วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

Young Smart Farmer ผู้นำเกษตรกรยุคใหม่

 19 ส.ค. 2562 19:58 น.    เข้าชม 6409

      ช่วงหลังๆ กระแสหนึ่งซึ่งกำลังก่อตัวหนาแน่นขึ้นทุกขณะในวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ คือการกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ทำการเกษตรหล่อเลี้ยงชีวิต คนรุ่นใหม่นี้รวมทั้งคนที่เป็นลูกหลานเกษตรกร แต่พ่อแม่คาดหวังให้ทำอาชีพที่มั่นคงมีหน้ามีตาในสังคมมากกว่ารุ่นพ่อแม่ และคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เป็นลูกหลานเกษตรกร แต่ใฝ่ฝันที่จะใช้ชีวิตที่ออกจากกระแสหลัก และในทศวรรษที่ผ่านมา ทางภาครัฐก็ได้การตอบรับกับกระแสนี้เช่นกัน แนวคิด “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” เป็นวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ที่ 1 จาก 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ของ แผนพัฒนาการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11

Young Smart Farmer เกษตรกรรุ่น 4.0

      ปี 2557 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เริ่มการดำเนินการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Young Smart Farmer โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเกษตรกรให้มี ความสามารถด้านการเกษตร ทดแทนเกษตรกรผูู้งอายุ และสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพ เกษตรกรรม โดยนำเทคโนโลยีมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด จนเป็น เกษตรกรมืออาชีพท่ีเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับ

      กระบวนการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ เน้นหนักกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และ การสร้างเครือข่าย โดยให้เกษตรกรเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ ด้วยตนเอง” บนหลักการของการเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีส่วนร่วม และการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และ มีเจ้าหน้าที่่ส่งเสริมการเกษตรเป็น “ผู้จัดการเรียนรู้”

      จากการดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ทำให้เกิดเครือข่าย Young Smart Farmer เขต 5 ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่พื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ซึ่งมีเกษตรกรรุ่นใหม่ตัวอย่างทั้งที่มาจากครอบครัวเกษตรกรดั้งเดิมแต่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการตลาด และเป็นคนที่ใช้ความรู้ใหม่ที่ร่ำเรียนจากการศึกษาในระบบมาลงมือทำที่บ้านเกิด

สร้างเครือข่าย เชื่อมโยงชุมชน ยกระดับสินค้าเกษตรสู่ตลาดยุค 4.0

      กรมส่งเสริมการเกษตรได้ต่อยอดองค์ความรู้จากการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเริ่มดำเนินการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่และยุวเกษตรกรในพื้นที่ ได้มาศึกษาหาความรู้ ฝึกปฏิบัติจริงในแปลงเรียนรู้ เป็นแหล่งเชื่อมโยงเกษตรกรต้นแบบ แหล่งถ่ายทอดความรู้เฉพาะด้านทุกสาขาการเกษตร สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรม หลักการธุรกิจเกษตร การผลิต การแปรรูป และการตลาด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่และเพิ่มช่องทางการตลาดให้เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่อีกด้วย

      ซึ่งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่นี้ จะมีเกษตรกรรุ่นใหม่ต้นแบบ เป็นเจ้าของศูนย์ ซึ่งต้องผ่านคุณสมบัติต่างๆ ได้แก่ มีจิตอาสา จิตสาธารณะ ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ มีความรู้เฉพาะด้าน สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ เป็นผู้นำด้านเกษตร 4.0 เป็นต้น ที่สำคัญจะต้องมีความเป็นผู้ประกอบการ กล่าวคือสามารถผลิต แปรรูป และมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์ ต่างๆของตนเอง ในส่วนของสถานที่ตั้งศูนย์ จะประกอบไปด้วย แปลงเรียนรู้ สถานที่แสดงสินค้า (Show Room) ของเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ การคมนาคมสะดวก เข้าถึงได้ง่าย รวมถึงมีสถานที่สำหรับการเจรจาธุรกิจ

Young Smart Farmer Academy จังหวัดสงขลา

      ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer จังหวัดสงขลา ถือเป็นศูนย์บ่มเพาะที่เปิดตัวเป็นแห่งแรกของประเทศ และมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ตามมา อีกถึง 77 แห่งในปัจจุบัน เป้าหมายคือให้ศูนย์บ่มเพาะฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่าย YSF ในแต่ละพื้นที่ มีการวางแผนการทำงานและเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถขยายผลการทำงานออกไปเป็นศูนย์เครือข่ายย่อย สู่พื้นที่ชุมชน ทั้งในระดับอำเภอ และระดับตำบล ศูนย์บ่มเพาะ ยังเป็นศูนย์กลางสนับสนุนการสร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ และศูนย์กลางในการขยายเครือข่ายแนวร่วมเกษตรกร รุ่นใหม่ให้กระจายไปสู่ชุมชนฐานรากและพื้นที่ส่วนย่อยของแต่ละชุมชน ที่กำลังมีการขยายตัวมากขึ้นในขณะนี้

      ปัจจุบันศูนย์บ่มเพาะของจังหวัดสงขลา ได้ขยายผลการสร้าง เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ลงลึกไปสู่ชุมชนย่อยในระดับอำเภอ และระดับตำบลได้อย่างกว้างขวาง มีเกษตรกรรุ่นใหม่ในจังหวัดสงขลาเห็นความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

      ซึ่งในปี 2562 มีลูกหลานเกษตรกรในพื้นที่ สมัครและผ่านเกณฑ์เข้ามาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่เพิ่มอีก 48 คน รวมปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านเกณฑ์ทั้งสิ้น 149 คน และยังมีลูกหลานเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้ารับการอบรมพัฒนาอีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าจะมีมากกว่า 30 คน ที่จะพัฒนาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ในปีหน้า

ความคิดเห็น