วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

แวรุงไปไหน สื่อเล็กๆ จากคนในพื้นที่ ที่นี่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 25 มิ.ย. 2562 22:05 น.    เข้าชม 3674

      “ต่างศาสนาเป็นเพื่อนกันได้ไหม?” คือ ชื่อคลิปวีดีโอความยาว 7 นาที ที่ได้รับการเผยแพร่ในช่องวีดีโอยูทูปช่องหนึ่ง พร้อมแฮชแท็ก #ไม่ต้องแชร์ก็ได้แต่ขอให้ดูก่อนได้ไหม #แตกต่างแต่ไม่แตกแยก เนื้อหาของวีดีโอเป็นการสัมภาษณ์คนในละแวกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งนักศึกษา คนทำงาน พ่อค้าแม่ขายในมหาวิทยาลัย ด้วยคำถามที่ว่า “คิดเห็นอย่างไรกับเพื่อนต่างศาสนา?” “คบเพื่อต่างศาสนาได้หรือเปล่า”
      ทุกคนที่ได้รับการสัมภาษณ์ในคลิปวีดีโอล้วนตอบ และ แสดงความรู้สึก และ ความคิดเห็นไม่ต่างกันนักว่า ความเป็นเพื่อน ไม่ว่าศาสนาไหนก็เป็นเพื่อนกันได้ เพราะเราต่างกันแค่ความเชื่อ ความสัมพันธ์ และ มิตรภาพนั้นไม่ได้เอาศาสนามาเกี่ยวข้อง อยู่ที่ว่าความเข้าใจซึ่งกันและกัน และ ต้องให้เกียรติกัน
      ช่องวีดีโอยูทูปดังกล่าว คือช่อง “แวรุงไปไหน” ซึ่งทีมงานผู้ผลิตคลิปชิ้นนี้เองสามารถเป็นตัวแทนของคำตอบข้างต้นได้เป็นอย่างดี พวกเขาคือทีมงาน แวรุงไปไหน เยาวชนชาวนราธิวาส ประกอบไปด้วย ยี - บูคอรี อีซอ, ยัง - อัมราน อีซอ น้องชายแท้ๆ ของยี และ กิฟต์ - กรวรรณ ภูริวัฒน์ เพื่อนต่างศาสนาร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยของยี
#สื่อเล็กๆ จากคนชายแดนใต้

      “เราเป็นเพียงสื่อเล็กๆ ที่เริ่มมาจากส่วนตัว ผมชื่อยีชอบการเดินทาง ชอบถ่ายรูป ไม่เคยคิดว่าภาพๆ นึง จะช่วยให้มีความหมายมากขนาดนั้น ยังไงนะเหรอ?? ตอนนั้นเราไปถ่ายรูปที่เขายือลาแป ขับผ่านไม่ได้ตั้งใจจะแวะตรงนั้นด้วยซ้ำ แต่บรรยากาศที่เห็นวิว คือ วิวดีมากๆ มีน้ำตกข้างๆ ด้วยเลยแชะๆ ถ่ายรูป กลับบ้านลงรูปเขียนแคปชั่น
      ไปค้นหาข้อมูลใน Google แต่กลับเจอแต่ภาพความรุนแรง ภาพที่สวยงามตรงนั้นหายไปไหน นี้สินะที่เขาเรียกว่าภาพความรุนแรงมาแทนที่ภาพความสวยงาม มันเลยทำให้ 3 จังหวัดบ้านเราถูกจดจำแต่ภาพเลวร้าย เราเลยตัดสินใจว่า เราจะอาสานำเสนอภาพดีๆ แทนที่ภาพความรุนแรง”

      ข้อความข้างต้นคือโพสต์หนึ่งบนหน้าเพจ แวรุงไปไหน โดย บูคอรี อีซอ หรือ ยี ผู้ก่อตั้ง และ เป็นกำลังหลักของทีมงานแวรุงไปไหน ในอดีตเขาคือหนึ่งในสมาชิกนักกิจกรรมเยาวชนจากสหพันธ์นักเรียนนักศึกษาเพื่อชายแดนใต้ หรือ สสชต. ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มนักเรียน และ นักศึกษาจากสถาบันในพื้นที่สามจังหวัด ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นในวัยมัธยม บูคอรีเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนดารุสสาลาม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งเรียนทั้งวิชาสามัญพร้อมไปกับการหล่อหลอมด้านคุณธรรม และ หลักศาสนา จากเด็กติดเกมคนหนึ่ง ได้เรียนรู้มาจนเติบโต และ รู้จักตนเองว่ารักการทำงานด้านการออกแบบ และ งานสื่อนำเสนอ ปัจจุบันบูคอรี จบการศึกษาจาก คณะวิทยาการสื่อสาร เอกนวัตกรรมการออกแบบสื่อ และ การสร้างสรรค์สื่อ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งบนเพจเฟซบุค ช่องยูทูป และ อินสตาแกรม
      เส้นทางสู่การเป็นบล็อกเกอร์ของบูคอรี เริ่มจากการทำเฟสบุค เดอะยี ต่อมาเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนเปิดเพจ “แวรุง” โดยคำว่า แวรุง นั้นหมายถึง วัยรุ่น เนื้อหาจึงเน้นเกี่ยวกับวัยรุ่น วิถีชีวิต ภาพถ่าย แต่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน ต่อมาเมื่อเรียนชั้นปีที่ 4 และ ต้องทำวิทยานิพนธ์ จึงเลือกทำเรื่องสื่อในหัวข้อ การพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิมที่การพูดถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบทุกคนจะวาดภาพความไม่สงบ ระเบิด และ เสียงปืน บูคอรีจึงได้นำ เพจแวรุง มาปรับปรุงต่อยอดเป็นเนื้อหาที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนใต้เพื่อเผยแพร่ให้คนภายนอกพื้นที่ได้รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว จึงเพิ่มคำว่าไปไหนขึ้นมา กลายเป็น “แวรุง ไปไหน”
แวรุงไปไหนดี #มาเที่ยวบ้านเรามั้ย

      ในสังคมมลายู แวรุง หมายถึง วัยรุ่น ส่วน “ไปไหน” เป็นคำถามทักทายที่บ่งบอกถึงความห่วงใย เช่น “ไปไหน” เที่ยวบ้านเราไหม เวลาไปไหนก็ทักทายกัน คำว่า ไปไหน ไม่ใช่แค่ไปเที่ยว เราจะไปทำงาน ไปทำความดี ไปจัดกิจกรรมจิตอาสา โดยคาแรคเตอร์ของเพจ จะมีความสดใสสนุกสนานของวัยรุ่น ไม่เป็นทางการมากเกินไป เป็นคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์วัยรุ่น มีกระแสตอบรับเข้ามามากมาย โดยการทำสื่อโซเชียลก็มีทั้งเสียงตอบรับทั้งด้านบวกที่เป็นกำลังใจ และด้านลบที่พวกเขานำมาเป็นปรับปรุงแก้ไข
      “มีเหนื่อย มีท้อบ้าง แต่สนุกดีน่ะ มีอยู่แค่ 3 คน เรียกทีมได้มั้ย? ฮ่าๆ ถามถึงไปไหน มาไหนไปกับอะไร ขับมอไซต์ครับ ลุยมากๆ โดนแดดโดนฝน ทะเลาะบ้าง แต่อยากบอกว่าเราทะเลาะกันได้ แต่ต้องรีบเคลียร์ให้เข้าใจกันเร็วๆ ส่วนใหญ่เราทะเลาะเรื่องงานมากกว่า จงใช้วัยที่ยังมีกำลังให้คุ้ม ดีกว่าแก่ไป แล้วเสียดายที่ไม่ทำ!!”

      จากการเริ่มต้นก่อตั้งเพจครั้งแรกในปี 2559 ปัจจุบันหน้าเพจเฟซบุค แวรุงไปไหน มียอดผู้ติดตาม 9.6 หมื่นคน มีคลิปที่ได้รับความนิยมมากมาย เช่น คลิป “ที่นี่ดุซงญอ รอมฎอน" 9.5 หมื่นครั้ง , “ขนมกูบาฆูลิง” 1.7 แสนครั้ง หรือคลิปรณรงค์จิตอาสา “ฮารีรายอรณรงค์ทิ้งขยะลงถัง” ยอดชม 2.6 แสนครั้ง และ พื้นที่สีแดง (จริงๆเหรอ?)” 3.6 แสนครั้ง ล่าสุดทางเพจแวรุงไปไหนยังมีการจัดกิจกรรมเชิญชวนให้แวรุง(วัยรุ่น) มาท่องเที่ยว และเก็บภาพประทับใจในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยกิจกรรมแรก คือ แวรุงมือนารอ เชิญชวนมาเที่ยวตลาดน้ำยะกัง ขนมโบราณ 100 ปี มีกิจกรรมพูดคุย ฟังแรงบันดาลใจจากวัยรุ่นนราธิวาส ถ่ายรูป Wall Art โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 
      ติดตามสื่อคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ได้ที่ เพจเฟซบุค, ช่องยูทูป และอินสตาแกรม “แวรุงไปไหน” (WAERUNG PAINAI)

ความคิดเห็น