วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

กีฬาฟุตบอล…กับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 8 ส.ค. 2560 18:27 น.    เข้าชม 2117

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับประโยชน์ของกีฬา ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๘ และในพิธีจัดการแข่งขันฟุตบอล ส.ส.มหากุศล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๒ ความว่า “การกีฬานั้น ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า เป็นปัจจัยในการบริหารร่างกายให้แข็งแรง และฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้ว ร่าเริง รู้จักแพ้ รู้จักชนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีการให้อภัย ซึ่งกันและกัน สามัคคีกลมเกลียวกัน อย่างที่เรียกกันว่า มีน้ำใจเป็นนักกีฬา..." และ “...นักกีฬาที่ดี นอกจากต้องมีการแสดง ทั้งในทางกายในทางสมอง คือ ใช้ความคิด และวิทยาการแล้ว ก็ต้องมีจิตใจเป็นนักกีฬา อันนี้จะทำให้มีชัยเหมือนกัน ถ้าแสดงตนเป็นคนที่มีจิตใจเป็นนักกีฬา จะทำให้ใจเย็นขึ้น เกิดเรื่องอะไรก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้...” พระบรมราโชวาทดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งใน “ศาสตร์แห่งพระราชา” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กีฬานั้นเป็นเครื่องมือทางสังคมที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ทั้งในด้านสุขภาพและพลานามัย และในด้านจิตใจ ซึ่งเมื่อคนมีคุณภาพแล้ว ก็จะทำให้สังคมมีคุณภาพตามไปด้วย       รัฐบาล หน่วยงานราชการ และองค์กรภาคเอกชน ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทดังกล่าว มาเป็นหลักคิดในการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือเชิงประยุกต์ในการพัฒนาคน และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
สานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้

ใช้กีฬาเพิ่มโอกาสทางการศึกษา       กระทรวงศึกษาได้ จัดทำ “โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้” ขึ้นในปี ๒๕๕๘ ด้วยการสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาใน ๕ จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา (อ.นาทวี อ.สะเดา อ.จะนะ อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย) ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ให้กับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความพร้อมและมีศักยภาพทางวิชาการ สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและสถาบันการศึกษาอื่นเพิ่มขึ้น
เพิ่มประสบการณ์เพิ่มมุมมองในการใช้ชีวิต       นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชน ที่ขาดโอกาสในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ตรง และการได้ใช้ชีวิตร่วมกับนักเรียนและครูผู้ฝึกสอนในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น อีกด้วย
พัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งกายภาพ และผลการเรียน       จากการดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ จนถึงปี ๒๕๖๐ พบว่า ผลการดำเนินการโครงการ เป็นไปในทางบวก ได้แก่ นักเรียนแผนการเรียนศิลป์-กีฬา มีผลการเรียนเฉลี่ยสูงกว่าแผนการเรียนศิลป์ทั่วไป อีกทั้งมีพัฒนาการทางร่ายกายที่ดีขึ้น สำหรับในมิติของความถนัดในเรื่องกีฬา พบว่า นักเรียนทุกโรงเรียน มีความถนัดและโดดเด่นแตกต่างกันไป ในแต่ละประเภท อาทิ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ยะลา โดดเด่นในกีฬามวยไทย ตะกร้อ ปันจักสีลัต วอลเลย์บอลหญิง, โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์ โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอลหญิง ฮอกกี้ ฟุตซอล, โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี โดดเด่นในกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอลหญิง, โรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา โดดเด่นในกีฬาฟุตบอล เทควันโด, โรงเรียนนาทวีวิทยาคม โดดเด่นในกีฬาฟุตบอล กรีฑา มวยไทย วอลเลย์บอลหญิง และโรงเรียนละงูพิทยาคม โดดเด่นในกีฬาวอลเลย์บอลชาย มวยไทย สานประโยชน์หลากมิติ จากระดับบุคคล สู่ชุมชนตามแนวทางกีฬาประชารัฐ

      ไม่เฉพาะหน่วยงานราชการ ที่ใช้กีฬาเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์กรในภาคส่วนอื่นๆ อีกมากมายหลายองค์กร ก็ได้ใช้กีฬามาเป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งเป็นการสานพลังขององค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่
นักกีฬาต้นแบบ…สู่แรงบันดาลใจขยายเครือข่ายกีฬาสู่ชุมชน
      สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดให้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติเสริมทักษะความรู้แก่นักกีฬาต้นแบบและภาคีเครือข่ายองค์กรสุขภาพ ด้วยการเชิญนักกีฬาต้นแบบและผู้นำเครือข่าย เช่น ตัวแทนจากค่ายผู้นำเยาวชน สสส. จาก จ.นราธิวาส เป็นต้น รวมถึงสมาคมกีฬามาร่วมกิจกรรมโครงการกว่า ๑๐๐ คน โดยการร่วมกิจกรรมนั้น จะมีทั้งกิจกรรมให้ความรู้ เช่น ความรู้ในเรื่อง “บุคคลสุขภาพ”, “สุขภาพมวลชน” และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรม จะสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ รวมไปถึงแรงบันดาลใจ ที่ได้จากนักกีฬาต้นแบบ ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมไปขยายผลต่อยอดในชุมชนของตนเอง ฟุตบอล รอยยิ้ม ความสุข และเศรษฐกิจ ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
กีฬาประชารัฐ

      ด้วยการสนับสนุนเป็นพิเศษจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ทำให้ ๓ ทีมอย่าง ปัตตานี เอฟซี, ยะลา เอฟซี และ นรา ยูไนเต็ด ใช้กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬานำร่องในการพัฒนาพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ภายใต้บริบทของสถานการณ์ จชต. พี่น้องประชาชนชาว ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถสร้างความสุขได้ด้วยการชมและเชียร์กีฬา โดยเฉพาะ ฟุตบอล ซึ่งทีมสโมสรจังหวัดของตัวเองได้ และมีค่ามากที่สุด ของพี่น้องในเขตพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
เชื่อมสัมพันธ์สู่ท้องถิ่น
      นอกจากจะเป็นเครื่องชโลมใจให้พี่น้อง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว กีฬาฟุตบอลยังนำไปสู่การเชื่อมสัมพันธ์ของคนในพื้นที่อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ภายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กิจกรรม "คนตานี หัวใจกีฬา" ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมพลศึกษา ร่วมมือกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี ในกิจกรรมนี้ จะนำแฟนคลับของกลุ่มแฟนคลับทีมปัตตานี เอฟซี, ยะลา เอฟซี และ นรา ยูไนเต็ด ร่วมแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เพื่อผนึกแฟนคลับ ๓ ทีมใหญ่ภาคใต้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นกลุ่มตัวแทนที่จะสร้างความสุขรอยยิ้มให้กับแฟนบอลและประชาชนของ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน
      กิจกรรมดังกล่าว สามารถต่อยอดลงไปสู่ระดับเยาวชนได้อีกด้วย โดยการจัดอบรมฟุตซอลคลินิก โดย "โค้ชโย่ง" เจนณรงค์ มากกำเนิด เฮดโค้ชฟุตซอล ม.ธนบุรี และเป็นโค้ชยอดเยี่ยมฟุตซอลยูลีก มาสอนการฝึกทักษะเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมี สัมพันธ์ คำคม อดีตผู้ตัดสินฟุตซอลฟีฟ่าของไทย มาแนะนำกติกาฟุตซอลให้กับเยาวชนในปัตตานีที่เข้าร่วมงานกว่า ๒๐๐ คน
ส่งเสริมเศรษฐกิจระดับพื้นที่
      นายวิมล เปิดเผยว่า "การแข่งขันฟุตบอลเอไอเอสลีกภูมิภาค ดิวิชั่น ๒ ในโซนภาคใต้นั้น ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง สร้างคุณประโยชน์ให้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ้างงาน ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกๆ อาชีพ ทั้งในสนามและนอกสนามแข่งขัน ช่วยให้เกิดความรักความผูกพันของคนในจังหวัด ให้รักในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างมิตรภาพขึ้นในหมู่ของแฟนคลับที่ได้มีกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ ก่อให้เกิดเป็นความสามัคคี จนกลายเป็นมิตรภาพและสันติภาพในที่สุด
      จากการเกริ่นนำที่เริ่มด้วย “ศาสตร์แห่งพระราชา” ในเรื่องคุณประโยชน์ของกีฬา ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในทางกายภาพ และจิตใจ ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับชุมชน หรือระดับพื้นที่ ทั้งในมิติสังคมจิตวิทยา มิติทางเศรษฐกิจ และในมิติอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานราชการ และองค์กรในทุกภาคส่วนได้น้อมนำหลักการของ “ศาสตร์แห่งพระราชา” นี้มาประยุกต์ใช้ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีอย่างเป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัด และสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “กีฬา” เป็นเครื่องมือหรือกลไกทางสังคม ที่สำคัญยิ่งเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  

ความคิดเห็น