วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ.2567

มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี

 6 มี.ค. 2561 22:11 น.    เข้าชม 3558

      มัสยิด เป็นศาสนสถานที่ชาวมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงมีมัสยิดตั้งอยู่ในทุกพื้นที่ และมีจำนวนไม่น้อยที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือ มัสยิดกลาง ปัตตานี ซึ่งมีความสวยงามที่สุดในประเทศไทย เป็นสัญลักษณ์สง่างามของชาวมุสลิมไทยทุกคน จนได้สมญานามว่า ทัชมาฮาลแห่งประเทศไทย       มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ได้รับการออกแบบโดย นายประสิทธิผล ม่วงเขียว สถาปนิกกรมศาสนา ด้วยศิลปะการออกแบบที่มีการผสมผสานของศิลปะหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย อาหรับและมลายู โดยมีการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอย่างวิจิตรงดงาม รูปทรงภายนอกของมัสยิดมีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล จุดเด่นคือ มียอดโดมสีเขียวขนาดใหญ่กลางอาคาร และโดมบริวารขนาดเล็กลงไปล้อมรอบ 4 ด้าน ส่วนบริเวณด้านข้างมีหออะซาน 2 หอ ดูสมดุลลงตัว ประตูมีการประดับกระจกแบบศิลปะจีน ภายในมัสยิดสร้างเป็นห้องโถง และระเบียงประดับหินอ่อนอย่างงดงาม มีบัลลังก์ทรงสูงสำหรับทำพิธี บนผนังมีการเขียนภาษาอาหรับเป็นเนื้อหาจากคัมภีร์อัลกุร์-อ่าน ส่วนด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำส่องสะท้อนแสงเงาของมัสยิดอย่างงดงาม       การก่อสร้างมัสยิดแห่งนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของรัฐบาลในยุคนั้นที่ต้องการให้เกิดสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างและมอบเป็นของขวัญให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยใช้เวลาสร้างนานถึง 9 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 จนเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2506 และได้รับชื่อว่า มัสยิด อัลญามีอะฮฺ อัลปะตานี หรือ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก

      มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี นอกจากจะเป็นศาสนาสถานที่มีความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวไทยมุสลิมแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนราษฎรอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาที่มัสยิดกลางแห่งนี้เป็นประจำทุกปี นำมาซึ่งความปลาบปลื้มและความผูกพันในใจของเหล่าพสกนิกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคน       ในปี พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนประชาชนและพบปะผู้นำศาสนาที่มัสยิดกลางแห่งนี้ ในวาระที่มัสยิดกลาง มีอายุยาวนาน 30 ปีแล้ว และมีความชำรุดทรุดโทรมลง จึงมีพระกระแสรับส่งให้กระทรวงศึกษาธิการซ่อมแซมมัสยิดแห่งนี้ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539 สร้างความปลื้มปีติและภาคภูมิใจให้พี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง โดยการซ่อมแซมครั้งนี้มีการขยายตัวอาคารและต่อเติมออกทั้ง 2 ข้าง และยังสร้างหออะซานเพิ่มอีก 2 หอ ในเวลาต่อมา

      นอกจากนี้ในทุกๆ ปี มัสยิดกลางแห่งนี้จะมีการจัดการประกวดการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุร-อ่านแห่งประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร นั้นจะเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเป็นประจำทุกปีเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นความรักและเมตตาของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรไทยโดยไม่แบ่งแยกศาสนา ศูนย์รวมแห่งวิถีศาสนกิจ       ชาวมุสลิมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ต้องทำพิธีละหมาดวันละ 5 ครั้ง เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีและเข้าเฝ้าเบื้องพระพักตร์อัลเลาะห์ด้วยความสำรวม ผู้ที่ทำพิธีละหมาดแล้วจะเกิดความสบายใจ มีความสุข ซึ่งสามารถทำได้ที่บ้านหรือที่มัสยิดก็ได้ นอกจากการละหมาด 5 เวลา ชาวมุสลิมจะต้องมีการมาละหมาดใหญ่ที่มัสยิดในทุกวันศุกร์เป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานีแห่งนี้จะมีพี่น้องชาวมุสลิมมาละหมาด ประกอบศาสนกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่มีการละหมาดใหญ่ จะมีชาวมุสลิมทั้งชาวไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน มาร่วมปฏิบัติศาสนกิจและชมความงดงามของมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเป็นจำนวนมาก

ศูนย์กลางการขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชน       ในบริบทสังคมมุสลิมนั้น มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนางานของชุมชน และจุดประสานงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการศึกษา การแก้ไขปัญหาในชุมชน รวมถึงการส่งเสริมสวัสดิการแก่ผู้ยากไร้ในชุมชน มัสยิดไม่ใช่แค่ศาสนสถานสำหรับประกอบศาสนกิจในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ถือเป็นองค์กรหลักที่สำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ ในชุมชน

      มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน ไม่เฉพาะในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีเท่านั้น แต่รวมถึงเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงที่เดินทางมายังมัสยิดแห่งนี้ด้วยความตั้งใจ โดยในวันศุกร์และวันเสาร์ตลอดทั้งวันจะมีการเรียนการสอนหลักศาสนา หรือตาดีกา โดยมีโต๊ะครูที่มีความรู้มาบรรยายธรรม สอนหลักศาสนาให้กับประชาชน ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่และจากพื้นที่ใกล้เคียง มาเข้าร่วมจำนวนหลายพันคน นอกจากนี้ยังมีการเรียนการสอนกีรออาตี ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนอ่านอัลกุรอ่านรูปแบบหนึ่ง โดยสอนให้กับเด็กและเยาวชนเป็นประจำในเวลากลางคืนหลังละหมาดในวันอาทิตย์ถึงวันพุธ เป็นรูปแบบที่เด็กอ่านอัลกุรอ่านได้เร็วและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข บริบททางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว       ความสวยงามของมัสยิดกลางปัตตานีในด้านสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น และในปัจจุบันยังมีตกแต่งภูมิทัศน์ภายนอกให้มีความงดงามยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นอินทผลัม พืชสวนประดับประดา และการติดตั้งน้ำพุเพิ่มเติมในสระน้ำด้านหน้า ทำให้มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแห่งสำคัญของจังหวัดปัตตานี เรียกได้ว่า ใครมาเที่ยวปัตตานี แต่ไม่ได้มามัสยิดกลางแห่งนี้ ถือว่ามาไม่ถึงปัตตานี

      ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยี่ยมชมอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม จะมีประชาชนทั้งในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาประกอบศาสนกิจเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านที่อยู่รอบมัสยิดได้รับผลพลอยได้ด้านการค้าขายไปด้วย คนที่มามีทั้งมาปฏิบัติศาสนกิจและมาท่องเที่ยว ก็จะมีการจับจ่ายซื้อหาอาหาร เครื่องดื่ม ชา กาแฟ รวมทั้งเครื่องนุ่งห่ม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างดี สันติสุขทุกศาสนิก       ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ เทศบาลเมืองปัตตานี การท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดปัตตานี ร่วมกับประชาชนชาวปัตตานี ในการดูแลความสะอาดเรียบร้อยของมัสยิด แสดงถึงความภาคภูมิใจและความศรัทธาที่มี มัสยิดกลางปัตตานีจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์อันสง่างามของศาสนาอิสลามที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย โดยมีพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพระอัครศาสนูปถัมภกให้กับทุกศาสนา เพราะประเทศไทยเป็นดินแดนที่ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และประชาชนในทุกศาสนิกสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ความคิดเห็น