริมให้กลุ่มสตรีเหล่านี้รวมตัวกัน เกิดการก่อตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ และจดทะเบียนเป็นมูลนิธิตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ด้วยพลังของตนเอง และทำงานด้วยสามัญสำนึก เมื่อเห็นคนอื่นถูกกระทำ ก็จะตามไปเยี่ยมให้กำลังใจ ใครเดือดร้อนก็ช่วยอุ้มชู ช่วยติดตามสิทธิในการเยียวยา ส่งเสริมอาชีพโดยประสานงานกับหน่วยงานราชการ จึงเป็นที่มาของ “มูลนิธิสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ ดังต่อไปนี้ 1. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเด็กกำพร้า ผู้ยากจนรวมถึงผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และ 3. ส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ได้รับผลกกระทบ ผู้พิการทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยผู้ได้รับผลกระทบ       “เราช่วยเหลือคนที่เกิดเหตุการณ์เหมือนเรา เพราะเรารู้ซึ้งถึงความรู้สึกนี้ดี”       นั่นคือคำกล่าวของ นูรียา เจะแว เลขาธิการมูลนิธิสตรี ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อก่อนชีวิตของเธอก็เหมือนสตรีทั่วๆ ไป คือ เป็นแม่บ้านดูแลลูกอยู่กับบ้าน เมื่อนูรียาต้องสูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เธอจึงต้องย้ายกลับไปอยู่กับแม่ และพยายามหาอาชีพทำ เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและลูก และลดเวลาว่างไม่ให้ต้องจมอยู่กับความโศกเศร้า โดยยึดการปักผ้าคลุมผมเป็นอาชีพ และต่อมาได้รับการจ้างงานจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในโครงการจ้างงานเร่งด่วนของหน่วยงานราชการ จากประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จึงเลือกไปทำงานที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน โดยทำหน้าที่วัดความดัน ชั่งน้ำหนักและซักประวัติผู้ป่วย เย็นก็กลับมาทำผ้าคลุมผม และจากการทำงานลงพื้นที่ชุมชนกับสถานีอนามัยนี่เอง ทำให้มีโอกาสไปพบผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ไม่มีญาติ และมีความเป็นอยู่ที่ลำบากมาก ทำให้เธอได้เห็นและเข้าใจว่า ยังมีผู้ได้รับผลกระทบที่ยังลำบากอีกมาก จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากทำงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้

      เมื่อมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนการก่อตั้งขึ้นโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีสมาชิกมากกว่า 1,500 คน จากจำนวนผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 3,000 คน และเด็กกำพร้าจำนวน 4-5 พันคน ประกอบไปด้วยคณะกรรมการ ซึ่งเป็นตัวแทนจากปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา มีคณะกรรมการสายงานต่างๆ ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทุนการศึกษา ฝ่ายศาสนา ฝ่ายธุรการ และเหรัญญิก และมีกอ.รมน. เป็นหน่วยงานหลัก ในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบด้วยโครงการจ้างงาน และสนับสนุนทุนในการประกอบอาชีพ และสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเด็กกำพร้า และผู้ด้อยโอกาสในสังคม คณะกรรมการ มีหน้าที่ร่วมกันในการการจัดเวทีพูดคุยรับฟังความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด จากแต่เดิมชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปหาหน่วยงานภาครัฐ การจัดเวทีโดยมูลนิธิฯ ทำให้ชาวบ้านเกิดความไว้วางใจและกล้าที่จะพูดคุยปัญหาที่แท้จริงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยกัน โดยเป้าหมายหลักเริ่มแรกในการจัดเวที คือ เพื่อให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ๓จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ ได้รับรู้ว่ามีมูลนิธิฯ นี้อยู่ และพร้อมจะเป็นสื่อกลางในการประสานงาน เพื่อผู้ได้รับผลกระทบได้รับความช่วยเหลือ แม้ว่าในแต่ละพื้นที่ จะมีหน่วยงานราชการที่ดูแลอยู่แล้ว แต่อาจขัดข้องเรื่องภาษา ซึ่งทางมูลนิธิฯ สามารถเข้าไปช่วยเหลือในการประสานงานให้ได้รับความช่วยเหลือ และสามารถเข้ารับการปรึกษาปัญหาและอุปสรรคที่มีกับมูลนิธิได้ แม้กระทั่งการเยียวยาโดยรับฟังการระบายความในใจ เพื่อให้เกิดผ่อนคลายความเครียด

ภารกิจและความช่วยเหลือ       ภารกิจหลักของคณะกรรมการมูลนิธิฯ คือ การไปเยี่ยมเยียนและสร้างขวัญกำลังใจกับผู้ได้รับผลกระทบ ค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ยังลำบาก ไม่มีอาชีพ ก็หาอาชีพเสริมให้ เด็กกำพร้าที่เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทางมูลนิธิฯ จะจัดหาทุนการศึกษาให้กับเด็กยากจนแต่เรียนดี เมื่อมีโครงการช่วยเหลือใดๆ เข้ามาก็จะพิจารณาสมาชิกก่อนเป็นอันดับแรก โดยบทบาทในการเยียวยาของมูลนิธิฯ นอกจากจะให้ความช่วยเหลือต่อผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย และยังครอบคลุมไปถึงเด็กกำพร้า คนชรา และผู้พิการ อย่างเช่น กรณีของ นายมะตอเห มามุ ชายพิการที่ถูกยิงทำให้เสียขา ไป 1 ข้าง นอนอยู่แต่ในห้อง ไม่ยอมไปไหน ทางมูลนิธิฯ ได้เริ่มจากการเข้าไปพูดคุยสร้างความคุ้นเคย ให้เกิดความไว้วางใจ จนเริ่มลุกขึ้น และสอบถามความต้องการในการประกอบอาชีพ ก็ได้รับคำตอบว่า อยากเลี้ยงแพะ จากนั้นก็หาทุนในการสนับสนุนอาชีพ โดยขอรับการสนับสนุนโครงการจากกองทุน กยส.ของรัฐบาล มาซื้อแพะให้เลี้ยง จนสามารถเลี้ยงชีพและปรับตัวเข้ากับสังคมได้ และดึงภรรยาของเขาเข้ามาฝึกอาชีพกับกลุ่มแม่บ้าน สามารถลืมตาอ้าปาก ส่งลูกสามคนเรียนได้ บทบาทในการเชื่อมร้อยเครือข่ายสตรี

      วันนี้มูลนิธิฯ สามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง และได้รวบรวมกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบมารวมตัวกัน สร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างเข้มแข็ง จากเงินก้อนแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลต่างๆ ทำให้มูลนิธิ มีแรงขับเคลื่อนในการทำงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้สูญเสียที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน จึงทำให้สมาชิกรวมตัวกันสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาจำหน่าย ซึ่งได้แก่ ผ้าคลุมผม เสื้อ เข็มกลัด เพื่อจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจอยากช่วยเหลือมูลนิธิ นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังมีบทบาทต่อสังคมวงกว้าง คือ บทบาทในการรณรงค์สร้างความเข้าใจกับสังคม แสดงออกถึงจุดยืน โดยเมื่อเวลาเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ทางมูลนิธิฯ จะมีบทบาทเข้าไปในพื้นที่เพื่อรณรงค์ให้ยุติความรุนแรง ให้สังคมรับรู้ว่า ความรุนแรงมีแต่จะทำลายชีวิตคน ไม่มีทางทำให้เกิดสันติสุขขึ้นได้เลย…
 

ความคิดเห็น