วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ.2567

ประมงพื้นบ้านปัตตานี อนุรักษ์ ฟื้นฟู ก้าวสู่เศรษฐกิจชุมชนแบบยั่งยืน

 14 มี.ค. 2562 21:56 น.    เข้าชม 5404

      ในปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา “กลุ่มวิสาหกิจโอรังปันตัย” บ้านตันหยงเปาว์ ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี คือหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจประมงพื้นบ้านที่ก้าวเข้าสู่การสนับสนุนของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” กลุ่มวิสาหกิจโอรังปันตัย จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในเดือนเมษายน 2560 “โอรังปันตัย” มีความหมายถึง คนชายทะเล เป้าหมายของการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน คือ เป็นต้นแบบในการผลิตอาหารทะเลแปรรูปที่เป็นสินค้าจากประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี
      ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ทำให้ชาวบ้าน 52 ชุมชน 6 อำเภอ มีรายได้ประมาณ 3,000,000 บาท/ปี  และยังได้รับงบประมาณสนับสนุน ในเรื่องการพัฒนาทุนชุมชนสู่ทุนทางเศรษฐกิจจากกลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ จำนวน  6,846,160 บาท และงบอุดหนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,063,990 บาท  และในปีงบประมาณ 2561 ได้รับงบอุดหนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,849,471 บาทเพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจชุมชนประมงพื้นบ้านต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กว่าที่พวกเขาจะก้าวมาสู่จุดนี้ได้นั้น ต้องผ่านเรื่องราวการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น จนคลี่คลายสู่การใช้ทุนชุมชนมาพัฒนาเป็นทุนทางเศรษฐกิจโดยยังคงเน้นความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชน

เรื่องราวการปกป้อง และฟื้นฟูของคนชายทะเล
      ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2535 เป็นช่วงเวลาแห่งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวปัตตานี เนื่องจากปัญหาการทำประมงโดยใช้อวนรุน อวนลากโดยประมงพาณิชย์ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน คนพื้นถิ่นไม่สามารถหาอยู่หากินกับการประมงเพื่อยังชีพได้อีกต่อไป พากันอพยพไปขายแรงงานที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างมาเลเซีย จากจุดนั้นเองได้เกิดพลังความร่วมมือของคนในท้องถิ่นที่มีความรัก และหวงแหนท้องทะเลบ้านเกิด ได้เข้าร่วมการต่อสู้ของภาคประชาชนในนามสมัชชาคนจน เพื่อผลักดันนโยบายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลไทย การต่อสู้ครั้งนั้น ทำให้ปัตตานีกลายเป็นจังหวัดเดียวที่ปลอดเรืออวนรุนเพราะสู้ผลักดันให้รัฐบาลออกประกาศกระทรวงเรื่องห้ามใช้เครื่องมืออวนรุนในท้องที่จังหวัดปัตตานี เกิดกฎหมายที่ให้กำหนดการแบ่งพื้นที่การทำประมงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และหยุดการใช้อวนรุนอวนลากในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และมีระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลโดยรวม

      ระบบนิเวศอ่าวปัตตานี ในพื้นที่ อ.หนองจิก และ อ.ยะหริ่ง ของ จ.ปัตตานี ที่ถูกทำลายต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูมากกว่า 10 ปี กว่าที่จะกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างในปัจจุบัน โดยนอกจากจะเป็นผลจากการหยุดการทำประมงโดยอวนรุนอวนลากแล้ว ยังมีกิจกรรมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานโครงการพระราชดำริการทำปะการังเทียมมาช่วย ประกอบกับความร่วมมือของพี่น้องชาวประมงท้องถิ่นพื้นบ้าน และผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดปัตตานีร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร การปลูกป่าชายเลน การจัดทำซั้ง ปะการังเทียมแบบพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นแหล่งให้สัตว์น้ำในท้องทะเลได้มีที่พักพิง หลบอาศัย และขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสัตว์ทะเล เป็นเสมือน “บ้าน”ของสัตว์น้ำ มีหน้าที่ช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน วัสดุที่นำมาทำซั้งปะการังเทียมมักใช้วัสดุธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ย่อยสลายได้ง่าย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล
      การทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนนั้น จะมีการจับสัตว์น้ำเฉพาะที่โตเต็มวัยเท่านั้น โดยการใช้เครื่องมือทำการประมงที่มีศักยภาพในการทำลายระบบนิเวศทางทะเลต่ำ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือประมงที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศทางทะเล ได้แก่ อวนลอยชนิดต่าง ๆ ที่มีขนาดตาที่เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำเป้าหมาย ลอบดักสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
      แต่ทว่า อย่างไรก็ตาม แม้ทรัพยากรจะกลับมาอุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณที่มากขึ้น แต่ชาวบ้านยังคงมีรายได้ต่ำ ยากจน และมีหนี้สินเช่นเดิม นั่นจึงเป็นจุดเริ่มสู่การต่อยอดสู่ความยั่งยืน โดยเกิดเป็นโครงการการพัฒนาทุนชุมชนสู่ทุนทางเศรษฐกิจของชุมชนประมงพื้นบ้านปัตตานี เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาทุนชุมชนสู่ทุนทางเศรษฐกิจของชุมชนประมงพื้นบ้านปัตตานี  ร่วมกับแกนนำชาวบ้านเครือข่ายประมงพื้นบ้านปัตตานีวิเคราะห์หา สาเหตุ  และสิ่งที่พบก็คือ ปัญหาที่เกษตรกรทุกหมู่เหล่าต้องพบเจอ นั่นคือ ชาวบ้านยังคงทำการค้าแบบเดิม ๆ คือ “จับมา - ขายไป”  ไม่รู้ว่าสัตว์น้ำต้นทุนมีมูลค่าแค่ไหน และเหนือสิ่งอื่นใด  ชาวบ้านไม่สามารถกำหนดราคา “สินค้า” คือ สัตว์น้ำได้ด้วยตัวเอง

วิเคราะห์ข้อเด่น-ข้อด้อย-โอกาส-อุปสรรค
      วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยจึงได้เกิดขึ้น โดยเป็นผลผลิตจากการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และมองหาจุดเด่น หรือต้นทุนของชุมชนไม่ว่าจะเป็นทุนทางด้านทรัพยากร ทุนทางภูมิปัญญา และทุนทางด้านทรัพยากรบุคคล คือเครือข่ายประมงพื้นบ้านปัตตานี วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการรับซื้ออาหารทะเลสดประเภทต่าง ๆ เพื่อนำมาตัดแต่ง และแปรรูป และจะรับซื้อเฉพาะสัตว์น้ำที่จับมาด้วยเครื่องมือประมงที่ไม่ผิดกฎหมาย และเครื่องมือประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ประเด็นนี้ส่งผลให้ชาวประมงโดยรอบเปลี่ยนจากการใช้เครื่องมืออวนลากแคระ มาเป็นเครื่องมือประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ผิดกฎหมาย และที่สำคัญคือพวกเขาจะขายได้ในราคาที่เป็นธรรม

      ปัจจุบันทางวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยมีผลิตภัณฑ์หลายประเภท ได้แก่ ข้าวเกรียบปลา ปลาอินทรีเค็ม กะปิ ปลาหมึกแห้ง กุ้งเคยแห้ง และสินค้ายอดนิยม คือ ปลากุเลาเค็มทั้งของสด และแปรรูป ซึ่งการที่ยังคงพบเห็นปลากุเลาในทะเลปัตตานี นั่นจึงหมายความว่า ท้องทะเลปัตตานียังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลยังเป็นไปอย่างครบวงจร มีสัตว์น้ำขนาดเล็กที่เป็นแหล่งอาหารของกุเลา และปลาใหญ่ชนิดอื่นๆ ปลากุเลาเป็นสัตว์น้ำที่ชอบหากินหน้าดินโคลน ห่างจากฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร และพบมากบริเวณปากอ่าวปัตตานี และชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีใช้เครื่องมืออวนปลากุเลาเท่านั้นในการจับปลากุเลา ในปีที่ผ่านมาเมนูปลากุเลาเค็มของพวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในรายการพระกระยาหาร และอาหารสำหรับผู้ร่วมโต๊ะเสวยฯ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาและผู้ติดตามเสด็จฯ

มาตรฐานอาหารทะเลอินทรีย์

      วิสาหกิจชุมชนยังแสวงหาองค์กรพันธมิตรที่จะเกื้อหนุนให้ร่วมมือในส่วนของการกระจายสินค้า นอกจากขายเป็นอาหารทะเลสด โดยอาหารทะเลแต่ละชนิดที่ส่งถึงมือลูกค้าจะไปพร้อมเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ สังคม วัฒนธรรมชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในหมู่ผู้บริโภคที่อยู่ในเมืองห่างไกลให้เข้าใจเรื่องราวของชุมชนประมงพื้นบ้านปัตตานี และตระหนักถึงบทบาทในการอนุรักษ์ทะเลไทย และตำแหน่งแห่งที่ใหม่ทางการตลาดนั่นคือการสร้างตราสินค้า “อาหารทะเลอินทรีย์”
      การจะสร้างความเป็นที่รู้จัก และยอมรับในนาม อาหารทะเลอินทรีย์ นั้นมาจากการเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยองค์กรบุคคลที่สาม (Third Party Certification) ซึ่งวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนประมงชายฝั่ง และการขยายการมีส่วนร่วมของสาธารณะชนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืนผ่านทางการส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าประมงอินทรีย์” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบัน โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ที่มีเป้าหมายในการพัฒนา และส่งเสริมให้เกิดการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สำหรับ “สินค้าสัตว์น้ำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ” โดยขอรับรองจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐาน ACT Standard ขอบข่ายการจับสัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งทางกลุ่มโอรังปันตัยกำลังได้รับการตรวจเพื่อการรับรองเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 นี้เอง

      สินค้าทั้งหมดของโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ ต้องมาจากการปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐาน โดยสรุปหลักการสำคัญ คือ เป็นการทำประมงอย่างรับผิดชอบ สินค้าสัตว์น้ำจากองค์กรชุมชนเป้าหมายที่ส่งมายังโครงการฯ ต้องมีขนาดที่เหมาะสมตามเกณฑ์ของแต่ละชนิดสัตว์น้ำ สถานที่ใช้รับซื้อสินค้าจากสมาชิกชาวประมง จัดการสินค้า บรรจุ ต้องมีความสะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนแบคทีเรีย และสารเคมี มีการแยกสินค้าที่เป็นอินทรีย์ และไม่ใช่อินทรีย์ไม่ให้ปะปนกัน ที่สำคัญทุกขั้นตอนต้องไม่ใช้สารเคมี นับตั้งแต่การทำประมง การเก็บรักษาสัตว์น้ำบนเรือประมง ตลอดกระบวนการคัดแยก บรรจุ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์จนถึงมือผู้บริโภค ทำให้สินค้าอาหารทะเลอินทรีย์ได้เสิร์ฟบนโต๊ะอาหารภัตตาคารกลางกรุงอย่างโรงแรมเอราวัณ ราชประสงค์ และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และแวดวงผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์

ผู้สนใจอุดหนุนสินค้าอาหารทะเลอินทรีย์ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ทั้งจากเพจของวิสาหกิจชุมชนโดยตรง คือ เพจเฟซบุค : กุเลาเค็ม อินทรีย์เค็ม "โอรังปันตัย" หรือ เพจเครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล ของโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ ซึ่งจะให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลอินทรีย์กับผู้บริโภคอีกด้วย

ความคิดเห็น