วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส สั่งสม-สืบสานภูมินรา

 25 มิ.ย. 2562 22:26 น.    เข้าชม 4026

      หากท่านมีโอกาสได้มาเยือนเมืองนราธิวาส พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส นับเป็นที่แรกที่ควรไปเยี่ยมชม ก่อนจะเดินทางไปสัมผัสสถานที่จริง พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาสเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของจังหวัดนราธิวาส เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่นักท่องเที่ยว และ ผู้มาเยือน ตลอดจนประชาชน เด็ก และ เยาวชน ในเรื่องราวของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ในสังคมพหุวัฒนธรรมท้องถิ่น       พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ตั้งอยู่ที่ถนนพิชิตบำรุง ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส เดิมเป็นศาลากลางจังหวัดนราธิวาส (หลังเก่า) นายประชา เดชรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราฯ ในเวลานั้น (พ.ศ.2549) มีแนวคิดอนุรักษ์ศาลากลางหลังเก่าปรับปรุงอาคารเป็น “พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส” เพื่อเสริมสร้างค่านิยมจิตสำนึกความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ และ ภูมิปัญญาท้องถิ่น หวงแหนมรดกวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ แหล่งเรียนรู้ และ ท่องเที่ยวที่สำคัญ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติชุมชนเมือง แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่นในอดีต และ สมบัติทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ความสำคัญ เส้นทางการก่อร่างสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส

      โครงการส่งเสริมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ดูแลโดยคุณอุษณีย์ ธุวโชติ วัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส เป็นโครงการระยะยาวในการปรับปรุงซ่อมแซมศาลากลางหลังเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์ เริ่มต้นจากปี พ.ศ.2549 นายประชา เดชรัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้รับงบประมาณจากงบพัฒนาจังหวัดให้จัดสร้าง อาคารศาลากลางหลังใหม่ขึ้นบริเวณศูนย์ราชการ ต.โคกเคียน อ.เมือง จึงมีแนวคิดในการอนุรักษ์อาคารศาลากลางจังหวัดนราธิวาสหลังเดิม ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนพิชิตบำรุง ต.บางนาค อ.เมือง จึงดำริให้มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราว พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ประชาชนในจังหวัดนราธิวาส และ นักท่องเที่ยวจากทั้งใน และ ต่างประเทศ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจังหวัด       ปี พ.ศ. 2551 นายการันต์ ศุภกิจวิเรขการ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สานต่อเจตนารมณ์ โดยมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาสดำเนินการของบประมาณพัฒนาจังหวัดนราธิวาสปีงบประมาณ 2552       ปี พ.ศ. 2552 นายวินัย คุรุวรรณพัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ดำเนินการซ่อมแซมอาคารบางส่วน และ จ้างบริษัทที่ปรึกษาในการออกแบบห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และ ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างภายในห้องจัดแสดง บริเวณปีกขวาของอาคาร       ปี พ.ศ.2554 นายธนนท์ เวชกรกานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส ดำเนินการตกแต่งโครงสร้างภายในห้องจัดแสดง บริเวณชั้นบนของอาคาร ติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย ผลิต และ ติดตั้งชุดจัดแสดงภายในห้องแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ปีกขวาชั้นล่าง       ปี พ.ศ. 2556 นายอภินันท์ ซื่อฐานุวงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้สานต่อแนวคิดดังกล่าว จัดสรรงบประมาณดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงตกแต่งห้องจัดแสดง ผลิต และ ติดตั้งชุดจัดแสดงภายในห้องแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ชั้นบนให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบอาคารพิพิธภัณฑ์       ปี พ.ศ.2561 พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาสดำเนินการแล้วเสร็จเปิดให้บริการประชาชนเข้าชมเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ รวมใช้ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี 10 ห้องแสดงภูมินราและห้องนิทรรศการพิเศษ

      ในอาคาร 2 ชั้นของพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส มีรูปแบบเป็นนิทรรศการจำลองเสมือนจริง ประกอบด้วย 10 ห้องนิทรรศการถาวร และ นิทรรศการพิเศษ จัดแสดงนิทรรศการ เพียบพร้อมด้วยความรู้ ความตื่นตาตื่นใจด้วยสื่อเทคโนโลยีระบบมัลติมิเดีย ประกอบด้วยห้องจัดแสดงต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ห้องโถงทอภูมิผูกนรา เป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวความรักความผูกพันของคนนราธิวาส และ สถานที่สำคัญ วัฒนธรรมเด่นของจังหวัด 2. ห้องภูมิแผ่นดิน หรือ แผ่นดินสีเขียว แสดงเรื่องราวความภาคภูมิใจในแผ่นดินของชาวนราธิวาส และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ แร่ธาตุที่พบในนราธิวาส เรื่องราวของอุทยานแห่งชาติ บูโด-สุไหงปาดี แหล่งของใบไม้สีทอง หรือ ใบของต้นย่านดาโอ๊ะ อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ที่อำเภอตันหยงมัส ต้นกำเนิดของลองกองตันหยงมัส อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง ที่มีทั้งทะเล และ น้ำตกถึง 3 แห่ง มีจุดชมวิวบนยอดเขา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าพรุสิรินธร หรือ ป่าพรุโต๊ะแดง และ ถ้ำจำลองเหมืองทองโต๊ะโมะ อ.สิคิริน 3. ห้องภูมิหลัง จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดนราธิวาสตั้งแต่อดีต ซึ่งรู้จักกันในชื่ออาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งเมื่อล่มสลายลงก็มีอาณาจักรปัตตานีดารุสลามเข้ามาทดแทน ก่อนจะมาเป็นประเทศสยาม ซึ่งหลังจากได้รับการพระราชทานนาม “นราธิวาส” จังหวัดนราธิวาสในปัจจุบันมีอายุครบ 103 ปีแล้ว 4. ห้องการตั้งถิ่นฐาน และ ชาติพันธุ์ จัดแสดงเรื่องราวของชาติพันธุ์ต่างๆ ในนราธิวาสที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมลายู จีน ไทย อินเดีย และ โอรังอัสลี ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมของพื้นที่นราธิวาส ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอาศัยอยู่ในป่าในเขตพื้นที่อำเภอแว้ง อำเภอระแงะ และ อำเภอจะแนะ 5. ห้องภูมิชีวิต แสดงเรื่องราวการดำรงชีวิต วิถีชีวิตที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาหารพื้นบ้านท้องถิ่น และ การแต่งกาย

6. ห้องภูมิปัญญา แสดงมรดกภูมิปัญญาของบรรพชน ได้แก่ ศิลปะการทำเรือกอและ, ศิลปะภาพปัก,การทำบายศรีใบพลู หรือ บุหงาซีเระห์ และ งานหัตถกรรมจักสานเสื่อกระจูด 7. ห้องภูมิภาษา วรรณกรรม ภูมิศิลป์ จัดแสดงเรื่องราวของภาษาถิ่น วรรณกรรม, ตำนานพื้นบ้าน ศิลปะการละเล่นพื้นบ้าน, ศิลปะดนตรีพื้นเมือง และ ศิลปะวัตถุนาฏศิลป์
8. ห้องภูมิธรรม จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา พิธีกรรม และ ศาสนสถานที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส 9. ห้องภูมิบุคคล หรือ คนของแผ่นดิน จัดแสดงเรื่องราวประวัติของบุคคลสำคัญทางสังคมประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครองของจังหวัด เพื่อเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลผู้สร้างคุณประโยชน์แก่จังหวัด 10. ห้องภูมิเมือง แสดงผังเมือง แผนที่ รูปแบบสถาปัตยกรรม สถานที่สำคัญ เช่น มัสยิดตะโละมาเนาะ ที่อำเภอบาเจาะ

      นอกเหนือจากห้องนิทรรศการถาวรแล้ว ยังมีห้องภาพรำลึก, ห้องบรรยากาศเมือง แสดงการจำลองบรรยากาศเมืองทั้งปัจจุบัน และ อดีต และ ห้องบรรยายสรุป อีกทั้งยังมีห้องนิทรรศการพิเศษ ได้แก่ ห้องนราฯ เปี่ยมสุขเพราะพระบารมี จัดแสดงเรื่องราวความจงรักภักดีของชาวนราธิวาสที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย, ห้องนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และ มีนิทรรศการหมุนเวียน อาทิเช่น นิทรรศการ “ผ้าทอผ้าถิ่น” ที่แสดง แสดงองค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบและลวดลวยผ้าท้องถิ่นชนิดต่างๆ เป็นต้น       ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส ได้ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม โดยมีทั้งมัคคุเทศก์พิพิธภัณฑ์ และ มัคคุเทศก์จิตอาสานำชมนิทรรศการ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส โทร.0-7351-2207 และ เพจเฟซบุค : พิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาส Narathiwat City Museum

ความคิดเห็น