วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ.2567

จากรายอกีตอ สู่ กีตอกาเซะรายอกีตอ

 24 ส.ค. 2560 19:34 น.    เข้าชม 3155

      เมื่อเร็วนี้ๆ ได้มีการค้นพบตราสัญลักษณ์ ประจำในหลวงรัชกาลที่ ๙ ณ บริเวณชั้นกลางของน้ำตกฉัตรวาริน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านโผลง หมู่ ๕ ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ตราสัญลักษณ์ประจำในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ค้นพบนี้ สร้างด้วยเหล็กและปักไว้ในเนื้อหิน โดยที่บริเวณด้านบนของก้อนหินดังกล่าว พบมีการเจาะรูไว้สำหรับเสียบธงชาติ และธงประจำพระองค์ จำนวน ๒ รู แต่ด้วยกาลเวลาผ่านมานาน จึงมีสภาพเก่า และเหล็กขึ้นสนิมจนผุกร่อนไปตามกาลเวลา โดยมีเถาวัลย์และต้นไม้ใหญ่ปกคลุมจนมิดชิด และไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่ายหากไม่สังเกตุ โดยจากการสอบถามจากอดีตกำนันหลายๆ ท่านในพื้นที่ทราบในเบื้องต้นว่า รัชกาลที่ 9 น่าจะเสด็จมาราวปี พ.ศ.๒๕๑๖ – ๒๕๑๗ การค้นพบตราสัญลักษณ์ประจำในหลวงรัชกาลที่ ๙ นี้ สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันที่ประชาชนในพื้นที่ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงพระเมตตาต่อพสกนิกรของพระองค์ รายอกีตอ ในหลวงของเรา

      ด้วยความเป็นองค์อุปถัมภกของทุกศาสนาผนวกกับความเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ทำให้พระองค์ทรงใส่พระราชหฤทัยกับพสกนิกรทุกหมู่เหล่า โดยไม่เลือกชนชาติและเผ่าพันธุ์ และทรงเข้าใจภูมิสังคมของพื้นที่ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไป ทำให้ชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลาบปลื้มของพสกนิกรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และเรียกพระองค์ว่า “รายอกีตอ” โดย คำว่า "รายอกีตอ" มาจากคำว่า "รายอ" ซึ่งหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์หรือในหลวง ส่วนคำว่า "กีตอ" นั้นแปลว่า เรา หรือของเรา ดังนั้นคำว่า "รายอกีตอ" จึงแปลว่า "ในหลวงของเรา" ซึ่งสะท้อนความรู้สึกของคนไทยมุสลิมในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ อันหมายรวมถึง จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เป็นอย่างดี

กว่า ๕ ทศวรรษแห่งพระมหากรุณาธิคุณ       การเสด็จเยี่ยมเยียนราษฏรของพระองค์ท่านในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ และ จากนั้นพระองค์ท่านได้เสด็จอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า ๕ ทศวรรษ ในช่วงแรกของการเสด็จ จนถึงก่อนปี ๒๕๑๗ ยังไม่มีพระตำหนักในการแปรพระราชฐาน อย่างไรก็ตาม พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๑๗ จากนั้นเป็นต้นมา ก็ทรงแปรพระราชฐานไปที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนสิงหาคม หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถจนถึงประมาณต้นเดือนตุลาคม ส่งผลให้ก่อให้เกิดเป็นสายใยเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพสกนิกรชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เข้าใจ ภูมิสังคม เข้าถึงใจพสกนิกร       แนวคิด “ภูมิสังคม” ของพระองค์ท่าน ได้แสดงให้คนไทยทุกคนเห็นว่า ก่อนจะทำกิจการงานใด มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะต้องศึกษาจนเกิดความเข้าใจถ่องแท้ในทุกๆ “มิติ” เสียก่อน ยิ่งถ้าเริ่มจากความรู้ความเข้าใจมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีชัยชนะในการพัฒนามากยิ่งขึ้นเท่านั้น       พระองค์ท่านทรงเริ่มการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรของพระองค์ท่านในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ด้วยการเริ่มต้นในการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ ก็คือ การรับสั่งให้โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโกลก จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปดูแลรักษาคนไข้ ที่อำเภอแว้ง อย่างน้อย ๑ วันต่อสัปดาห์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นงานพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างในหลวงกับพสกนิกรชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ ก็ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา และความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ทั้งในด้านจิตใจและด้านการพัฒนา ซึ่งกระจ่างชัดจากคำที่พสกนิกรในพื้นที่เรียกขานถึง กษัตริย์ของพวกเขา ซึ่งมีการพัฒนาการมาเป็นลำดับ บ่งบอกนัยความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี
ต่อยอดสู่หลากหลายมิติของ “ศาสตร์แห่งพระราชา”
      
หลังการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชายแดนใต้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และมีถึง ๓๙๘ โครงการ คิดเป็นงบประมาณส่วนพระองค์มากถึง ๓,๗๐๐ - ๓,๘๐๐ ล้านบาท โดยแยกเป็น จังหวัดนราธิวาส ๒๙๖ โครงการ ใช้งบประมาณไปประมาณ ๒,๗๐๐ ล้านบาท จังหวัดปัตตานี มีอยู่ ๖๒ โครงการ ใช้งบประมาณไป ๕๔๙ ล้านบาท ในขณะที่ จังหวัดยะลา มีอยู่ ๔๐ โครงการ ใช้งบประมาณไป ๔๕๕ ล้านบาท กีตอกาเซะรายอกีตอ เรารักในหลวงของเรา

      ด้วยพระบารมี ตลอดจนถึงการเอาใจใส่ต่อประชาชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเวลากว่า ๕ ทศวรรษ ทำให้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “รายอกีตอบาเฮะ” ซึ่งแปลความได้ว่า “ในหลวงของเราดี” และจากนั้นก็ได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนมาเป็น  “กีตอกาเซะรายอกีตอ” หรือ “เรารักในหลวงของเรา”       ตราสัญลักษณ์ประจำในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งค้นพบ ณ น้ำตกฉัตรวาริน เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงความจงรักภักดีที่พสกนิกรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีต่อพระองค์ ซึ่งถึงแม้กาลเวลาที่ผ่านมากว่า ๕ ทศวรรษ ทำให้ตราสัญลักษณ์ฯ ดังกล่าว มีสภาพเก่า และมีเหล็กขึ้นสนิม แต่ในทางตรงกันข้ามตราสัญลักษณ์ประจำในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ตราตรึงอยู่ในใจของพสกนิกรของพระองค์ และจะตราตรึงตลอดไป โดยที่กาลเวลาที่ผ่านไป จะไม่สามารถลบเลือนความตราตรึงเหล่านี้ไปได้เลย
 

ความคิดเห็น