วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

เกษตรช่างคิด วิถียั่งยืน ปลานิลสายน้ำไหล

 19 ส.ค. 2562 20:16 น.    เข้าชม 5564

      อำเภอเบตง เป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ของจังหวัดยะลา ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทยอยู่ในแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ทำให้ที่นี่มีอากาศเย็น อากาศดีมีหมอกแทบตลอดทั้งปี ส่วนนี้นี่เองที่ทำให้พื้นที่เบตงนั้นมีความโดดเด่นในการทำเกษตรกรรม ทั้งการทำสวนผลไม้ สวนกาแฟ ยางพารา และ การเลี้ยงปลา คุณสันติชัย  จงเกียรติขจร เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ที่เคยกรีดยางพาราเป็นรายได้หลัก แต่ 2-3 ปีมานี้รายได้จากยางพาราในช่างตกต่ำเสียเหลือเกิน ทำให้เขาต้องผันตัวเองมาเลี้ยงปลานิลแทนการทำอาชีพกรีดยาง ฟาร์มปลานิลของคุณสันติชัย เริ่มต้นจากลงปลานิล 500 ตัวในพื้นที่บ่อ 600 ตารางเมตร บ่อใหญ่สุด 4 เดือนจับขายที่ขนาดตัวละ 1 กก. จากนั้นจึงขยายเพิ่มบ่อเพิ่มขึ้นเรื่อย ปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงปลานิลของ คุณสันติชัย ที่มีเนื้อที่เพียงพื้นที่ 3 ไร่ สามารถเลี้ยงได้ถึง 40,000 ตัว

      "ปลานิล" ได้กลายเป็น "ปลาเศรษฐกิจ" ของไทยที่มีชื่อเสียง สร้างรายได้ สร้างอาชีพ อีกทั้งพบข้อมูลว่า ในปี 2560 ผลผลิตปลานิลจากการเพาะเลี้ยง มีปริมาณรวมกันมากถึง 185,902 ตัน และในปี 2561 จำนวนปลาที่ออกสู่ท้องตลาดเพิ่มขึ้นประมาณ 2% อยู่ที่ราว 189,254 ตัน โดยมีตลาดหลักคือกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแบ่งออกเป็น 33.6 %  สหรัฐอเมริกา 28.6 % กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปอยู่ที่ประมาณ 24.9% กลุ่มอัฟริกา 2.7 % แคนาดา 2.5% และกลุ่มอาเซียนอยู่ที่ 2.5 % โดยเกาหลีใต้ 2.3% และประเทศอื่นๆ 2.9% มูลค่าการส่งออกยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ระบบสายน้ำไหล ภูมิปัญญาจากการสังเกตธรรมชาติ

      กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา มีระบบการเลี้ยงที่แปลกแตกต่างจากฟาร์มปลานิลในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการเลี้ยงด้วยระบบสายน้ำไหลธรรมชาติ ทำให้ปลานิลที่นี่ไม่มีกลิ่นดิน กลิ่นโคลนในเนื้อปลาแม้แต่นิดเดียว ระบบน้ำจึงเป็นความได้เปรียบ ด้วยความที่เป็นน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากภูเขาน้ำใสไหล และ มีความเย็น บ่อที่ใช้เลี้ยงไม่ลึกมาก เนื่องจากถ้าน้ำลึกปลาจะโตช้า ระบบน้ำหมุนเวียนจะใช้ท่อขนาดใหญ่ต่อด้วยท่อเล็กลงสองระดับ เพิ่มให้น้ำที่ไหลออกมามีความแรง เพิ่มออกซิเจนในน้ำ และ เป็นการกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้มากขึ้น และ วิธีการจัดการการเลี้ยงปลาที่มีนวัตกรรมการเลี้ยงปลาแบบระบบหนาแน่น พื้นที่ประมาณ 100 ตารางเมตรเลี้ยงปลา 6,500 ตัว  มากกว่าการเลี้ยงในแบบของกรมประมงหลายเท่าตัว ถ้าเป็นการเลี้ยงในรูปแบบของกรมประมง ในพื้นที่ 1 ไร่จะเลี้ยงปลาประมาณ 2,500 ตัว 

      ชนธัญ นฤเศวตตานนท์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปี 2559 ผู้รวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน เพื่อมาเลี้ยงปลานิลระบบสายน้ำไหลผ่าน จนกลายมาเป็นหมู่บ้านปลา ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ให้การสนับสนุนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม เศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" อธิบายถึงที่มาของระบบการเลี้ยงปลาแบบสายน้ำไหล ว่าเกิดจากการสังเกตพบว่า ตามธรรมชาติแล้วปลาที่แข็งแรงจะหาจุดที่น้ำไหลตกใส่ ซึ่งเป็นจุดที่มีออกซิเจนในน้ำปริมาณมาก ปลาจะมาชุมนุมกันอยู่ ณ จุดนั้น เกษตรกรจึงเลียนแบบธรรมชาติ ทำให้น้ำตกใส่ในบ่อเลี้ยงปลา โดยมีการออกแบบระบบน้ำให้มีการไหลและหมุนเวียน

      การจัดทำระบบน้ำจะใช้ท่อขนาดใหญ่ต่อน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสะอาดเย็นอุณหภูมิประมาณ 19-20 องศาเซลเซียส ต่อท่อที่ขนาดเล็กลงก่อนจะไหลลงกระทบผืนน้ำในบ่อเลี้ยงปลา ทำให้เกิดการเติมออกซิเจนลงไป และมีการระบายน้ำออกจากบ่อสม่ำเสมอ โดยหมุนเวียนไปในบ่อเลี้ยงปลาบ่ออื่นๆ ที่จัดเรียงตัวลดหลั่นกันไปเป็นขั้นบันได ก่อนจะลงในบ่อบำบัดเป็นบ่อสุดท้ายก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งจากการตรวจวัดค่าไนโตรเจนในน้ำพบว่าน้ำปลายทางคุณภาพแทบไม่ต่างจากต้นทาง เมื่อน้ำสะอาดปลาก็สามารถเติบโตได้ดี ปริมาณปลามากแค่ไหนก็ไม่ส่งผลกระทบ สามารถเลี้ยงในระบบหนาแน่นได้ แต่อยู่ในอัตราที่ไม่มากเกินไป โดยบ่อขนาด 40 ตารางเมตร ปล่อยปลา 13,000 ตัว ปลาเติบโตดี มีเนื้อเยอะ ไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งคุณลักษณะนี้ทางกลุ่มกำลังเตรียมข้อมูลและเอกสารเพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ให้กับปลานิลเบตง ในขณะที่บ่อเลี้ยงปลาทั่วไปที่น้ำไม่มีการไหลเวียนและมีอุณหภูมิสูงทำให้เกิดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินซึ่งเมื่อปลากินสาหร่ายนี้เข้าไปทำให้เนื้อปลามีกลิ่น

พัฒนาจากภูมิปัญญา อยู่ได้อย่างยั่งยืน

      กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อนมีสมาชิกที่เลี้ยงปลาในระบบสายน้ำไหลอยู่ 8-10 ราย ฟาร์มของทางกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ของกรมประมง จัดตั้งเป็นหมู่บ้านปลาในสายน้ำไหล (Fillage) ในด้านการตลาดทางกลุ่มส่งปลาขายให้กับร้านอาหารในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา รายได้รวมกันในปี 2560 มีมูลค่า 10 ล้านบาท โดยแต่ละรายส่งขายประมาณวันละ 200 กก. กิโลกรัมละ 90-100 บาท และกำลังก้าวสู่ตลาดการส่งออก โดยมีกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง ประสานงานนักธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาลงทุนแล่เนื้อปลา ผ่านกระบวนการแช่แข็งที่ทันสมัย และส่งออกไปยังตะวันออกกลางและฝรั่งเศส ส่วนปลาตกไซส์หรือปลาที่ไม่ได้นำหนักปัจจุบันนำมาแปรรูปเป็นปลานิลแดดเดียว ปอเปี๊ยะขลุ่ยปลานิล ออกจำหน่ายเป็นสินค้าโอทอป และที่ร้านกาแฟที่ อ.อัยเยอร์เวง ก็ได้มีการนำเนื้อปลานิลที่นี่ไปทำหน้าพิซซ่าอีกด้วย ปลานิลเบตง จึงกลายเป็นปลาที่สร้างชื่อให้จังหวัดยะลาไม่แพ้ไก่เบตงแล้ว

      ซึ่งนอกจากการเลี้ยงปลานิลแล้วในปัจจุบันได้มีการเลี้ยงปลาจีน และ ปลากือเลาะห์ หรือปลาพวงชมพู ปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงปลาคาร์ฟ ปลาสวยงาม เพื่อเลี้ยงส่งให้ฟาร์มปลาในภาคกลางด้วย จากเดิมที่เกษตรกรฝากชีวิตไว้กับเกษตรเชิงเดี่ยวคือยางพาราเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันการเลี้ยงปลาที่เคยเป็นอาชีพเสริมกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัวไปแล้ว โดยมีรายได้จากสวนยางพาราและสวนผลไม้เป็นรายได้เสริม นี่คือ ความสำเร็จของการทำเกษตรแบบช่างคิด เข้าใจธรรมชาติ ลองผิดลองถูก ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น เป็นความพอเพียงที่ไม่ใช่ทำแล้วรวยเดียวนั้น แต่ทำแล้วจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ความคิดเห็น