วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567

ย่างเข้าขวบปีที่ ๑๒ วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา

 13 มิ.ย. 2561 20:36 น.    เข้าชม 1927

      จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอันหนักหน่วงต่อเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับจากปี พ.ศ. 2547 รวมระยะเวลาสิบกว่าปี ทำให้เด็ก และเยาวชนที่เติบโตในบริบทของสถานการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ มีความหวาดระแวงในจิตใจ มีร่องรอยของความหวาดกลัว และความไม่เข้าใจ แบ่งฝักฝ่ายทางเชื้อชาติ และศาสนา มีการรับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสังคมที่ผิดเพี้ยนจากความจริง อีกทั้งเยาวชนบางส่วนนั้นขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดความอบอุ่นในครอบครัวทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกชักจูงไปสู่การเป็นแนวร่วมในการก่อความไม่สงบ จึงเป็นที่มาของความห่วงใยจากภาครัฐ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยมีเทศบาลนครยะลารับบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในหมู่เยาวชน แรงบันดาลสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่       เชื่อแน่ว่า หลายๆ ท่านเคยได้ยินข่าวสาร เรื่องราวของวงออร์เคสตร้าเยาวชนในพื้นที่จังหวัดยะลา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาในช่วงต้นปี พ.ศ. 2555 จากการได้รับโอกาสไปร่วมแสดงดนตรีในงาน “รักเมืองไทยเดินหน้าประเทศไทย” ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลาเป็นหนึ่งในสามวงที่เข้าร่วมแสดง โดยอีกสองวงนั้นถือเป็นวงมืออาชีพระดับแนวหน้า คือ วงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิค และวงดุริยางค์ซิมโฟนีออร์เคสตร้าของเหล่าทัพ ถือว่าเป็นงานยิ่งใหญ่ และมีข่าวโด่งดังผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง       ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2549 วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลาได้ถือกำเนิดขึ้นจากนโยบายของเทศบาลนครยะลา นำโดย นายกเทศมนตรี พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ที่เกิดแรงบันดาลใจจากการมีโอกาสไปเป็นประธานในงานกีฬาสี และได้เห็นวงโยธวาทิต ก็เกิดความคิดว่าถ้าเอาวงโยธวาทิตทุกโรงเรียนในเขตเทศบาลมารวมกัน น่าจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ และสวยงาม จึงเป็นที่มาของความคิดที่จะใช้วงออร์เคสตร้าเพื่อเป็นพื้นที่ให้เด็กมาอยู่ร่วมกัน โดยหวังให้สุนทรียภาพทางดนตรีช่วยกล่อมเกลาจิตใจเยาวชนให้มีจิตใจอ่อนโยน และห่างไกลจากความรุนแรง อีกทั้งทักษะทางดนตรีที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมก็อาจนำไปสู่การต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพในอนาคต       เป้าหมายที่ไปเหนือจากระดับปัจเจกบุคคล ก็คือการปลูกฝังจิตสาธารณะ และความรู้สึกสำนึกรักแผ่นดินเกิดเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เยาวชนละทิ้งถิ่นฐาน และร่วมกันพัฒนาบ้านเกิดของตน ยิ่งไปกว่านั้น การมีพื้นที่ให้เยาวชนต่างศาสนาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ย่อมจะช่วยลดความหวาดระแวง การแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดความเข้าใจกัน และกัน เรียนรู้การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง และต่อเพื่อนร่วมวง เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เกิดเครือข่ายของเยาวชน และนำไปสู่การสร้างสันติภาพในระยะยาว และหวังว่าจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะสร้างมิติใหม่ให้กับเมืองยะลาในด้านสุนทรียะทางดนตรี ประสานความร่วมมือ

      วงออร์เคสตร้าเป็นวงดนตรีตะวันตกขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณสูง ดนตรีก็เป็นบทเพลงคลาสสิคที่มีผู้ฟังเฉพาะ ที่ผ่านมามีเพียงเยาวชนในเมืองหลวงเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์การเล่นดนตรีในวงออร์เคสตร้า อย่างเช่น วงดุริยางค์เยาวชนไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ก็เป็นวงออร์เคสตร้าเยาวชนเพียงวงเดียวในประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุน แล้วในพื้นที่ซึ่งมีเหตุการณ์ความรุนแรงเล่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา นั้นเริ่มต้นดำเนินงานในปี พ.ศ.2551 ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท เปิดรับเยาวชนไม่จำกัดเพศ ศาสนา และพื้นความรู้ด้านดนตรี โดยเริ่มแรกมีสมาชิกประมาณ 140 คน โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในที่ปรึกษา ถือเป็นพื้นที่การสอนดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของดนตรีวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลาเลือกที่จะผสมผสานระหว่างดนตรีตะวันตก และตะวันออก โดยสอดแทรกเพลงไทยเดิม เพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงท้องถิ่นภาคใต้ที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น บทเพลงที่มีกลิ่นอายของมุสลิม       ด้วยงบประมาณที่จำกัดทางผู้บริหารเทศบาลนครยะลาจึงใช้วิธีประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งทางด้านการจัดซื้อเครื่องดนตรี จำนวน 109 ชิ้น โดยมีทางวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยประสานงานในการจัดซื้อทำให้ประหยัดงบประมาณลง และมีการส่งครูสอนดนตรีของโรงเรียนในจังหวัดยะลาเข้าอบรมเกี่ยวกับการฝึกสอนวงออร์เคสตร้าที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ นอกจากนี้ได้มีการเชิญผู้ฝึกสอนด้านดนตรีจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง มาเป็นผู้อำนวยเพลง และฝึกซ้อมให้กับเยาวชน       บริบททางสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางคณะผู้ก่อตั้งจึงต้องให้เกียรติประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางหลักศาสนา ว่าจะเป็นการผิดหลักศาสนาหรือไม่ แม้จะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดในระยะแรก แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยว่าดนตรีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยุติความรุนแรงและเริ่มขยายความเข้าใจขยายแนวร่วมออกไป ในส่วนของการรับสมัครสมาชิกได้เปิดรับสมัครเยาวชนอายุ 7-15 ปี ไม่ปิดกั้นทั้งเรื่องเพศ ศาสนา และความรู้พื้นฐานทางดนตรี ใช้วิธีการแจกใบปลิวประชาสัมพันธ์ตามโรงเรียนต่างๆ และในปีต่อๆ มา ใช้วิธีให้เยาวชนรุ่นแรกๆ เปิดแสดงตามโรงเรียนที่ตนเองศึกษาอยู่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อน และรุ่นน้องสนใจเข้าร่วมวง ซึ่งต่อมาในปัจจุบันเยาวชนรุ่นแรกๆ ที่ได้รับการบ่มเพาะฝีมือจากที่นี่จนสามารถเข้าศึกษาต่อด้านดนตรีในระดับที่สูงขึ้น ก็ได้นำความรู้ความสามารถกลับมาสอนรุ่นน้องในบ้านเกิดของตนเอง ก้าวแรกสู่ปัจจุบันที่ก้าวไกล       วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา มีสมาชิกเริ่มต้น 140 คน เริ่มฝึกซ้อมครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ณ ห้องซ้อมดนตรีในอาคารพระเศวตสุรคชาธาร จากการบรรเลงบทเพลงง่ายๆ จนกระทั่งสามารถเปิดการแสดงเต็มรูปแบบได้ในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ในคอนเสิร์ตเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้มีการจัดแสดงคอนเสิร์ตนี้เป็นประจำทุกปี ในชื่อ คอนเสิร์ต YMO สืบสานปณิธานพ่อ นอกจากการฝึกซ้อมในพื้นที่แล้ว ทุกๆ ปียังมีกิจกรรมเข้าค่ายดนตรีภาคฤดูร้อน ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และสร้างความประทับใจ ให้เยาวชนมุ่งมั่นฝึกซ้อมดนตรีมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันงบประมาณหลักยังมาจากการสนับสนุนของเทศบาลนครยะลา และมีกองทุนคอนเสิร์ตออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา มาจากรายได้จากการเปิดแสดงในสถานที่ต่างๆ อีกด้วย ซึ่งจะใช้เป็นทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่เข้าศึกษาต่อทางด้านดนตรี และมีฐานะยากจน       ในการรับสมัครเยาวชนนักดนตรีครั้งล่าสุดในปี 2560 ที่ผ่านมา มีนักดนตรีรุ่นใหม่ 190 คน วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา จึงกลายเป็นเวทีฝึกหัด และหล่อหลอมเยาวชนทางด้านดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในแต่ละปีจะมีแผนการแสดงคอนเสิร์ตในจังหวัดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี และนอกพื้นที่อย่างน้อย 6 ครั้งต่อปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลาได้รับเชิญในการแสดงคอนเสิร์ตมากมายทั้งใน และต่างประเทศ อาทิเช่น ได้รับเชิญจากประเทศมาเลเซียเพื่อแสดงร่วมกับวงปีนังฟิลฮาร์โมนิค ปี 2011 ได้รับเกียรติสูงสุดในการแสดงเฉพาะพระพักตร์สุลต่านอัชลันซะห์แห่งรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย และคอนเสิร์ตสันติสุขชายแดนใต้จากไทยสู่มาเลเซียเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560

      เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยโครงการ "SET เชิดชูผู้ทำความดี เพื่อ สังคม" ได้มอบรางวัล เชิดชูเกียรติ ผู้ทำความดีเพื่อสังคมประจำปี 2559 ให้แก่วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา เพื่อส่งเสริมการทำความดี สร้างผลลัพธ์ที่ดีทาง สังคม และล่าสุด สมาชิกวงออร์เคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลา จำนวน 8 คนได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงดนตรีกับศิลปินวาทยกร และคีตกวีระดับโลกชาวเนเธอแลนด์ Maestro Johan de Meij โดยจะบรรเลงดนตรีร่วมกับวง Feroci Philharmonic Winds คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา สันติภาพระหว่างตัวโน้ต

      ไม่เพียงบทบาทที่วงออร์เคสตร้ามี จะส่งผลในระดับปัจเจกบุคคลของเยาวชนนักดนตรีแต่ละคน และต่อผู้ฟังดนตรี แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลขึ้นทั้งผู้ใหญ่ในกลุ่มผู้ริเริ่ม ที่ปรึกษา ครูผู้ฝึกสอน กลุ่มเยาวชน เป็นพื้นที่การใช้ชีวิตร่วมกัน ด้วยการฝึกซ้อมเป็นระยะเวลายาวนาน กระบวนการฝึกซ้อมที่ต้องอาศัยความสอดคล้องกลมกลืน การร่วมแรงร่วมใจทำให้เรียนรู้ถึงระเบียบวินัย หน้าที่ความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น ความสัมพันธ์ยังขยายไปสู่ผู้ปกครองต่างศาสนาที่รับส่งให้กำลังใจบุตรหลาน และส่วนของกลุ่มผู้ชมในพื้นที่นั้นได้ขยายวงกว้างมากขึ้นจากการที่ได้เลือกใช้บทเพลงท้องถิ่นที่สร้างความภาคภูมิใจ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในหมู่ผู้ฟัง และอยู่ห่างไกล ต่างถิ่นได้ฟังก็ทำให้ระลึกถึงแผ่นดินเกิด ส่วนผู้ชมที่ไม่ใช่คนพื้นถิ่น ก็เกิดมุมมองที่ดีต่อจังหวัดยะลา และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น ไม่ยึดติดภาพลักษณ์ความรุนแรงผ่านสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว สันติภาพจึงเกิดขึ้นระหว่างตัวโน้ต ถูกร้อยเรียงผ่านบทเพลง เชื่อมร้อยให้เกิดความผูกพันผ่านสุนทรียะ หวังเพียงบทเพลงแห่งสันติภาพจะดังกังวานไปทั่วแผ่นดินปลายด้ามขวานแห่งนี้อย่างยั่งยืนตลอดไป

ความคิดเห็น