วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

ความผูกพันของคนและช้างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 25 มิ.ย. 2562 21:25 น.    เข้าชม 3407

      “กาเยาะ” เป็นภาษามลายูถิ่นที่ใช้กันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งภูมิภาคคาบสมุทรมลายู ใช้เรียก “ช้าง” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับคนในท้องที่เป็นอย่างมาก และ มักจะอยู่ในวาระพิเศษ เช่น การแห่ช้างในงานแต่งงาน หรือ วันเข้าสุหนัต ในอดีตช้างเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่ ราชา หรือ รายา เจ้าผู้ปกครองหัวเมืองชายแดนใต้ ต้องมีช้างไว้ใช้ทั้งเป็นพาหนะ และ ยามทำศึกสงคราม แต่ปัจจุบันจำนวนช้างในพื้นที่สามจังหวัดมีจำนวนลดลงสืบเนื่องจากหลายปัจจัย ทุกวันนี้ช้าง และ ควาญช้างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำอาชีพชักลากไม้เป็นหลัก ต่างจากในอดีตที่ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง หรือ ใช้บรรทุกขนส่งสิ่งของ ชื่อหมู่บ้านหลาย ๆ แห่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็มักจะมีคำว่าช้างปรากฏอยู่ด้วย เช่น หมู่บ้านคล้องช้าง เป็นหมู่บ้านที่สมัยก่อนเป็นที่พักช้าง มีคลองให้ช้างได้พักผ่อนอาบน้ำ ระหว่างขบวนแห่ของสุลต่าน หรือขบวนเดินทาง หรือ หมู่บ้าน หรือ หมู่บ้านกาเยาะมาตี หรือ ช้างตาย ก็เคยมีช้างของสุลต่านล้มตายที่นั่น
ควาญช้างหน้าที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ
      
ควาญช้างส่วนใหญ่จะเป็นภารกิจที่สืบทอดจากมาจากบรรพบุรุษ การนำช้างไปช่วยงานแต่ง หรืองานพิธีต่างๆ จะได้ค่าตอบแทนบ้างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับเจ้าภาพจะให้ 1000 – 3000 บาท ส่วนใหญ่ไปเพราะความสัมพันธ์รู้จักกัน ต่างจากมาเลเซียเวลาแห่จะได้ สองถึงสามหมื่นบาท แต่ก็ไปเพราะความเคารพในตัวเจ้าภาพ งานหลักส่วนใหญ่จะเป็นงานชักลากไม้ออกจาป่าบนภูเขา ก็จะได้ค่าชักลาก ต้นละ 2000 บาท เริ่มงานแต่เช้า เที่ยงก็พักละหมาดแล้วกินข้าว แล้วก็มาทำงานต่อสักรอบสองรอบก็เลิกงานก่อนค่ำ รายได้หลักของควาญช้างที่นี่จึงมาจากช้างเป็นหลัก ชักลากไม้พอได้ค่ากินค่าน้ำค่าไฟ ใช้แห่ในงานพิธีบ้าง แต่ไม่มีใครที่จะร่ำรวยกับช้างสักคน เพราะพวกเขาเลี้ยงด้วยความรักช้างเป็นสิ่งสำคัญ
      ผู้ที่เป็นควาญช้างมีสิ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติอันเป็นความเชื่อหลายอย่าง โดยเฉพาะควาญช้างพลายจะยึดถือมากกว่าควาญช้างพัง ควาญช้างห้ามพูดโกหก เวลากินข้าวห้ามล้วงหม้อ ห้ามเติมข้าว ห้ามแคะ ไม่ลอดใต้ถุนบ้าน ไม่ลอดใต้ต้นไม้ที่จะล้ม ก่อนจะให้ช้างร่วมขบวนแห่ก็จะทำพิธีปลอบขวัญช้างซึ่งเป็นจารีตสำคัญของควาญช้างที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากนี้ ผู้ที่จะขึ้นขี่ช้างไม่ว่าหญิงหรือชาย ร่างกายต้องสะอาดหมดจด ถ้ากรณีเจ้าสาวที่จะขึ้นช้าง มีประจำเดือนในวันแห่ ก็ต้องขอช้างก่อน พอแห่เสร็จควาญช้างจะรีบพาช้างไปอาบน้ำทันที นอกจากควาญช้าง หรือเจ้าของช้างที่มีความผูกพัน และ ใกล้ชิดกับช้างแล้ว ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ที่เป็น หมอช้าง หรือ โต๊ะกูแซ ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากหมอช้างจะมีความรอบรู้ในเรื่องการดูลักษณะนิสัยของช้าง ตลอดจนการทำขวัญช้าง หรือ กำราบช้างเพื่อให้คลายความดุร้ายลง
งานพิธีกรรมของช้างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

      การเลี้ยงช้างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประเภท ได้แก่ การเลี้ยงช้างเพื่อใช้งาน และ ใช้ในงานเกี่ยวกับพิธีกรรมเนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่มีบารมี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีการเลี้ยงช้างสืบทอดกันมาหลายชั่วคน ซึ่งคนเลี้ยงช้างจะมีพิธีใหญ่ที่สำคัญได้แก่ พิธีบวร หรือ ไหว้ครู และ งานแห่ช้าง ซึ่งจัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และ ครูบาอาจารย์ ซึ่งไม่ว่าไทยพุทธ หรือ มุสลิมก็เข้าร่วมพิธีนี้ได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีพระสงฆ์มาร่วมประกอบพิธี ควาญช้าง และ ช้างมากมายหลายเชือกจะมารวมกันที่งานนี้ ก่อนเริ่มพิธีจะมีการเวียนเทียนรอบช้างเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยปกป้องพิธี ให้เป็นไปอย่างสงบสุขรื่นเริงไม่มีเหตุเภทภัยใด มีการป้อนข้าวเหนียวเหลือง อ้อย รวงข้าวให้แก่ช้าง ชาวบ้านก็จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้า และ เครื่องประดับสีสันสวยงามขึ้นนั่งบนหลังช้าง ก่อนจะเดินขบวนแห่ไปตามถนนในหมู่บ้าน ในงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณ เช่น ดนตรีพื้นบ้านมลายู การรำสิละ และ อื่นๆ
พิธีตัดงาช้าง
      
นอกจากงานแห่ช้าง หรือ พิธีไหว้ครูที่ควาญช้าง และ ช้างมารวมตัวกันแล้ว ยังมีพิธีกรรมสำคัญที่เจ้าของช้างแต่ละตัวโดยเฉพาะช้างพลายที่มีงาจะทำให้กับช้างพลาย คือ พิธีตัดงาช้าง เพื่อให้ช้างเคลื่อนไหวได้สะดวก และ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับตัวช้าง จากการที่อาจจะมีคนมาลักลอบตัดงาช้างโดยใช้วิธีที่อาจเกิดอันตรายต่อช้างได้ หรือ ช้างอาจจะถูกฆ่า งาช้างก็เหมือนกับเล็บของคน เมื่อตัดก็งอกยาวมาอีกได้ แต่ถ้าตัดเข้าไปลึกเกินไปก็จะก่อให้เกิดความเจ็บปวด ก่อนตัดงาในพิธี หมอช้างจะทำการวัดระยะในการตัดงา ไม่ตัดไปถึงส่วนที่ทำให้ช้างรับความเจ็บปวด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นช้างจะกลายเป็นช้างดุไปเลย ในงานตัดงาช้างก็จะมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาดูแลโดยทำการแสกนหาว่าเคยฝังไมโครชิพหรือไม่ ช้างทุกตัวจะมีรหัสประจำตัว และ มีเอกสารประวัติของตัวเองเหมือนกับบัตรประจำตัวช้าง
      งานพิธีตัดงาช้างจะจัดขึ้นในหมู่บ้านที่เจ้าของช้างอยู่ นอกจากงานพิธีแล้วก็จะมีการทำบุญรวมญาติพี่น้องและรับขวัญช้างไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากคนมลายูถือว่าช้างเป็นสัตว์สำคัญต้องให้ความเคารพและเลี้ยงดูเอาใจใส่เป็นอย่างดี ก่อนพิธีจะเริ่มควาญช้างจะนำช้างไปอาบน้ำ และ มีหมอช้างเตรียมน้ำชนิดต่างๆ ไว้ชำระล้างตัวช้างเพื่อความเป็นสิริมงคล ได้แก่ น้ำแช่มะกรูด น้ำแช่สมุนไพรบูฮู น้ำแช่เครื่องเงินซึ่งเชื่อว่ามีความเย็น น้ำผสมดอกไม้ 7 สี และ มีข้าวเหนียวเหลือง อ้อย กล้วย และ รวงข้าวไว้ให้ช้างกินในพิธีทำขวัญช้าง และ ใช้น้ำต่างๆ ที่เตรียมไว้อาบให้ช้าง ขัดถูตัวช้าง ก่อนจะตัดงา โดยใช้เลื่อยขนาดเล็กค่อยๆ ตัด และ รดน้ำไปด้วย เมื่อเลื่อยจนใกล้จะขาด จะหยุดแล้วใช้ไม้เคาะให้งาหลุดออก และ กระซิบบอกช้างเป็นการปลอบขวัญ โดยบอกว่าเป็นอุบัติเหตุนะ ไม่ได้มีใครตั้งใจทำอันตราย
ความผูกพัน และ ความเชื่อที่อยู่เหนือความแตกต่าง

      ในการแห่ช้างในงานสำคัญต่างๆ เจ้าบ่าวเจ้าสาว หรือ เด็กที่จะเข้าพิธีสุหนัต รวมทั้งญาติผู้ใหญ่จะขึ้นนั่งกูบบนหลังช้าง โดยใช้ช้าง 3-4 ตัวเดินเป็นขบวนแห่ไปในหมู่บ้าน ควาญช้างจะต้องมีภาระหน้าที่อันสำคัญในการดูแลช้าง โดยจะต้องใช้ควาญที่มีประสบการณ์มาประกบช้าง ดูอาการว่าช้างหงุดหงิด หรือ เหนื่อยหรือไม่ ระวังสถานการณ์รอบข้างไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ช้างตกใจ เมื่อแห่แหนจนเสร็จพิธีเจ้าของช้างจะเข้าไปแสดงความรักความขอบคุณต่อช้าง โดยใช้มือป้ายน้ำตาช้างมาลูบหน้าลูบตาของตนเอง กอดหอมช้างประดุจหนึ่งลูกของตนเอง นับเป็นวิถีแห่งความผูกพัน คนกับช้าง และ คนกับคน ซึ่งมีคติความเชื่อร่วมกัน เหนือความเป็นพุทธ หรือ มุสลิม เป็นสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันควรต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ ให้ความเคารพในความแตกต่าง หลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างที่คนในอดีตอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขมาโดยตลอด
 

ความคิดเห็น