วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ชีวิตที่ลุกขึ้นสู้ของผู้พิการจังหวัดยะลา

 2 ก.ค. 2563 16:03 น.    เข้าชม 3360

          หากเลือกกำหนดชีวิตได้ ความพิการเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดกับตัวเองหรือคนที่เรารัก แต่เมื่อต้องประสบชะตากรรมเช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความพิการแต่กำเนิด หรือเกิดจากเหตุรุนแรง อุบัติเหตุ หรือโรคภัยไข้เจ็บ ก็คงต้องต่อสู้ชีวิตต่อไปตราบที่ลมหายใจยังไม่สิ้น และต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ได้รับการดูแลจากสังคมรอบข้าง โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญที่ไม่ควรถูกละเลย คือ ศักยภาพของคนพิการ เพราะใช่ว่าคนพิการจะไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิง พวกเขาสามารถเข้ารับการศึกษา ฝึกฝนการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน และมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่เหมาะสม

          สถานการณ์ผู้พิการจังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมานั้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐได้แก่ โรงพยาบาลในพื้นที่ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ ชมรมและสมาคมคนพิการระดับจังหวัด และสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัดต่าง ๆ ดำเนินงานขับเคลื่อนช่วยเหลือผู้พิการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในระดับพื้นที่นั้นยังมีบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิประจำหมู่บ้าน เป็นอีกพลังหนึ่งในการสำรวจดูแลเก็บข้อมูลไปจนถึงการดำเนินงาน และติดตามความก้าวหน้าในการช่วยเหลือผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งการสำรวจข้อมูลผู้พิการในพื้นที่  พบว่า มีผู้ด้อยโอกาสตามการแยกประเภททั้ง 11 ประเภท ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน

ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจแด่ผู้พิการ

          ศูนย์ต้นแบบกลุ่มอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงแบบผสมผสานของกลุ่มคนพิการในชุมชน จังหวัดยะลา ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา เป็นหน่วยงานภาคประชาชนที่เป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นส่งเสริมและแก้ปัญหาให้กับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ ให้สามารถใช้ชีวิตในแบบของพวกเขาเองได้ ศูนย์ต้นแบบฯ แห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นน้องใหม่ไฟแรง เพราะเริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2562 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมานี้เอง โดยมีผู้ก่อตั้งได้แก่ นางสือนะ ดีสะเอะ ผู้ปลุกพลังคนพิการในพื้นที่ให้มีความมั่นใจในการดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป เพราะสือนะ เชื่อมั่นว่า หากคนพิการและผู้ด้อยโอกาสได้รับโอกาสในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิต เปิดโอกาสในการประกอบอาชีพ สามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และเสมอภาคกับคนทั่วไป

          ก่อนจะมาก่อตั้งศูนย์ต้นแบบฯ แห่งนี้ คุณสือนะเองเป็นคนพิการมาตั้งแต่กำเนิด สมัยเด็ก ๆ ก็เรียนหนังสือร่วมกับคนปกติ ซึ่งสมัยนั้น มีความลำบากในความแตกต่างอยู่มาก และยังไม่มีอะไรรองรับและช่วยเหลือคนพิการ ทำให้คุณสือนะมีจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือน้อง ๆ คนพิการ จนได้มีโอกาสทำงานเพื่อเพื่อนผู้พิการ ในบทบาทของอุปนายกสมาคมคนพิการภาคใต้, ประธานชมรมคนพิการจังหวัดยะลา และเป็นรองประธานสภาคนพิการทุกประเภท ของจังหวัดยะลา จากการที่ได้ทำงานสำรวจข้อมูลคนพิการในพื้นที่ จังหวัดยะลา พื้นที่นำร่องคือ อำเภอรามัญ อำเภอยะหา และอำเภอกรงปีนัง คุณสือนะได้รวบรวมคนผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตนเอง โดยต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวของผู้พิการว่า พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง ไม่ได้อยู่กับผู้พิการได้ไปตลอดชีวิต มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาจะต้องลุกขึ้นมาดูแลตัวเองให้ได้  และได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศอ.บต., กอ.รมน. และองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ

ลุกขึ้นสู้ เพราะตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน

          จากกลุ่มผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ที่คุณสือนะรวบรวมได้จำนวน 16 คน ผู้ที่สามารถดูแลตัวเองได้ก็มีโอกาสที่ดีในการไปศึกษาเรียนรู้ที่สถาบันการศึกษาของผู้พิการ อย่างวิทยาลัยเทคโนโลยีมหาไถ่จังหวัดชลบุรี จนสามารถกลับมาประกอบอาชีพ และเป็นกระบอกเสียงคอยดูแลผู้พิการในพื้นที่ต่อไป นอกจากนั้น ยังมีการนำผู้พิการไปศึกษาดูงาน และได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ต้นแบบกลุ่มอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงแบบผสมผสานของกลุ่มคนพิการในชุมชน จังหวัดยะลา ขึ้นมาเพื่อรองรับคนพิการให้ได้เรียนรู้การทำเกษตรโดยใช้พื้นที่ของศูนย์ฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ ในการนำไปปรับใช้เป็นอาชีพ และรายได้เสริมให้กับตนเอง  มีวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนพิการ และตั้งใจส่งเสริมให้คนพิการฝึกฝนการเป็นวิทยากรในด้านต่าง ๆ ได้ต่อไป โดยมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ให้ลุกขึ้นมาสู้ชีวิต เพราะคนรอบข้างที่ดูแลพวกเขาย่อมไม่สามารถอยู่กับพวกเขาไปได้ตลอด และให้คนทั่วไปได้รู้ว่ามีบุคคลเหล่านี้อยู่ในพื้นที่  ให้ความสำคัญของคนพิการ และร่วมกันช่วยเหลือภายใต้หลักการส่งเสริมศักยภาพของคนพิการ ตระหนักว่าคนพิการก็สามารถช่วยเหลือตนเองในการประกอบอาชีพได้

          ปัจจุบัน ศูนย์ต้นแบบกลุ่มอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงแบบผสมผสานของกลุ่มคนพิการในชุมชน จังหวัดยะลา ดำเนินการในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบผสมผสาน มีการปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ เมื่อมีผลผลิตก็จะวางขายบริเวณหน้าศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการฯ เป็นรายได้ให้กับน้อง ๆ คนพิการ และมีแผนในการสร้างเครือข่ายผู้พิการที่ต้องการจะปลูกผักปลอดสารพิษสร้างรายได้ โดยทางศูนย์ต้นแบบฯ จะทำการรวบรวมแล้วส่งขายที่ตลาดกรงปีนังในนามผักปลอดสารพิษจากกลุ่มคนพิการ และในด้านของการเพิ่มเติมองค์ความรู้ ทางศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการฯ ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากกองร้อยทหารพรานที่ 4714 กรมทหารพรานที่ 47 มาให้ความรู้ในการเพาะเห็ดนางฟ้า ให้คำแนะนำด้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และสามารถลงมือทำเองได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาทำมากกว่าคนปกติเท่านั้นเอง

ความคิดเห็น