วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

แกตออีแก เศรษฐกิจฐานรากท้องถิ่นชายแดนใต้

 19 ส.ค. 2562 20:23 น.    เข้าชม 2003

      ตลาดสดในยามเช้าไม่ว่าแห่งหนตำบลใด ภาพที่เห็นเจนตาคือบรรยากาศของความคึกคักในการซื้อหาจับจ่ายของชาวบ้านร้านตลาด เช่นเดียวกันกับ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลาดสดขนาดใหญ่ในเมืองหรือตัวอำเภอเป็นแหล่งรวบรวมอาหารที่หลากหลายของคนในแถบนี้ สินค้ามาจากหลายพื้นที่ ผัก ผลไม้นอกจากในพื้นที่แล้ว ยังมาจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น นครศรีธรรมราช ส่วนอาหารทะเลก็มาจากจังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นพื้นที่ติดน่านน้ำทะเลอ่าวไทย ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลามากมาย
      ชาวบ้านที่อยู่ละแวกใกล้เคียงกับตลาด เลือกที่จะมาซื้ออาหารด้วยตัวเอง เพราะสามารถเลือกซื้อตามต้องการได้ แต่มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่อยู่ห่างไกลจากตลาด ไม่สามารถเดินทางมาซื้อหาได้สะดวก เช่น ชาวบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในชุมชนที่ประกอบอาชีพในการทำสวนยาง พวกเขาจึงเลือกที่จะฝากความหวังอาหารในแต่ละวันไว้กับรถเร่ หรือรถตลาด เรียกเป็นภาษามลายูว่า แกตออีแก ซึ่งหมายถึงรถกระบะที่เปิดท้ายขายของ หรือมอเตอร์ไซค์พ่วงที่เรียกว่า โชเล่ย์ ซึ่งช่วงเช้ามืดทุกๆ วันรถเร่เหล่านี้จะมาจอดซื้ออาหรกันอย่างคึกคัก ก่อนจะนำสินค้าของสดหรือของแห้ง ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ มาจัดเรียงใส่ถุง ตะกร้า ลังน้ำแข็งให้เรียบร้อย ก่อนออกเดินทางเร่ไปขายตามชุมชนต่าง ๆ

รถเร่ กลไกเชื่อมโยงห่วงโซ่เศรษฐกิจฐานราก

      โดยส่วนใหญ่แล้วคู่พ่อค้าแม่ค้ารถกับข้าว มักจะเป็นคู่สามีภรรยา (หรือบางคันอาจจะเป็นญาติกัน) ตัวสามีจะเป็นคนขับรถและมีภรรยาคอยขายของอยู่หลังกระบะ ท้ายกระบะนั้นค่อนข้างมีที่จำกัด การซ้อนทับของมากเกินไปอาจทำให้สินค้าบางชนิดช้ำได้ ทำให้การเกี่ยวแขวนถุงในแนวตั้งคือวิธีแก้ปัญหาที่นิยม ซึ่งการแบ่งของเป็นถุงๆ ห้อยไว้นั้นเพื่อเป็นการแบ่งประเภทของสินค้าและกำหนดราคาขายไปในตัว อันเป็นการสร้างความสะดวกให้แก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในการคำนวณราคาและชำระค่าสินค้าที่ซื้อไป       ลักษณะการบรรจุสินค้าเป็นถุงๆ แขวนห้อยที่ข้างรถในลักษณะเป็นพวงๆ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกรถเร่ชนิดนี้ว่า รถพุ่มพวง ซึ่งในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ยังมีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปอีกตามบริบททางภาษา ทางภาคอีสานบ้างก็เรียกรถตลาด รถพุ่มพวง หรือบางพื้นที่เรียก รถโตงเตง ตามภาพข้าวของที่ห้อยแกว่งโตงเตงไปมา ส่วนทางภาคเหนือ ทางจังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า กาดอ๊อดอ๊อด คำว่า กาด คือตลาด ส่วนคำว่า อ๊อดอ๊อด เป็นเพราะรถเร่มักมีลำโพงหรือเสียงแตรบอกสัญญาณเรียกคนในชุมชนออกมาซื้อหาสินค้า แกตออีแก ตลาดเคลื่อนที่จังหวัดชายแดนใต้

      สินค้าบนรถเร่มีความหลากหลายไม่แพ้สินค้าในตลาด ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลทุกชนิด ข้าวสาร อาหารแห้ง และสินค้าตามที่มีคนสั่งมา เพราะนอกจากการเร่ขายตามหมู่บ้านแล้ว รถเร่ยังมีบริการส่งอาหารสดให้กับลูกค้าร้านอาหารหรือร้านชำตามชุมชน ซึ่งลูกค้าล้วนพอใจในบริการของแกตออีแก ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และได้อาหารสดทุกวัน ไม่ต้องเก็บสต๊อคไว้ ต่างคนต่างพึ่งพากัน กระจายรายได้ นอกจากนี้รถตลาดยังเป็นเหมือนจุดเชื่อมของชาวบ้านผู้ขายวัตถุดิบกับร้านค้าชุมชน ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านหมู่บ้านหนึ่งจับตั๊กแตนมาขายให้กับรถเร่ ร้านชำอีกหมู่บ้านหนึ่งซื้อตั๊กแตนไปปรุงสุกขายให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นอีกที เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจของชุมชน นอกจากนี้บริการเสริมที่พ่วงมา เช่น ขอดเกล็ดปลาให้ แล่เนื้อให้ ปิ้งไก่ให้ ปอกผลไม้ให้ หรือกระทั่งการให้ลูกค้าเชื่อหรือจดค่าของไว้ก่อนได้       “รุ่นพ่อสมัยก่อนเวลาจะกินอะไรลำบากมาก ต้องออกไปที่ตลาดนัดยี่งอ ต้นไทร กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็เที่ยงแล้ว ปลาก็เน่าเสียก่อน เดี๋ยวนี้สบายมาก ซื้อกินได้ วันหนึ่งไม่ถึง 100 บาท” นี่คือเสียงสะท้อนจากชาวบ้านบราแง อำเภอบาเจาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลจากเมือง แต่มีรถเร่ที่รับของจากตลาดสดตันหยงมัส แล่นผ่านเพื่อไปยังจุดหมายในอำเภอระแงะ และนอกจากขายตามร้านค้าระหว่างทางและบ้านเรือนชุมชน อาหารกลางวันของนักเรียนและคุณครูของโรงเรียนในแต่ละชุมชนก็เป็นลูกค้าอาหารสดของรถแกตออีแกเช่นกัน เศรษฐกิจแห่งความเกื้อกูล

      ปัจจุบันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรถเร่ขายอาหารตามหมู่บ้านอยู่เกือบทุกพื้นที่ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ที่กระจายตามหมู่บ้าน คอยอำนวยความสะดวกให้กับคนในชุมชน ความมั่นคงของอาชีพพ่อค้ารถเร่แกตออีแก ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของชุมชน ถ้าราคายางสูงกว่ากิโลกรัมละ 30 บาท ก็อุ่นใจได้ว่า ชาวบ้านจะมีรายได้ซื้อหาสินค้าอาหารจากรถเร่ได้ แต่ถ้าราคายางต่ำกว่า 20 บาท ก็น่าเป็นห่วงทั้งชาวบ้านและพ่อค้า บางวันขายหมดก็พอได้กำไร บางวันของเหลือก็ขาดทุน รายได้พออยู่ได้       ในภาวะเศรษฐกิจที่ทุนขนาดใหญ่รุกเข้าตลาดรายย่อย ร้านโชห่วยสูญพันธุ์ไปแล้ว ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ ออกรถขายของเคลื่อนที่ “รถเร่” ในเมืองกรุงรูปแบบเดียวกับรถขายกับข้าว “รถพุ่มพวง” แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รถเร่แกตออีแก ยังคงเป็นดั่งซูเปอร์มาร์เก็ตเคลื่อนที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิม ไม่ต้องเดินทางไกล ประหยัดเวลา และซื้อได้ในราคามิตรภาพ เป็นทั้งความหวังและความผูกพัน และที่สำคัญเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากเกิดการหมุนเวียน การกระจายรายได้ให้กับชุมชน

ความคิดเห็น