วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567

ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง จิตอาสาผู้กล้า พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 22 ธ.ค. 2560 23:49 น.    เข้าชม 3965

      การแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งภาครัฐได้ใช้แนวทางการส่งเสริมให้บัณฑิตว่างงานให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง ในโครงการ“บัณฑิตอาสา พัฒนามาตุภูมิ” ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่แล้ว ยังเป็นแนวทางการลดอัตราการออกไปทำงานนอกพื้นที่อีกด้วย เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตประชาชน บัณฑิตอาสา พัฒนามาตุภูมิ       โครงการ“บัณฑิตอาสา พัฒนามาตุภูมิ” เป็นโครงการภายใต้การดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นปีที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  เป็นระยะเวลา 8 ปีเต็ม ด้วยเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืนและแก้ไขปัญหาการว่างงาน มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่โดยการจ้างบัณฑิตที่จบการศึกษาปริญญาตรีมาใหม่ๆ แต่ยังว่างงาน และเป็นคนในพื้นที่หมู่บ้านนั้นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุม 2,249 หมู่บ้านใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ด้วยหลักการคนในหมู่บ้านทำงานเพื่อหมู่บ้าน บัณฑิตอาสาจะได้ทำงานเพื่อหมู่บ้าน เป็นผู้ช่วยคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นเลขาให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในเชิงวิชาการ หรือธุรการ ช่วยให้มีความคล่องตัวในการเขียนโครงการ การเสนอของบประมาณ การขับเคลื่อนงานในระดับหมู่บ้านการที่ได้ทำงานในพื้นที่บ้านตัวเอง การคัดเลือกบัณฑิตอาสา ทางจังหวัด อำเภอและหมู่บ้านนั้นๆ จะทำการเลือกสรรอาสา ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดคือ  ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของหมู่บ้านนั้นๆ ในแต่ละปีจะได้รับการประเมินการทำงานเพื่อทำสัญญาจ้างปีต่อปี ต่อเนื่องทุกปี  ในการประเมิน    ผู้ประเมินคือ ผู้นำชุมชน อำเภอ และหน่วยงานจากศอ.บต. เพื่อวัดผลการทำงานและกระตุ้นให้บัณฑิตเกิดความตื่นตัวและมีแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อชุมชนของตนเอง ถ้าประเมินไม่ผ่านก็ยังมีโอกาสปรับปรุงตัวเอง แต่ถ้าไม่ผ่านจริงๆ ก็จะมีการเลือกสรรคนใหม่เข้ามา อาสาเพื่อมาตุภูมิ

      เหล่าบัณฑิตอาสา พัฒนามาตุภูมิจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง ทั้งการเก็บข้อมูล การปฏิบัติงานในหมู่บ้านตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และบูรณาการการทำงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ตามแผนงานโครงการต่างๆ ในพื้นที่   อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้แทนของหน่วยงานราชการในการประสานงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน บัณฑิตอาสาเป็นลูกหลานของคนในชุมชน ย่อมจะรู้จักข้อมูลพื้นฐาน อัตลักษณ์และปัญหาในชุมชนของตัวเองเป็นอย่างดี การลงพื้นที่ของบัณฑิตอาสา จะเป็นการเก็บข้อมูล รวบรวมรับรู้ปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และนำข้อมูลส่งต่อให้กับภาครัฐ  เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด เป็นสื่อกลางที่ช่วยประสานงานระหว่างภาคประชาชนและส่วนราชการได้เป็นอย่างดี บทบาทผู้เชื่อมประสาน

      ในส่วนของทางราชการเมื่อมีโครงการอะไร จากเดิมที่ต้องใช้เวลาลงพื้นที่เอง กว่าจะเรียนรู้และทำความเข้าใจพื้นที่ก็ค่อนข้างยากลำบาก ใช้เวลานาน หรือทำได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่เมื่อมีบัณฑิตอาสาเป็นตัวเชื่อมหน่วยราชการก็สามารถจะประสานไปยังบัณฑิตอาสาเพื่อให้ประสานงานไปยังกลุ่มเป้าหมายในชุมชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  เนื่องจากโดยตำแหน่งแล้ว บัณฑิตอาสา ก็คือ เลขาของกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพราะฉะนั้น งานในพื้นที่ทุกอย่างภาระหน้าที่ทุกอย่างของกำนันผู้ใหญ่บ้าน บัณฑิตอาสาจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างอำเภอและพื้นที่ เมื่อเจ้าหน้าที่อำเภอหรือหน่วยงานใดก็ตามจะลงมาประชุมในพื้นที่ก็จะประสานไปยังบัณฑิตอาสาว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร เพื่อให้ทำการนัดหมาย เวลามีการประชุมก็ยังเป็นล่ามแปลภาษาช่วยให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย พัฒนาศักยภาพสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง       จากการที่บัณฑิตอาสาได้ทำงานร่วมกับหน่วยราชการไม่ว่าจะเป็นงานสำนักงานหรืองานลงพื้นที่ทำให้บัณฑิตอาสา เหล่านี้เรียนรู้การทำงานของส่วนราชการ ได้เรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กับคนในชุมชน ซึ่งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็ตรงตามความต้องการของคนในชุมชนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับบ้านเกิดของพวกเขา ผลสัมฤทธิ์อีกด้านของบัณฑิตอาสานั่นก็คือการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้กลายมาเป็นผู้นำรุ่นใหม่ในอนาคตได้ บัณฑิตอาสาทุกคนล้วนได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง และสามารถนำความรู้นี้ไปสอบเพื่อบรรจุเป็นพนักงานราชการได้อีกด้วย บางคนสามารถสอบเป็นปลัดอำเภอ เป็นครู บางคนไปสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้าง เป็นพนักงานหรือสมาชิกอบต. ส่วนใหญ่จะก้าวไปสู่งานในลักษณะเดียวกันคืองานพัฒนาชุมชนนั่นเอง แต่บางคนก็รักและผูกพันกับงานบัณฑิตอาสาจนไม่ยอมไปไหนก็มี บรรยากาศแห่งสันติสุข

      เมื่อคนในชุมชนได้เห็นบุตรหลานของตนเองกลับมาทำงานในบ้านเกิด ความไว้วางใจทำให้บรรยากาศความร่วมมือเป็นไปอย่างราบรื่น และมีความตื่นตัวมากขึ้นอย่างชัดเจน การที่มีบัณฑิตอาสาเป็นตัวช่วยในการประสานหรือสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนพื้นที่เป็นอีกหนึ่งแนวทางในยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะบัณฑิตอาสาจะเข้าใจบริบท วัฒนธรรมความเป็นอยู่ รวมไปถึงปัญหาต่างๆ ของชุมชนมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้ใหม่ บัณฑิตอาสาจะเป็นผู้เก็บข้อมูลต่างๆ และประสานกับหน่วยงานภาครัฐให้มีการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด       สันติสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคนในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐขาดความรักความเข้าใจซึ่งกันและกัน โครงการบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิจึงเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี เป็นเครือข่ายคนหนุ่มสาวที่ครอบคลุม     ทุกหมู่บ้าน เป็นบุคลากรที่สำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ เป็นตัวกลางเชื่อมประสานให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐมีเข้าใจความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม เกิดความเข้าใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนในที่สุด

ความคิดเห็น