วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

หอศิลป์ร่วมสมัย “DE’ LAPAE ART SPACE NARATHIWAT”

 28 เม.ย. 2563 17:12 น.    เข้าชม 4034

          “ประสบการณ์ และความรู้คือสิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งในครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่มีความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ในการพัฒนาภูมิลำเนา รากเหง้าบ้านเกิดของตนเอง ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ความสามัคคีที่จะเป็นพลังขับเคลื่อน ศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ เพื่อพัฒนาการทำงานในด้านวิชาชีพ และความคิดสร้างสรรค์ของคนในสังคมต่อไป”

          ข้อความข้างต้นคือแนวคิดในการสร้างสรรค์พื้นที่หอศิลป์ร่วมสมัย เดอลาแป อาร์ต สเปซ นราธิวาส     (DE’ LAPAE ART SPACE NARATHIWAT) คำว่า “ลาแป” มาจากภาษามลายูที่หมายถึงเลข 8 ส่วนรูปทรงเหมือนสัญลักษณ์อินฟินิตี้ (Infinity, ∞) ที่มีความหมายว่า ศิลปะไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งคำเดียวกันนี้ก็ยังพ้องเสียงกับคำว่า ลาปัน ทั้งยังสอดคล้องกับคำว่า ลาแป ที่แปลว่า พื้นที่กว้างใหญ่ หรือ สเปซ อีกด้วย

ลาแป ศิลปะไม่มีวันสิ้นสุด

          ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่หอศิลป์แห่งนี้ทำหน้าที่บอกเล่าถึงเรื่องราวหรือวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวให้ผู้คนในพื้นที่ได้มาเยี่ยมชม และพักผ่อนหย่อนใจย้อนกลับไปแปดปีที่แล้ว ในปี พ.ศ. 2555 คุณพ่อของอาจารย์ปรัชญา พิมานแมน เจ้าของหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งนี้ มีความคิดที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเอกชนที่เก็บข้อมูลเรื่องราวของเมืองนราธิวาส

          ส่วนอาจารย์ปรัชญาเองที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาทางด้านศิลปะ และศึกษาต่อด้านการจัดการหอศิลป์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับคุณพ่อไปว่า ถ้าเปลี่ยนจากพิพิธภัณฑ์ไปเป็นหอศิลป์ร่วมสมัย ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ทำให้เกิดสิ่งดีๆ ในพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน เป็นทั้งชุมชนให้คนได้มาพบเจอ พูดคุยแลกเปลี่ยน และเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้มาร่วมแสดงผลงาน

เชื่อมภายใน และภายนอก

          ภายนอกอาคารหอศิลป์ เดอลาแป ดูเหมือนร้านกาแฟทั่วไป แต่ด้านในแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ร้านกาแฟ Art Cafe’ and Coffee Lab ซึ่งเป็นส่วนบริการอาหาร เครื่องดื่ม จำหน่ายสินค้าจากชุมชน และแสดงงานศิลปะแบบ Modern Art ที่เข้าถึงผู้คนทั่วไปได้ง่าย เช่น ภาพถ่าย ภาพวิวทิวทัศน์ เป็นพื้นที่ชุมชนแลกเปลี่ยนพูดคุย และเป็นหลักในการสร้างรายได้ในการดำเนินงานหอศิลป์และเป็นทุนสนับสนุนการทำงานของศิลปินในพื้นที่

          ส่วนที่ 2 คือ ห้อง Art Project เป็นพื้นที่ในการจัดแสดงงานของศิลปินจากภูมิภาคต่าง ๆ โดยมาสัมผัสเรียนรู้ และสร้างงานร่วมกับศิลปินในพื้นที่ และมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้จากวิทยากรผู้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านศิลปะ หรือ Art Workshop ส่วนที่ 3 คือ บริเวณชั้นสองของหอศิลป์ เป็นพื้นที่แสดงงานของกลุ่มศิลปินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะมีการหมุนเวียนมาจัดแสดงตลอดทั้งปี

ก้าวไปพร้อมกับชุมชน และคนรุ่นใหม่

          ทางหอศิลป์ยังมีพื้นที่ห้องสมุดศิลปะ หรือ Art Library รวบรวมจัดเตรียมตำรา เอกสาร สูจิบัตรทางศิลปะ เป็นคลังความรู้สำหรับนักเรียนนักศึกษาเข้ามาศึกษาค้นคว้าได้ และยังเชื่อมโยงกับชุมชน โดยมีห้องเรียนศิลปะสำหรับเด็ก และเยาวชน และเปิดพื้นที่ในการวางขายสินค้าที่เป็นงานศิลปหัตถกรรมหรืองานคราฟต์จากชุมชนต่างๆ

          ศิลปะเป็นสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราว ศิลปินแต่ละคนต่างมีมุมมองในการบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ตัวเองต่างกันไป ทั้งเรื่องราวที่สวยงาม และเรื่องราวที่ต้องการ การทำความเข้าใจร่วมกัน การที่หอศิลป์เดอลาแปได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ซึ่งมีงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, ภาพถ่าย ศิลปะสื่อผสม ภาษา ดนตรี รวมไปถึงงานศิลปหัตถกรรมจากชุมชน  ทำให้หอศิลป์เดอลาแปแห่งนี้ก้าวไปพร้อมกับชุมชนและคนรุ่นใหม่ สร้างความเข้าใจให้คนภายนอก และคนในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นหนทางที่จะนำมาซึ่งสันติสุข

ความคิดเห็น