วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ.2567

พลังเยาวชนแห่งชุมชนทุ่งพระยอด

 13 มิ.ย. 2561 19:59 น.    เข้าชม 1773

      พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ห่างไกลมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสทางการศึกษาตามเกณฑ์ปกติ ส่วนใหญ่ครอบครัวมีฐานะยากจน หรือจำเป็นต้องช่วยผู้ปกครองทำงาน เช่น การกรีดยางพาราในช่วงเช้า และเยาวชนกลุ่มนี้จะมีเวลาว่างอยู่บ้านตามลำพัง อาจสุ่มเสี่ยงให้หลงเดินทางผิดได้ แต่ที่ ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลานั้น มีการรวมตัวกันของเยาวชนเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัวรวมไปถึงต่อชุมชน       ที่ตำบลลำไพล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลานั้น มีชุมชนรวมทั้งหมด 13 หมู่บ้าน หนึ่งในจำนวนนี้คือ หมู่บ้านทุ่งพระยอด หมู่ที่ 10 ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนรวมตัวกัน โดยพื้นเพของเยาวชนกลุ่มนี้ เติบโตมาในชุมชนชาวมุสลิม เกือบทุกครัวเรือนมีอาชีพกรีดยาง และเลี้ยงสัตว์ เยาวชนที่นี่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพราะต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ในแต่ละวันเมื่อว่างจากการทำงานก็จะมีเวลาว่าง ขับรถเล่น ไปเที่ยว และมักจับกลุ่มกันตามสถานที่ต่างๆ ตามประสาวัยรุ่น ซึ่งนั่นทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนมีความกังวลว่าเยาวชนซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต อาจจะพากันหลงผิดเดินไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มเยาวชนนอกระบบที่มีชื่อว่า กลุ่มเยาวชนทุ่งบัวบาน

กลุ่มเยาวชนทุ่งบัวบาน โอกาสของเยาวชนนอกระบบ       กลุ่มเยาวชนทุ่งบัวบานเป็น 1 ใน 6 กลุ่มที่ผู้นำชุมชนหมู่บ้านพระยอดได้ส่งเสริมให้ในแต่ละชุมชนได้ทำกิจกรรมเพื่อสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มตามลักษณะอายุ อาชีพ และหน่วยงานที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งมีทั้งกลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน ผู้นำชุมชน และเยาวชน โดยกลุ่มเยาวชนทุ่งบัวบานนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเยาวชนในชุมชนบ้านเกาะสาม เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าใกล้ยาเสพติด หรือหลงเดินไปในทางที่ผิด เริ่มจากทำโครงการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ และมีโอกาสไปศึกษาดูงานต่างพื้นที่ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง การทำงานของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ก็อยากจะนำกลับมาทำในพื้นที่ของตนเองบ้าง

      ในปัจจุบันชุมชนบ้านทุ่งพระยอดได้พัฒนาพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้านให้เป็นแปลงเกษตร และเลี้ยงสัตว์ตามโครงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแหล่งน้ำบ้านทุ่งพระยอด ภายใต้แนวคิดเกษตรผสมผสาน โดยคำนึงถึงศักยภาพของหมู่บ้าน และสอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งกลุ่มเยาวชนทุ่งบัวบาน ที่เดิมทีได้รวมกลุ่มกันปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ได้เข้าร่วมกับชุมชน โดยร่วมทำแปลงเกษตรปลูกผักสวนครัว และเป็นจุดเริ่มที่ทำให้กลุ่มเยาวชนทุ่งบัวบานเริ่มมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนมากขึ้น

      แปลงเกษตรพืชผักที่กลุ่มเยาวชนได้รับมอบหมายให้ร่วมกันรับผิดชอบนั้น ทำให้พวกเขามีหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น ในแต่ละวันจะต้องมีการแบ่งหน้าที่ ผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล โดยรดน้ำ ใส่ปุ๋ย และถอนหญ้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่พวกเขาได้ช่วยพ่อแม่ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว การที่น้องๆ กลุ่มเยาวชนทุ่งบัวบานซึ่งเป็นเยาวชนนอกระบบเคยใช้ชีวิตอยู่อย่างไร้จุดหมาย เมื่อได้มารวมกลุ่มกันและมีผู้แนะแนวทางในการทำงาน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การลงมือปฏิบัติจริง เมื่อผลผลิตและผลงานที่พวกเขาเพียรพยายามทำ เริ่มผลิดอกออกผลให้เห็น ก็ยิ่งทำให้เยาวชนเหล่านี้มีความรู้สึกมั่นใจ และชักชวนเพื่อนมาเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น พวกเขาได้มีพืชผักกลับมารับประทาน ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และยังสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนอีกด้วย เพราะจากต้นแบบในการรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนทุ่งบัวบาน จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลลำไพลเกิดความตื่นตัวในการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จนบัดนี้ได้กลายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน โดยผู้นำชุมชนก็ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป็นต้นแบบให้กับคนในชุมชน ในปัจจุบันการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ปกครอง และเยาวชนมีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบร่วมกัน นำสู่การสร้างความรัก และสามัคคีขึ้นในครอบครัว และนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนมากยิ่งขึ้น บูรณาการสู่ชุมชนเข้มแข็ง

      นอกจากทำให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และช่วยลดความเสี่ยงที่พวกเขาจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด วิถีชุมชนก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ มีพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มให้ความสนใจ และชักชวนกันมาเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จนในปัจจุบันสมาชิกที่มาร่วมทำแปลงเกษตร มีทั้งผู้ใหญ่ เยาวชน และเด็กตัวเล็กๆ ที่ได้มีโอกาสตามผู้ปกครองมาสัมผัส และเรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัว ทำให้คนในชุมชนมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น และประชาชนหลายครัวเรือนได้รับประโยชน์จากการทำเกษตรผสมผสาน และเรียนรู้ในการใช้จ่ายอย่างพอเพียง

      ณ ชุมชนทุ่งพระยอดแห่งนี้ กลุ่มเยาวชนทุ่งบัวบานได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การที่เยาวชนนอกระบบไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา แต่พวกเขาไม่เคยย่อท้อกลับพัฒนาคุณค่าของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน เยาวชนนอกระบบที่ไม่เคยได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน หากพวกเขาได้รับโอกาสให้มีที่ยืน และตัวตนในสังคม กลุ่มเยาวชนนี้จะกลายเป็นพลังบวกที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้นำชุมชนทุ่งพระยอดได้เล็งเห็นความสำคัญในข้อนี้เป็นอย่างดี       ด้วยบริบทของชุมชนที่ยังทำการเกษตรกรรมเป็นหลัก และชาวบ้านได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตด้วยความเข้าใจ จึงทำให้ชาวบ้านทุ่งพระยอดพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน สันติสุขที่ทุกคนมองหา ไม่สามารถสร้างได้จากสังคมโดยรวม แต่สันติสุขที่แท้จริงเริ่มต้นจากภายในจิตใจ ที่ปลูกฝังกันมาจากสถาบันครอบครัว จึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ตามมา

ความคิดเห็น