วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

ครูสุนันต์ สะซีลอ ก้าวที่กล้า ห้องเรียนอิสลามในศตวรรษที่ 21

 19 ส.ค. 2562 20:30 น.    เข้าชม 2516

      เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ปอเนาะ คนโดยมากมักจินตนาการถึงภาพของโรงเรียนสอนศาสนาที่เคร่งขรึม บางคนคิดว่าเป็นที่รวมของกลุ่มคนหัวรุนแรง เป็นโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาศาสนา ไม่สอนวิชาสามัญ หลายคนคิดไปว่ามีแต่ครูหนวดเครารุงรังหน้าตาไม่รับแขก กับเด็กที่ไร้รอยยิ้ม ภายใต้ผ้าคลุมหน้า แต่ภาพความจริงของห้องเรียนอิสลามในศตวรรษที่ 21 ที่โรงเรียนศาสนศึกษา ตะปิ้ง (สายะ) สายบุรี ปัตตานี นั่นแตกต่างออกไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และแววตาที่เป็นประกายแห่งความสุข แต่ก่อนที่เราจะได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างที่เห็นในปัจจุบัน โรงเรียนศาสนศึกษาก็ไม่ต่างจากปอเนาะทั่วไปที่ครูเป็นผู้ส่งความรู้ด้วยการบรรยายหน้าห้อง เด็กเรียนหนักถึงวันละ16 หมวดสาระ ทั้งวิชาศาสนาและสามัญจนไม่เหลือรอยยิ้มบนใบหน้า ครูหมดความสุขจากงานสอนที่มากมายจนไม่เหลือเวลาสร้างสรรค์  ก้าวที่กล้า สู่ทีมงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง

      จุดเปลี่ยนเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2558 ผู้บริหารโรงเรียนคนใหม่ อัสมะ หะยีมอหะมะสอและ ผู้หญิงนักการศึกษาที่ได้ออกไปเรียนรู้เชื่อมโยงกับโลกภายนอก จึงคิดถึงการเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ทันกับโลกในศตวรรษใหม่ แต่ยังคงรักษารากคำสอนของศาสนา อันเป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เอาไว้ดังเดิม สุนันต์ สะซีลอ ครูวิทยาศาสตร์หนุ่มหัวก้าวหน้า ผู้มีศรัทธาและเป้าหมายในความเป็นครู อยากเห็นโอกาสและความงอกงามเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเด็กๆ ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จึงก้าวเข้ามารับหน้าที่สร้างห้องเรียนบูรณาการแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะทำให้ลืมภาพของโรงเรียนสอนศาสนาแบบเดิม เปลี่ยนเป็นห้องเรียนที่มีชีวิต มีความสุข และไม่มีเด็กคนไหนถูกปล่อยทิ้งไว้       ครูสุนันต์ เริ่มสร้างสรรค์ทั้งในเรื่องหลักสูตรการเรียนและการสร้างทีมงานห้องเรียนบูรณาการ เขาหาทีมงานรุ่นบุกเบิกโดยใช้วิธีในการสังเกตดูว่า ครูคนไหนกลับบ้านเย็นที่สุด ใครนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะในขณะที่คนอื่นกลับบ้านกันหมดแล้ว จึงเข้าไปทาบทามมาร่วมทีมงานและได้ครูหนุ่มสาวอยู่ประมาณ 5-6 คน เข้าร่วมทีมที่พร้อมจะสละเวลาเพื่อเปลี่ยนแปลงห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนที่สนุกมีชีวิตชีวา และเชื่อมั่นว่าเด็กสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีศักยภาพมากพอ

      อิสลาม ไม่เพียงสอนให้มนุษย์มีความรักในความรู้เท่านั้น แต่อิสลามยังเรียกร้องให้ทุกคนแสวงหาความรู้ เมื่อครูทุกคนในทีม คือ ผู้บุกเบิกถางทาง พวกเขาจึงแสวงหาความรู้ใหม่ไปพร้อมกัน คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน และฝ่าข้ามคำถามและความกลัวต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน สิ่งที่พวกเขากลัวและกดดันมากที่สุด คือกลัวว่าสังคมจะมองว่าโรงเรียนปอเนาะ แต่ทำไมมีการสอนแบบบูรณาการ จะว่าเราเป็นครูที่ ‘นอกรีต’ แต่แท้จริงๆแล้วศาสนานั้นสามารถแทรกอยู่ในทุกกลุ่มสาระวิชา ห้องเรียนที่ไม่มีหน้าห้องและหลังห้อง เปลี่ยนความอายให้เป็นความกล้า

      จากห้องเรียนแบบเก่าที่เน้นการบรรยายสอนหนังสือ ให้โจทย์ ให้เด็กทำแบบฝึกหัด เด็กที่นั่งด้านหน้าจะได้รับความเอาใจใส่มากกว่าเด็กหลังห้อง แต่ในห้องเรียนบูรณาการเด็กจะนั่งเรียนแบบโต๊ะกลม นั่นแสดงว่าไม่มีเด็กหลังห้อง ห้องสี่เหลี่ยมสามารถเป็นหน้าชั้นเรียนได้ทั้งหมด เด็กสามารถแสดงความคิดเห็นหรือความสามารถของเราอย่างเต็มที่ และเด็กมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับครูตัวต่อตัวได้       ห้องเรียนบูรณาการเน้นการตั้งปัญหาให้เด็กให้ฝึกคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ในทุกคาบครูจะฝึกให้เด็กนำเสนอชิ้นงานของตัวเอง แม้จะเป็นชิ้นงานง่ายๆ ครูจะคอยกระตุ้นและทลายกำแพงของนักเรียนให้กล้านำเสนอความคิดเห็นของเขาบนเวทีที่เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่เขารู้สึกว่าปลอดภัย ให้เขาได้แสดงบทบาท จากที่ไม่กล้าแสดงออกก็กล้าแสดงออกมากขึ้น เกิดความมั่นใจในตัวเอง

รางวัลของคนเป็นครู

      ในห้องเรียนบูรณาการ ครูจะใช้พลังกลุ่มในการจัดกระบวนการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ การที่นักเรียนสามารถเดินก้าวข้ามผ่านข้อจำกัด สามารถสื่อสารถ่ายทอดงานที่เขาทำให้กับคนอื่นได้ รอยยิ้มของนักเรียนในทุกๆ วัน เป็นเสมือนรางวัลให้คนเป็นครู เป็นคำตอบว่าการเปลี่ยนห้องเรียนแบบเดิมๆ มาเป็นห้องเรียนแบบบูรณาการนำความเปลี่ยนแปลงได้จริง อับดุลซาลาม เด็กชายวัย 14 คือหนึ่งในรางวัลแห่งความเพียรและการทุ่มเทอุทิศตนของครูทุกคน

      ดูจากภายนอกแล้วอับดุลซาลามก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป ยากที่จะรู้ว่าเขาเคยอยู่ในโลกของความกลัวและหวาดระแวง ไม่สื่อสารกับเพื่อน ไม่ตอบสนองต่อการสอนของครู จากเหตุการณ์ในอดีตที่พ่อแม่ถูกยิงเสียชีวิต โดยใช้อ้อมกอดปกป้องลูกชายเล็กๆ ไว้ โลกอันสดใสของอับดุลซาลามสูญสลายไปพร้อมกับลมหายใจของผู้ให้กำเนิด อับดุลซาลามหลีกเร้นเข้าไปอยู่ในโลกที่แทบไม่มีใครเข้าถึง จนเขาได้ข้ามฝั่งมาที่ห้องเรียนบูรณาการ การจัดห้องเรียนที่ทำให้เขาต้องนั่งหันหน้าเข้าหาเพื่อน และการเยียวยาด้วยความรักความเมตตาความอาทรของครู ได้นำแสงสว่างอันอบอุ่นมาสู่ชีวิตของเด็กชายอีกครั้งหนึ่ง โรงเรียนและห้องเรียนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนกับครอบครัวบ้านหลังที่สองของเขา และการปรากฏตัวของอับดุลซาลามบนเวทีการแสดงจึงเปรียบเสมือนการได้รับคำอวยพรจากพระเจ้าสำหรับครูทุกคน

เธอมีฉันและฉันมีเธอ

      การที่มนุษย์คนหนึ่งจะเติบโตงอกงามเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ได้เราก็เป็นศิษย์มีครูในความทรงจำและความหมายที่แตกต่างกันออกไปครูที่สอนให้ยกระดับจิตใจเพื่อรับใช้สังคมครูที่เป็นกัลยาณมิตรคนให้เป็นมนุษย์ปัญญาและคุณธรรมครูผู้ที่ทำให้เราได้พบกับเป้าหมายที่สูงส่งและงดงามและศิษย์จึงนับว่าเป็นพวกเติมเต็มและเป็นของขวัญให้กันและกันตลอดมา  “เชื่อเสมอว่าครูสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ นิยามความเป็นครูสำหรับผม คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงของเด็ก ที่ดีอยู่แล้วต้องต่อยอด ที่มีปัญหาต้องช่วยเขาแก้ไข ให้ดียิ่งขึ้น ดีรอบด้าน มีวิถีทางที่ดีและถูกต้องในการเดินต่อไปในอนาคตของเขา...วันนี้ครูดีใจที่มีเธอ และเธออยู่กับครูในทุกๆ วัน” ครูสุนันต์ สะซีลอ กล่าวอย่างเชื่อมั่นและศรัทธา

ความคิดเห็น