วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

Melayu Route and Line เส้นทางสู่การสืบสานองค์ความรู้

 28 เม.ย. 2563 16:58 น.    เข้าชม 3485

          Melayu Route เปิดเส้นทางใหม่ด้วยหัวใจมลายู คือหนังสือการ์ตูนที่เรียกได้ว่าเป็นผลงานการ์ตูนสไตล์มังงะเล่มแรกของประเทศไทยที่ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นผลงานจากการถอดบทเรียนประสบการณ์ในการทำงานคลุกคลีในพื้นที่ชายแดนใต้ตลอดหลายปีของผู้เขียน จิรศักดิ์ อุดหนุน และ กิตติคุณ กิตติอมรกุล สมาชิกฝ่ายผลิตสื่อของสถาบันรามจิตติ ที่ใช้ทักษะการวาดการ์ตูนทำให้เรื่องราวของ ‘ราก’ และ ‘ลาย’ ที่ว่าด้วยวัฒนธรรมมลายูนั้นมีชีวิตชีวา เข้าถึงได้ง่ายแม้คนที่ไม่ได้คุ้นเคยมาก่อน

          สถาบันรามจิตติ นั้นเป็นองค์กรหนึ่งที่มีการทำงานกับพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากว่าทศวรรษ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาการศึกษา ที่จำเป็นต้องเข้าใจถึงสภาพปัญหาของพื้นที่ เข้าใจบริบทเยาวชนในพื้นที่ต่อทัศนคติด้านการศึกษา เพื่อส่งเสริมพัฒนาให้เยาวชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาหรือส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยลำแข้งตนเองปราศจากการตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามทั้งยาเสพติดหรือแม้กระทั่งการตกเป็นเยาวชนกลุ่มเสี่ยงด้านความมั่นคงที่เป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน

ว่าด้วย ราก และ ลาย

          จากผลงาน เล่มแรก “Melayu Route เปิดเส้นทางใหม่ด้วยหัวใจมลายู” เรื่องราวจอง อามีร เด็กหนุ่มเรียนจบมาใหม่ และใฝ่ฝันจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ได้เงินมา แต่การ์ตูนเล่มนี้จะพาเขาไปสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านตัวปราชญ์ชุมชน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องราวที่อิงมาจากงานวิจัย ที่ทำให้คนในพื้นที่จะเห็นว่าเขามีต้นทุนมากขนาดไหน แล้วจะเปลี่ยนทุนตรงนี้เป็นคุณค่า และสร้างมูลค่าได้อย่างไร

          หลังจากได้เขียน Melayu Route ไปแล้ว เล่มที่สองจึงเริ่มเกิดขึ้น นั่นคือ Melayu Line เส้นทางสายลายมลายู ผู้เขียนได้เชิญชวนผู้อ่านให้ร่วมเดินทางไปค้นหาคำตอบกับลีนา และมะลิตัวละคร ว่าลวดลายจากอดีตจะนำพาเราไปสู่อะไร  และทางทีมงานได้รับทุนในการดำเนินการตีพิมพ์จาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกิดเป็นรูปเล่มสมบูรณ์เพื่อเผยแพร่ไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมานี้เอง

          เรื่องราวที่นำมาเขียนเป็นหนังสือการ์ตูนนี้ล้วนถ่ายทอดมาจากสภาพสังคมในปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่หายไปจากชุมชน ทั้งการหายในแบบละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานต่างถิ่น และหายไปในเส้นทางที่มีความเสี่ยงของภัยคุกคามจากยาเสพติด และการหลงผิด ทั้ง ๆ ที่ชุมชุนมีต้นทุนทางวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่มากมาย ทีมวิจัยจากสถาบันรามจิตติ จึงใช้กระบวนการทำงานวิจัยเข้าไปช่วย โดยร่วมกันออกแบบกระบวนการในการฟื้นความรู้ ทำให้เด็ก และเยาวชนตระหนักถึงต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มี เพื่อทำให้เขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่มี และเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง

สืบสานองค์ความรู้ ด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม

          เด็ก ๆ ในชุมชนจังหวัดชายแดนใต้นั้น ล้วนเติบโตมากับงานช่าง และหัตถกรรมมาตั้งแต่จำความได้ พวกเขารู้แค่ว่า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย  สอนมาแบบนี้ ทำลวดลายแบบนี้ ทำให้พวกเขาอยากรู้ถึงรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงลวดลายมลายูดั้งเดิมนั้นเป็นอย่างไร ทางสถาบันรามจิตติ จึงได้จัดทำ “โครงการศึกษาคุณค่าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นบนฐานทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับเยาวชน ผ่านการเรียนรู้จากปราชญ์ชุมชน แหล่งความรู้ในพื้นที่ และการลงมือทำเวิร์คช็อป ทีมงานวิจัยยังพาเยาวชนไปเรียนรู้ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยสืบเสาะหาปราชญ์ชาวบ้านด้านลวดลายมลายูจากประเทศมาเลเซีย มาเป็นครูให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงลวดลายมลายูที่เขาเคยเห็น เคยทำ แต่ไม่เคยเข้าใจรากที่แท้จริง

          

สิ่งที่น่าคิดคือ วิทยากรปราชญ์ชาวมาเลเซียท่านนี้ใช้เวลา 20 ปี รวบรวมศิลปะลวดลายมลายูที่เป็นลายเส้นต่างๆ ท่านรวบรวมลวดลายเหล่านี้ในสมัยที่ท่านมาอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานีนี้เอง กระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดทำให้เยาวชนเข้าใจอย่างถ่องแท้และตระหนักว่า ต้นตอของภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานั้นอยู่ที่บ้านของพวกเขานั้นเอง พวกเขาได้เรียนรู้ว่ารากเหง้าของวัฒนธรรมนั้นงอกงามมาอย่างไร นำไปสู่แรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ และพัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นอาชีพที่พวกเขาจะพึ่งตนเอง และอยู่กับบ้านได้อย่างภาคภูมิใจ

*อ่านผลงานการ์ตูน Melayu ได้ที่ เพจเฟสบุ๊ค Documentarism

ความคิดเห็น