วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567

ฟื้นฟูนาร้าง กับ โรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านละหา

 25 มิ.ย. 2562 22:11 น.    เข้าชม 3743

      หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และ วิถีปฏิบัติที่อยู่บนหลักให้ทุกคนพึ่งพาตัวเอง พอกิน พอใช้ และ พอเพียง การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปลูกฝังหลักความพอประมาณให้กับเด็กๆ ย่อมทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคง และ ไม่ทอดทิ้งความเป็นตัวตนของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ ดังเช่นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ที่มีการจัดการร่วมกันระหว่างชุมชน กับ โรงเรียนในการจัดการความรู้นอกห้องเรียน
      ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร เช่น สวนยาง และ สวนผลไม้ ในสมัยโบราณนั้นชาวแว้งมีการทำนาปลูกข้าวเป็นหลักด้วยเช่นกัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผืนนาถูกทิ้งร้าง ประชาชนหันไปปลูกยางพารากันมาก แต่กลับต้องซื้อข้าวกิน ประกอบกับสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้นายมูฮัมหมัด บิง ซึ่งเป็นเกษตรกรยุคใหม่เกิดแนวคิดที่จะเป็นแกนนำในการชักชวนชาวบ้านในพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอแว้ง หันกลับมาทำนา และ ทำการเกษตรผสมผสานโดยไม่ใช้สารเคมี รวมทั้งเปิดเป็นโรงเรียนชาวนา และ ศูนย์การเรียนรู้ให้แก่เยาวชน และ บุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษาศาสตร์พระราชา
กำเนิดโรงเรียนชาวนาบ้านละหา

      ต้นกำเนิดแรงบันดาลใจในการก่อตั้งโรงเรียนชาวนา เกิดจากการที่นายมูฮำหมัดได้มีโอกาสรับรู้ความกังวลใจของผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่เห็นพื้นที่นาในอำเภอแว้งลดลงอย่างต่อเนื่อง ห่วงใยอนาคตของลูกหลานว่าจะขาดแคลนอาหาร และ เตือนลูกหลานเสมอว่า “ข้าวคือลูกแท้ ยางคือลูกเลี้ยง” จึงเป็นจุดเริ่มของโรงเรียนชาวนา ในปี พ.ศ. 2549 โดยการชักชวนชาวบ้านรุ่นบุกเบิกประมาณ 7-8 คน ฟื้นนาร้างในชุมชนละหา ที่มีรวมกันเกือบ 200 ไร่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างชุมชน และ ภาครัฐ ได้แก่ เกษตรอำเภอ และ หน่วยงานเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 35 และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก่อตั้งเป็นโรงเรียนชาวนา สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำนาและ สร้างโรงสีข้าว

      จากจุดเริ่มต้นที่ 7-8 ครัวเรือน เพิ่มเป็น 13 ครัวเรือนในปีแรก ใช้เวลาฤดูฝนที่ว่างจากการกรีดยางมาทำนา ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 35 ครอบครัว จากพื้นที่ชุมชนละหา ขยายเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อำเภอแว้ง เป็น 6 ตำบล ในอำเภอแว้ง ประกอบด้วย ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง ต.เอราวัณ ต.ฆอเลาะ ต.แม่ดง ต.กายูคละ ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความมั่นคงทางอาหาร โดยมีเป้าหมายในการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี ฟื้นฟูระบบนิเวศ และ วิถีดั้งเดิมของชุมชนให้กลับคืนมา การกลับมาทำนาใหม่ โดยเฉพาะการทำนาอินทรีย์จะช่วยลด ค่าใช้จ่ายของชาวชุมชนลงมา ลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของชุมชน พึ่งตนเองได้ด้วยความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคายางตกต่ำเช่นนี้ ซึ่งนอกจากนาข้าวแล้ว โรงเรียนชาวนายังมีการทำเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก แบ่งที่ดินเป็น 4 ส่วน คือ นาข้าว บ่อเลี้ยงปลา สวนผักผลไม้ และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้าน
เรียนรู้จากรากเหง้าของตนเอง

      สถาบันการศึกษาเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเผยแพร่ให้แก่นักเรียน และ ชุมชน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิตของคนในชุมชนเอง สถานศึกษาในพื้นที่อำเภอแว้งส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรอิสลามศึกษา เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ ที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก แต่ก็ให้ความสำคัญกับกิจกรรมการศึกษาจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยกำหนดให้มีกิจกรรมร่วมกันกับชุมชน และ เรียนรู้ศาสตร์พระราชา โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนปลูกฝังหลักปรัชญา 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดยสอดแทรกอยู่ในทุกกลุ่มสาระวิชา

      โรงเรียนมีการอบรมเชิงปฏิบัติการในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อสนองความต้องการของชุมชนในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมให้ครูได้วิเคราะห์ และ สร้างสรรค์หลักสูตรแต่ละวิชา จัดทำแผนการเรียนรู้ การบูรณาการการเรียนการสอนโดยสอดแทรกหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริงในสถานที่ของโรงเรียนที่เตรียมไว้ นอกจากนี้ยังใช้แหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชน รวมถึงโรงเรียนชาวนาบ้านละหาเพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ รากเหง้าของความเป็นมนุษย์
ทำนาได้มากกว่าคำว่า “ข้าว”

      การหวนกลับมาทำนาอินทรีย์เป็นเวลาหลายปี ทำให้ทุ่งนากลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีผักอาหาร วิถีการหาอยู่หากินกับธรรมชาติกลับมาอีกครั้ง ครอบครัวกลับมาอบอุ่นดังเดิมเพราไม่ต้องทิ้งถิ่นไปทำงานนอกพื้นที่ โรงเรียนชาวนาจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการทำนาอินทรีย์ของเกษตรกรในพื้นที่ เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการไถนา ถอนกล้า ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว สัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิม โรงเรียนชาวนาไม่ได้สอนให้เด็ก และเยาวชนเรียนรู้แค่การทำนาซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษของพวกเขา แต่ยังสอนให้เข้าใจการมีสุขภาพดีจากการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย รวมทั้งการผลิตอาหารขึ้นมาจากดินของตนเองที่มีอยู่ เพื่อให้ครอบครัวมีอาหารพอเพียงกับการบริโภคถือเป็นปัจจัยหลักของมนุษย์ทุกคน

ความคิดเห็น