วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย-มลายูพื้นถิ่น คุณค่าที่รอพลังความร่วมมือ

 20 ก.ย. 2560 19:52 น.    เข้าชม 8200

      งานสถาปัตยกรรมหรือบ้านและอาคาร เป็นปัจจัยสี่ของมนุษย์ทุกท้องถิ่น เป็นที่พักอาศัยหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งแต่ละพื้นที่มีรูปแบบที่ต่างกัน ตามภูมิศาสตร์และอิทธิพลทางวัฒนธรรม พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา รวมไปถึงงานศิลปะที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น อย่างงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะแบบมลายู สภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ เป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบของบ้าน ที่มีไม้เป็นวัตถุดิบหลัก ของรูปแบบงานสถาปัตยกรรม มีการใช้หลังคาทรงจั่ว การใช้ผนังฝาลูกฟัก และการยกใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของงานสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ ไทย เวียดนาม ไปจนถึง อินโดนีเซีย นอกจากนี้ หลักปรัชญาทางศาสนาและความเชื่อ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของลวดลายที่ใช้ประดับในงานสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอิทธิพลทางความเชื่อของศาสนาอิสลาม ในเรื่องข้อห้ามในการใช้รูปคนหรือสัตว์ในงานศิลปะ ทำให้รูปแบบของลวดลายที่ใช้ในสถาปัตยกรรมมลายู มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยมักจะเป็นลายพฤกษชาติ ลายเรขาคณิต ลายที่เลียนแบบจักรวาลและลายอักษรประดิษฐ์เป็นส่วนใหญ่ มัสยิดตะโละมาเนาะ : มัสยิดไม้ตะเคียน       สถาปัตยกรรมไทยมลายูโบราณ ที่มีความโดดเด่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ มัสยิดตะโละมาเนาะ เป็นมัสยิดไม้เก่าแก่แห่งเดียวของประเทศไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ มีอายุเกิน 200 ปีขึ้นไป สร้างด้วยไม้ตะเคียน (จืองา) ทั้งหลัง โดยไม่ใช้ตะปู สร้างด้วยศิลปะมลายูตะวันออกดั้งเดิม หลังคามีลักษณะสองชั้น เป็นจั่วแบบที่เรียกว่า ‘แมะและห์’  ผนังเป็นผนังลูกฟักไม้แบบเข้าลิ้นเป็นผืนเดียวยาวตลอดแนว ต่างจากของไทยภาคกลางที่ผนังลูกฟักแบ่งเป็นช่วงๆ ลวดลายไม้แกะสลักมีทั้งดั้งเดิมและสมัยใหม่ ทำขึ้นเพื่อตอบสนองประโยชน์ใช้สอย ให้ลมพัดเข้าได้ และมีความสวยงาม เมื่อแสงส่องเข้ามาเกิดเงาเป็นลวดลายงดงาม บ้านฮัจยีสุหลง : บ้านโบราณแบบมลายู       นอกจากศาสนสถานแล้ว ยังมีงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ วัง เรือนเจ้าเมือง กุโบร์หรือสุสาน บ่อน้ำ ศาลาและเรือนห้องแถวค้าขาย บ้านและสุเหร่าโบราณ ซึ่งเจ้าของในรุ่นลูกหลานได้ทำการบูรณะและอนุรักษ์ ไว้เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ของจังหวัดปัตตานี ได้แก่ บ้านของฮัจยีสุหลง บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ซึ่งส่วนประกอบของบ้าน ลายฉลุทุกอย่างเป็นของเดิมทั้งหมด ในส่วนของสุเหร่าเปลี่ยนแค่หลังคาและพื้นไม้บางชิ้นเท่านั้น เป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมบ้านโบราณแบบมลายูที่สมบูรณ์ที่สุด

สถาบันการศึกษาของมาเลเซียให้ความสนใจ       อย่างไรก็ตาม เรือนเจ้าเมืองในสามจังหวัดภาคใต้ ส่วนใหญ่ล้วนมีสภาพที่ทรุดโทรม รอวันผุพัง ลวดลายชิ้นส่วนของเรือนและวัตถุโบราณหลายต่อหลายชิ้น ถูกขโมยเพื่อไปขายให้พ่อค้าของเก่าและพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เป็นที่น่าเสียดายที่ยังไม่มีการตื่นตัวและสนใจในการอนุรักษ์เรื่องเหล่านี้ ในสถานศึกษาในท้องถิ่น หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่งานสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ กลับเป็นที่สนใจของสถานศึกษาของประเทศมาเลเซีย โดยสถาบันทางการศึกษาในประเทศมาเลเซีย ได้ส่งนักศึกษามาทำการเก็บข้อมูลและถอดแบบอาคาร โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลและถอดแบบที่มัสยิดตะโละมาเนาะ เมื่อหลายปีก่อน       ในส่วนของเรือนห้องแถวค้าขายที่เป็นอาคารแบบชิโน - โปรตุกีส ในหลายพื้นที่ ถูกรื้อทิ้งเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์สมัยใหม่ ที่ยังคงเหลือให้ศึกษาไว้บ้างที่ย่านชุมชนชาวจีน ในเมืองปัตตานี สายบุรี และเมืองนราธิวาส ก็เสียหายไปกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ทำให้เพลิงไหม้เรือนห้องแถวโบราณในแถบนั้นไปจนเสียหายไปมากมาย เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่หลักฐานและร่องรอยการผสมผสานในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมมลายู จีน และตะวันตก ที่มีน้อยอยู่แล้วต้องลดน้อยลงไปอีก ประยุกต์ใช้กับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่       ปัจจุบันความต้องการในการสร้างบ้านมลายูดั้งเดิมลดลงไปมาก เนื่องจากราคาไม้ที่แพงขึ้น การหาช่างฝีมือที่จะสร้างบ้านไม้แบบมลายูนั้น หายากมาก แต่อย่างไรก็ดี ยังมีการประยุกต์นำลวดลายแบบมลายูมาใช้ในงานตกแต่งบ้านสมัยใหม่ ความต้องการประดับตกแต่งลวดลายแบบมลายูในบ้านสมัยใหม่ ยังคงมีอยู่ ทั้งบ้านที่เป็นบ้านไม้ และบ้านปูนที่นำไม้แกะสลักไปตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นหน้าจั่ว ช่องลม ระเบียงและเชิงชาย โดยมีเป้าหมาย เพื่อความสวยงาม แตกต่างจากอดีตที่แฝงไปด้วยปรัชญาความเชื่อ ความเป็นสิริมงคล ป้องกันภยันตรายต่างๆ

      นอกจากราคาไม้ที่แพง ค่าแรงงานที่ตอบแทนฝีมือ และระยะเวลาในการทำงานแกะสลัก ที่ค่อนข้างสูงแล้ว การแกะสลักไม้ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ จะดูแข็ง ลายจะเที่ยงตรง แต่ออกมาเหมือนงานพลาสติก ขาดเสน่ห์ของงานไม้ ที่มีรอยสิ่ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแกะสลักไม้ด้วยมือ สำหรับบ้านหนึ่งหลังนั้น ใช้ต้นทุนที่สูงมาก เทคโนโลยีเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ ก็มีส่วนสำคัญที่แย่งงานช่างฝีมือดั้งเดิม ทำให้คนที่ทำงานด้านนี้ลดลงไปมาก เหลือแต่ช่างฝีมือที่เก่งจริงๆ 

      หนึ่งในนั้น คือ คุณรอยะ รามิง ชาวบ้านปาแระ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี หนึ่งในช่างภูมิปัญญาด้านการแกะลายไม้มลายู ที่เป็นลักษณะของลวดลายปัตตานีดั้งเดิม ซึ่งรับการสืบทอดงานฝีมือด้านนี้ จากรุ่นพ่อแม่ และหาความรู้เพิ่มเติมจากการศึกษาลายจากบ้านเรือนหรือมัสยิดเก่าที่มีอายุ 200 - 300 ปี และนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบงาน โดยการจะแกะสลักงานไม้สักชิ้น ช่างจะเขียนลายลงบนกระดาษ โดยเขียนขึ้นจากจินตนาการประกอบกับดูจากลักษณะทางธรรมชาติของดอกไม้ ใบไม้ ก่อนจะลอกลายลงบนไม้และลงมือแกะสลักด้วยสิ่ว แต่เดิมนิยมไม้ตะเคียน ซึ่งมีความแข็ง เหนียว ปลวกไม่กิน ทนแดดทนฝน แกะสลักออกมาได้สวยงาม ไม่เป็นขุย ในแต่ละปีช่างรอยะ รับงานได้เพียงสามหลัง แต่ละหลังใช้เวลาถึงสามเดือน รายได้เฉลี่ยแต่ละเดือน แค่พออยู่พอกินเลี้ยงชีพไปวันๆ แต่เขายังคงทำด้วยหัวใจที่รักในงานศิลปะแขนงนี้ และยังคงขาดคนสืบทอดภูมิปัญญาของเขา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ขุนละหาร : รวบรวมมรดกภูมิปัญญา       พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ขุนละหาร บ.กาเด็ง อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส คือ หนึ่งหน่วยงานท้องถิ่นที่เกิดจากคนท้องถิ่นเอง โดยคุณรัศมินทร์ นิติธรรม ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ตั้งใจให้เป็นแหล่งสะสมมรดกภูมิปัญญาของท้องถิ่น และองค์ความรู้ เพื่อการเผยแพร่สู่คนรุ่นใหม่ และพยายามรื้อฟื้นองค์ความรู้เรื่องปรัชญา ความหมายที่มาของงานศิลปะด้านสถาปัตยกรรม เผยแพร่เพื่อทำให้คนเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ และอยากจะได้ลวดลายดั้งเดิมมาประดับบ้านเรือนอีกครั้ง  จึงทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ไปในตัว  

คุณค่าที่รอพลังความร่วมมือ       อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของสถาปัตยกรรมมลายูในสามจังหวัดภาคใต้อยู่ในสภาวะน่าวิตก ขาดการอนุรักษ์ บูรณะซ่อมแซม และการส่งเสริมการสืบทอดองค์ความรู้ ทำให้ความรู้ความเข้าใจ งานสถาปัตยกรรมลายู ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ จึงสูญหายลงไปหลังแล้วหลังเล่า ทั้งจากการเสื่อมสภาพ ผุพังตามอายุขัย การรื้อถอนเพราะค่านิยมเปลี่ยน รวมทั้งการทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งจากหน่วยงานของรัฐและคนในท้องถิ่นเอง ได้แต่หวังเพียงว่า จะเกิดความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ที่จะมาช่วยกันกอบกู้สถานการณ์และต่อยอดพัฒนาสถาปัตยกรรมท้องถิ่นให้คงอยู่คู่วิถีชีวิตจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ความคิดเห็น