วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

ปั้นดิน ปั้นคน ที่ศูนย์การเรียนรู้ บ้านพอตเตอร์เฮ้าส์

 19 ส.ค. 2562 21:25 น.    เข้าชม 6760

      อาชีพเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ มุ่งหน้าสู่เมือง หรือ โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อทำงานเลี้ยงชีพ ทิ้งงานทางด้านเกษตร งานฝีมือ และ ภูมิปัญญาในท้องถิ่น บางคนมองว่าเป็นงานที่เหนื่อย และไร้อนาคต เมื่อคนออกจากบ้านหลั่งไหลเข้าไปทำงานในเมือง หรือ ต่างถิ่น  ทำให้อาชีพที่เป็นงานฝีมือดั้งเดิมลดน้อยถอยลง ซึ่งไร้การต่อยอด แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ลุงผดุงเกียรติ รัตนศรี ช่างปั้นเซรามิคแห่งควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ผูกพันซึมซับอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็ก อยู่กับดิน และ เตาเผาจนต่อยอดมาเป็นอาชีพ จากดินธรรมดาใส่ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นงานที่สร้างรายได้  จากอาชีพงานฝีมือภูมิปัญญามีการปรับตัว สร้างอาชีพให้ทันกับยุคสมัย ก่อนส่งต่อความรู้เป็นแนวทางอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่  

ช่างปั้นจากนครชัยศรี สู่ควนลัง จ.สงขลา

      ผดุงเกียรติ รัตนศรี หรือ ลุงผดุง เกิด และ เติบโตมาในครอบครัวที่ทำเครื่องปั้นดินเผาแห่งนครชัยศรี รุ่นสู่รุ่นจากปู่ย่าตายาย 100 ปี ทำต่อๆ กันมา จึงคุ้นเคยกับงานปั้น เพราะเกิดมาก็เห็น และ มีใจรักเป็นพื้นฐาน แม้ไม่ได้เรียนจบมาโดยตรง โดยช่วงเป็นวัยรุ่นได้ไปเรียนการทำเครื่องหนังในกรุงเทพฯ จบมาไปทำงานเครื่องหนังอยู่ 2-3 เดือน แล้วก็กลับมาช่วยแม่ทำกระถางที่บ้าน เรียนแรก ๆ รูปร่างทื่อๆ ไม่เป็นทรง ฝึกปั้นมาเรื่อยๆ  กว่าจะชำนาญก็ใช้เวลาหลายปี สามารถเป็นรูปเป็นร่างจนได้

      ปี พ.ศ. 2530 ลุงผดุงได้เดินทางลงใต้กับอาชีพงานปั้นมือที่ติดตัวมา สานต่องานปั้นเป็นรุ่นที่ 5 และ ลงหลักปักฐานที่ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จากนั้นลุงผดุงเริ่มตั้งโรงงานเล็กๆ ที่ อ.ควนลัง แรกเริ่มเดิมทีทำหม้อดินเผา ภาชนะใช้สอยในบ้าน ตุ่มน้ำ หม้อ อ่าง ในยุคปัจจุบันหันมาทำงานคราฟต์ เคลือบเซรามิค ของตกแต่งของใช้ ดินที่เคลือบแล้วจะแข็งแรงทนทาน มีความสวยงาม และ ประโยชน์ใช้สอยมากกว่า ก็เลยหันมาทำงานลักษณะนี้ จนพัฒนา และ เรียนรู้การทำเซรามิก เพื่อให้งานที่ทำมีความหลากหลายเป็นที่ต้องการของตลาด 

คุณค่าแห่งงานมือ

      “การปั้นงานแต่ละชิ้นใช้เวลาไม่นานครับ ในการคิดรูปแบบ และ รูปทรง หลังจากนั้นก็นำไปตากแห้ง และนำไปเผา สีที่ใช้เคลือบคือสีที่บดมาจากขี้เถ้าไม้ เวลาจะใช้ จะกวนให้เข้ากัน งานปั้นที่ตากแห้ง และ เผามาแล้วนำมาจุ่มน้ำสีก่อนจะเผาอีกครั้ง ถ้าเผาคนละบรรยากาศก็ได้สีต่างกัน งานพวกนี้แล้วแต่ใจคนชอบ ใจเราชอบ ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อยากให้มันอยู่  งานคือ งานชิ้นเดียว ทำซ้ำไม่เหมือน เพราะการให้สีเคลือบขึ้นอยู่กับจังหวะของไฟ ถ้ามาสั่งให้ทำให้เหมือนเดิม อาจจะทำไม่ได้ จากดินก้อนเดียวก็จะได้หลายรูปทรง หลายรูปแบบ ทรงผอม ทรงอ้วน งานพวกนี้จะไม่มีแบบร่าง คิดจากสมอง ถ่ายทอดถึงมือออกมาเลย จินตนาการสำคัญ ปั้นได้ บังคับดินได้ ไม่มีจินตนาการงานก็ไม่เกิด”

      ชิ้นงานที่ดูเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความอ่อนโยนที่ถ่ายทอดความรู้สึก ศิลปะ และ เอกลักษณ์ของคุณลุงไว้บนผลงาน ผลงานที่มีค่า และ ประทับใจที่สุดของคุณลุง คือ ผอบแป้งที่ได้ไปปั้นสาธิตต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2534 พระองค์ทรงลงลายพระหัตถ์ลงบนผอบแป้ง ลุงผดุงดีใจมากก็เอามาแต่ง และ เคลือบ เก็บไว้เป็นที่ระลึก ด้วยความปลาบปลื้มและ ภูมิใจ และ ลุงผดุงยังได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินดีเด่นจังหวัดสงขลา ประจำปี 2559 สาขาช่างฝีมือ โดยได้รับคัดเลือกจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา

      กิจการงานปั้นของลุงผดุงเกียรติเติบโต และ เป็นที่รู้จัก กลายเป็นที่ต้องการของตลาดจนถึงทุกวันนี้ ภายใต้ แรนด์ "พอตเตอร์ เฮ้าส์ ผลงานของลุงผดุงได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งใน และ ต่างประเทศ เน้นเป็นงานปั้นมือเป็นหลัก มีความสวยงามพร้อมประโยชน์ใช้สอย สินค้าส่งออกไปยัง อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ งานบางส่วนก็ยังใช้เครื่องจักร และ อุปกรณ์ และ ฝึกคนงานให้ทำ เพราะถ้าเป็นแฮนด์เมดทั้งหมดทำไม่ทัน มีบล็อค มีแม่พิมพ์ การส่งออก ขนาด น้ำหนักต้องใกล้เคียง การแพคส่งจะได้ไม่มีปัญหา

      “งานคราฟต์แล้วแต่คนชอบ ไม่เหมือนงานอุตสาหกรรม ทำแบบที่เราอยากทำ คนที่มีจิตใจเดียวกัน การล้มเลิกของผู้ผลิตก็อยู่ที่ความตั้งใจ และ แนวคิดการออกแบบให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ให้มีความร่วมสมัย รักษาคุณภาพงาน จึงจะอยู่ได้ เมื่อก่อนจานที่เราออกแบบขึ้นมา คนจะไม่รู้ว่าใช้ยังไง ใช้ใส่อะไร แต่ตั้งแต่ลูกชายเปิดร้านอาหารแล้วเอาจานไปใช้ คนที่มากินอาหารก็ออเดอร์อาหาร ระหว่างรอก็มาซื้อถ้วยชามกลับไป งานเราก็ได้ขายคนในพื้นที่บ้าง” 

ปั้นดิน ปั้นคน ปั้นแรงบันดาลใจ

      บ้าน Potter House ของลุงผดุง นอกจากผลิตงานปั้นเซรามิคแล้ว ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้กับเด็ก เยาวชน และ ประชาชนที่สนใจ ในศิลปะงานปั้น  ก่อนหน้านี้ลุงก็ได้ถ่ายทอดความรู้ให้คนกลุ่มต่างๆ มานานแล้ว ทั้งฝึกอบรมให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ บุคคลที่สนใจส่วนตัว หรือ ชาวบ้านที่สนใจอยากฝึกอาชีพ บางทีพวกเยาวชนก็รวมกลุ่มกันมาเรียน ลุงผดุงก็สอนให้หมด สอนให้ปั้นจนปั้นได้ แล้วยังต้องมีวิธีการตกแต่ง ขั้นตอนหลายอย่าง ปั้นแล้วต้องมีวิธีการเผา เผาออกมาแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ดี ก็มีเหลือน้อยคนที่จะทำได้ แต่บางคนก็เรียนรู้ได้เร็ว สอนไม่นานก็ทำได้

      สมภพ จารุวนากุล หรือ ตะวัน ชายหนุ่มวัย 29 ปี ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของลุงผดุง แต่เดิมตะวันทำงานเป็นช่างไฟฟ้าในสถานบันเทิง ต้องทำงานกลางคืนทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย และ ทำในสิ่งซ้ำเดิม ตะวันคิดว่าตัวเขาน่าจะมีศักยภาพมากกว่านี้ จนวันหนึ่งเขาได้ไปเดินเจอแจกันใบหนึ่ง และ รู้สึกว่าสวยจึงตามไปหาว่าใครเป็นคนปั้น จนได้ไปเจออาจารย์ผดุงเกียรติ ตะวันจึงขอเรียนด้วยทันที เมื่อศึกษาไประยะหนึ่งรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นพรสวรรค์ของตนเอง จึงเริ่มทำจริงจัง  จากการใช้เวลาไม่ถึงเดือนในการเรียนรู้การปั้นจากลุงผดุง ปัจจุบัน ตะวันสร้างงานดินเผาในลักษณะเผาแดงไม่มีการเคลือบ โดยผลิตเป็นกระถางต้นไม้ กระถางต้นบอนไซ แคคตัส และของตกแต่ง  ขายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ทางเพจเฟซบุค Potter by Tawan เป็นหลัก และมีการออกบูธบ้างควบคู่กัน สร้างรายได้แต่ละเดือนเป็นหลักแสน

ความคิดเห็น