วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

เยาวชนโขนปัตตานี

 14 มี.ค. 2562 20:58 น.    เข้าชม 2315

      การแสดงโขนนับเป็นศิลปะการแสดงขั้นสูงประจำชาติ ที่หาชมได้ยาก เราจะเห็นการแสดงโขนในงานพิธีสำคัญๆ เท่านั้น เพราะประกอบด้วยกระบวนท่ารำอันอ่อนช้อย และเครื่องแต่งกายที่วิจิตรงดงาม ผสมผสานกับฉากที่ยิ่งใหญ่ การแสดงจะเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยการกล่าวเป็นทำนองซึ่งมีทั้งบทพากย์ บทเจรจา และบทร้อง นับวันจะมีคนที่มีความสามารถในการแสดงโขนลดน้อยลงทุกที จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้มีการรื้อฟื้นการแสดงโขนขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการจัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โขนพระราชทาน เป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา ทำให้เราชาวไทยมีโอกาสได้ชมการแสดงระดับชาติ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยทั่วประเทศ

      การแสดงโขนพระราชทานในแต่ละปี จะเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสามารถ และมีฝีมือทางนาฏศิลป์ที่มีใจรักโขนทั่วประเทศ เข้าร่วมคัดเลือกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโขนพระราชทานแสดง และทุกปีจะมีน้องๆ เยาวชนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมแสดงความสามารถเพื่อรับการคัดเลือก และแสดงฝีมือได้ดีไม่แพ้พี่น้องเยาวชนจากภาคอื่นๆ เลย ซึ่งน้องๆ เหล่านี้มาจากโครงการเยาวชนต้นแบบโขน จังหวัดปัตตานี หรือเรียกสั้นๆ ว่า เยาวชนโขนปัตตานี โครงการต้นแบบเยาวชนโขนปัตตานี

      โครงการต้นแบบเยาวชนโขนปัตตานี เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้เยาวชนสามจังหวัดชายแดนใต้ได้เรียนรู้ศิลปะการแสดงโขน จนสามารถพัฒนาฝีมือเรื่อยมาจนได้รับการยอมรับว่าเป็นโขนที่มีคุณภาพสูง โดยผู้เล่นมีทั้งเยาวชนชาวไทยพุทธ และมุสลิม อันเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของโครงการในการสร้างความสมานฉันท์จากการที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ และทำงานร่วมกัน ฝีมือการแสดงโขนของเยาวชนปัตตานีนั้นเรียกว่าไม่ธรรมดาเลย ทุกปีจะมีการจัดแสดงใหญ่ทุกปีที่หอประชุมสำนักอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 โดยการแสดงจะมี 2 รอบด้วยกัน เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไปเข้าชมกันได้อย่างทั่วถึง

      ผู้ที่จุดประกายให้โขนมีชีวิตในพื้นที่ปลายด้ามขวาน คือ ครูสมวุฒิ กุลพุทธสาร ครูโขนคนแรกของเด็กๆ บ้านสะบารัง อ.เมือง จังหวัดปัตตานี ที่เป็นผู้จุดประกายให้เยาวชนเข้ามาสนใจการแสดงโขน ครูสมมติรับราชการครูที่ โรงเรียนสะบารัง ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้รับความสนใจจากเยาวชน จนมาปลายปี 2551 มีเด็กนักเรียนมุสลิมที่ให้ความสนใจภาพการแสดงโขนในห้องเรียนนาฏศิลป์ และเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเล่นโขนขึ้นมา จากหนึ่งคนก็ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นคณะการแสดงเล็กๆ สามารถเปิดแสดงในมหาวิทยาลัยได้ จนได้รับโอกาสให้จัดแสดงอยู่เรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ นับเป็นความน่าอัศจรรย์ที่สามารถรวบรวมผู้แสดงที่เป็นไทยพุทธ และมุสลิมมาร่วมกันสืบสานศิลปะการแสดงชั้นสูงของชาติไทยได้ ปัจจุบันแม้ครูจะย้ายมาประจำอยู่ที่จังหวัดสงขลาแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่สืบสานงานนาฏกรรมในฐานะครูสอนโขน และทุ่มเทสนับสนุนกิจกรรมการแสดงโขนของเยาวชนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป ค่ายอบรม สร้างคนโขน

      โครงการเยาวชนโขนปัตตานีในปี 2561 นี้ มีเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 60 คน จาก 13 โรงเรียนในจังหวัดสงขลา ปัตตานี และนราธิวาส มีทั้งเด็กที่เคยมาทุกปี และสมาชิกใหม่ โดยจัดในลักษณะการเข้าค่ายอบรมในช่วงปิดเทอมเป็นเวลา 5 วัน ฝึกพื้นฐาน และทักษะการแสดงเตรียมพร้อมในการแสดงใหญ่ประจำปี ในบรรดาเด็กจำนวน 60 คนที่มาเข้าร่วมค่ายฝึกอบรมมีทั้งเยาวชนไทยพุทธ ไทยมุสลิม และเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง พวกเขาล้วนมีความสุขกับการได้แสดงออกถึงความสามารถในการแสดงและร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ พ่อแม่ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปก็เฝ้ารอชมการแสดงของเยาวชนโขนปัตตานีอย่างใจจอใจจ่อ กว่าจะสามารถแสดงได้อย่างสวยงามก็ต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก       ในปัจจุบันวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้มีหน้าที่ในการฝึกอบรมโขนให้กับเด็ก และเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพวกเขาบอกได้เลยว่า ศิลปะและดนตรีมีประโยชน์กับเด็กทุกคน รวมถึงเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบก็มีโอกาสได้มาฝึกฝนเช่นกัน จากเด็กที่มีความเศร้าหมอง เมื่อคุณครูใช้กิจกรรมที่สนุกสนาม และเชื่อมสัมพันธ์ด้วยวิถีวัฒนธรรมก็สร้างความสุขขึ้นในใจเด็กทุกคนได้

      การที่เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมมาเข้าร่วมค่ายฝึกอบรม ช่วงเวลา 5 วันของการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะการแสดง และการใช้ชีวิตกับเพื่อนต่างโรงเรียน เกิดประสบการณ์การเรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น การทำงานเป็นทีมซึ่งการแสดงโขนต้องใช้ผู้แสดงจำนวนมาก ต้องใช้ทักษะการต่อตัวที่ต้องประสานงานกันเป็นอย่างดี ทำให้เด็กๆ ซึมซับความงดงามของวัฒนธรรมไทยโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธ์ และศาสนา นอกจากนี้ เด็กจากโครงการเยาวชนโขนส่วนหนึ่งที่มีใจรักในการแสดงโขนอย่างจริงจัง ได้สอบเข้าเรียนในวิทยาลัยนาฏศิลป์ ทั้งวิทยาเขตพัทลุง และนครศรีธรรมราช ศิลปะไร้พรมแดน

      การแสดงโขนของเยาวชนโขนปัตตานี นอกจากได้รับการยอมรับจากผู้ปกครอง และประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางให้มีโอกาสแสดงความสามารถในงานใหญ่ระดับประเทศหลายงานแล้ว สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง และครอบครัวเป็นอย่างมาก สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับน้องๆ เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ให้น้องๆ เหล่านี้มีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อไป เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และสะท้อนให้เห็นว่า ศิลปะ และดนตรีนั้นมีความเป็นสากล ไม่ว่าจะมีความแตกต่างในเรื่องของเชื้อชาติศาสนา แต่ศิลปะก็ทำให้พวกเราเข้าถึงความรู้สึกเดียวกันได้  

      ในปัจจุบันมีเด็ก และเยาวชนที่ให้ความสนใจมาสมัครฝึกอบรมการแสดงโขนเป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีเยาวชนจากทั่วประเทศที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้สืบสานศิลปะของชาติ เมื่อเข้ามาเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของคนโขนก็ยิ่งมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ไทยที่มีความประณีต และงดงามในทุกรายละเอียด เป็นศาสตร์การแสดงที่มีการผสมผสานศิลปะทุกแขนงอย่างมีความหมาย ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ และสืบทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไป

ความคิดเห็น