วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567

ว่าววงเดือน เสน่ห์บนผืนฟ้าชายแดนใต้

 14 มี.ค. 2562 22:49 น.    เข้าชม 7621

      ว่าววงเดือน คือ ศิลปะพื้นเมืองที่มีความสวยงาม และแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของพื้นถิ่นชายแดนภาคใต้ เป็นว่าวโบราณที่ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ในจังหวัดชายแดนใต้ รวมไปจนถึงรัฐกลันตันทางตอนเหนือ ประเทศมาเลเซียนิยมเล่นกันมาก ว่าววงเดือนมีความแตกต่างจากว่าวทั่วไป โดยมีลักษณะคล้ายกับพระจันทร์ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งจันทร์ซีก จันทร์เสี้ยว และจันทร์เต็มดวง ว่าวจะถูกตกแต่งด้วยลวดลายที่แตกต่างกันไป ทั้งลายไทย ลวดลายมลายู และลวดลายแบบชวา แต่งเติมสีสันสวยงาม มีส่วนประดับที่เรียกว่า แอก ที่ตรงส่วนหัว และพู่อยู่ตรงส่วนหัว และปีกทั้งสองข้าง       ว่าววงเดือน ในภาษามลายู เรียกว่า “วาบูแล” มีตำนานเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาล มีเจ้าชายซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของกษัตริย์ วงศ์อสัญแดหวา ตกหลุมรักเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ ได้อาศัยว่าววงเดือนเป็นพาหนะขึ้นไปหาเทพธิดา ครั้นถูกจับได้ว่าลอบเข้าหาเทพธิดาอันเป็นลูกสาวสวรรค์ ระหว่างหลบหนี ได้ถูกยิงด้วยธนูสิ้นพระชนม์ ศพของเจ้าชายก็ได้รับการพากลับมายังโลกมนุษย์ โดย 2 องครักษ์ที่เดินทางไปด้วย ช่วยพาขึ้นว่าวกลับสู่โลกมนุษย์ และในขณะทำพิธีศพของเจ้าชายนั้นเอง เจ้าหญิงจากสรวงสวรรค์ได้แปลงกายเป็นหญิงชรานำสมุนไพรมาถวาย โดยใช้ว่าวเป็นพาหนะ ส่งผลให้เจ้าชายฟื้นคืนชีพ ทำให้ทั้งคู่กลับมาครองรักกันได้เหมือนเดิม อัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตถิ่นแดนใต้

      ในอดีตหลังจากชาวบ้านทำนาทำสวนเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เข้าสู่ห้วงฤดูลมว่าวช่วงรอยต่อเดือนเมษายนกับเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านในพื้นถิ่นชายแดนภาคใต้ก็มีการละเล่นคล้ายคลึงกับท้องถิ่นอื่น ๆ ของประเทศไทย คือการเล่นว่าว สอนเด็ก ๆ ลูกหลานให้รู้จักการละเล่นที่สอดคล้องธรรมชาติ ภาพที่เห็นบนท้องฟ้าในยามนั้น คือว่าววงเดือนหลากสีที่ลอยเด่น งดงาม สดใส จวบจนถึงปัจจุบันลูกหลานชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงนิยมเล่นการละเล่นชนิดนี้ และมีการสืบทอดภูมิปัญญาการทำว่าว การเล่นว่าว และการแข่งขันว่าววงเดือนอันเป็นอัตลักษณ์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านพื้นถิ่น       การเล่นว่าววงเดือนนอกจากเป็นการละเล่นในครอบครัวแล้ว ยังมีประเพณีการละเล่นแข่งขันว่าววงเดือน ซึ่งจากแต่เดิมมีการจัดกิจกรรมแยกกันตามแต่ละหมู่บ้าน ต่อมาได้มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมในระดับตำบลเป็นประจำทุกปีหลังฤดูทำนา ทางเทศบาลกะลุวอเหนือ ได้ให้ความสำคัญกับการสืบทอดประเพณีการเล่นว่าว โดยจัดขึ้นที่ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ในการจัดการแข่งขันการแข่งว่าว ชาวบ้าน 13 หมู่บ้านจะมีตัวแทนที่มีความรู้เรื่องว่าวมาร่วมกันทำงาน ร่วมกันวางแผนงานจัดกิจกรรม

      ในแต่ละบ้านเรือน เมื่อพ่อแม่ไปหาไม้มาทำว่าวลูกก็มีโอกาสได้เรียนรู้ไปด้วย เด็ก ๆ จะได้ใช้เวลาหัดทำว่าวกับพ่อแม่ ได้เรียนรู้ว่าต้องใช้ไม้ไผ่ประเภทใดได้บ้าง การทำว่าวจะใช้ไม้ไผ่ที่แก่มาเหลาเป็นโครงว่าว ทำให้เหนียวเมื่อเจอลมแรงก็ไม่หักง่าย การดัดให้เข้ารูปทรงโครงว่าว การติดกระดาษ ตกแต่งลวดลาย จนไปถึงการขึ้นว่าว ทำยังไงให้ขึ้นได้สูงอยู่ได้นาน เด็ก ๆ ได้เล่นว่าวด้วยกันยามเย็น ใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่า และห่างไกลจากวงจรยาเสพติด เสน่ห์บนผืนฟ้า ประเพณีอันทรงคุณค่า

      สถานที่จัดการแข่งขันว่าววงเดือน ตำบลกะลุวอเหนือ เป็นลานกว้างใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่วัดไทยพุทธ เป็นศูนย์กลางให้คนทุกศาสนามาเล่นว่าวร่วมกัน ซึ่งการแข่งขันว่าวไม่ได้จัดอยู่แค่ในพื้นที่ตำบลกะลุวอเหนือเท่านั้น แต่ยังมีการจัดในหลายพื้นที่ และมีผู้เข้าร่วมจากต่างถิ่นมาร่วม หมุนเวียนกันไป แสดงถึงความเป็นอยู่ที่กลมเกลียวบนความแตกต่างหลากหลาย นอกจากนี้ผลพลอยได้อีกประการสำหรับคนท้องถิ่นคือการสร้างรายได้พิเศษจากการประดิษฐ์ว่าววงเดือนเพื่อจำหน่ายเป็นว่าวแข่ง และของที่ระลึกที่สวยงาม       ประเพณีการแข่งขันว่าววงเดือนหรือว่าววาบูแล จึงเป็นสื่อสำคัญที่ให้คุณค่าทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความแตกต่างทางศาสนา. และวัฒนธรรม สืบสานภูมิปัญญาทางศิลปหัตถกรรม ประเพณีการละเล่นอันผูกพันกับวิถีชีวิตชาวไทยมุสลิม และไทยพุทธ และมีมาอย่างยาวนานในพื้นที่ชายแดนใต้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และสืบทอด นับเป็นกิจกรรมความร่วมมือของผู้นำท้องถิ่นกับชุมชนที่อบอุ่น และทรงคุณค่าอย่างยิ่ง

ความคิดเห็น