วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

“ท่าสาปหนึ่งเดียว” พื้นที่เสริมสร้างสันติสุข และความสมานฉันท์

 2 ก.ค. 2563 16:55 น.    เข้าชม 4752

“เมืองท่าสาปที่ราบริมน้ำปัตตานี มีเรื่องราวความเป็นมาที่ดี
ให้ได้จดจำ ว่านี่คือเมืองอุดมสมบูรณ์
เมืองท่าสาปมีคมนาคมที่สะดวก รวดเร็ว ตำบลก้าวหน้า
การศึกษาก้าวไกล เรารักและคอยใส่ใจทุกคน
อยู่ที่ใด ก็ไม่เท่าสุขใจเหมือนที่นี่
จะกี่ร้อยวันพันปี ที่นี่จะเป็นจุดรวมสำคัญ
และในวันนี้ ทุกคนจะรวมเป็นหนึ่ง แม่น้ำจะคอยเชื่อมใจ
และหล่อเลี้ยงเรา ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำ นั้นช่างสมบูรณ์
นี่เป็นจุดเล็กๆ ที่สร้างทำเลการค้า สืบทอดกันมายาวนาน
เก็บรักษาไว้ และนี่คือเมืองแห่งความรุ่งเรือง ท่าสาปเป็นหนึ่งเดียว”

          ข้างต้นนี้คือ บทเพลง “ท่าสาปหนึ่งเดียว” ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยศิลปินท้องถิ่นแห่งตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดยมีความมุ่งหวังในการเสริมสร้างความสามัคคีให้กับชุมชน  ผ่านการเล่าเรื่องความเป็นมาของเมืองท่าสาป อันเป็นเมืองท่าใหญ่แห่งลุ่มน้ำปัตตานี มีแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรี เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จากบริบททางประวัติศาสตร์คลี่คลายมาเป็นพื้นที่เสริมสร้างสันติสุข และความสมานฉันท์ในรูปแบบตลาดนัดริมน้ำที่เรียกขานกันว่า ตลาดต้องชม หรือตลาดน้ำท่าแพ

เกียรติภูมิท้องถิ่น รางวัลพระปกเกล้า

          สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของประธานรัฐสภา มีพันธกิจในการส่งเสริม และพัฒนาความรู้ เรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการปกครองท้องถิ่นให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้จัดให้มีการมอบรางวัลพระปกเกล้า และใบประกาศเกียรติคุณ เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นด้านความโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อมาในปี 2552 สถาบันฯ ได้ขยายรางวัลพระปกเกล้าให้ครอบคลุมการดำเนินงานของท้องถิ่น อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการท้องถิ่น, การเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ในท้องถิ่น และการเสริมสร้างเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่น

          เทศบาลตำบลท่าสาป เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานที่โดดเด่น และเป็นต้นแบบในการเสริมสร้างสันติสุข และความสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องด้วยเทศบาลตำบลท่าสาปเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม มีพี่น้องไทยพุทธ ไทยมุสลิม อาศัยอยู่ร่วมกันมีศาสนา และวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างในการใช้ชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ เทศบาลตำบลท่าสาปจึงได้ดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะแตกต่างกันด้วยเพศ อายุ ศาสนา เป็นผู้พิการ หรือผู้ด้อยโอกาส สามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างที่หลากหลาย แต่ดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตน ด้วยความรัก ความสามัคคี และความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งในพื้นที่ ก่อให้เกิดสันติสุขได้อย่างยั่งยืนถาวร จนได้รับ รางวัลพระปกเกล้า ประจำปี 2561 ประเภทที่ 2 ด้านการเสริมสร้างสันติสุข และความสมานฉันท์ จากสถาบันพระปกเกล้า

นวัตกรรมเสริมสร้างสันติสุข

          ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 พี่น้องทั้งไทยพุทธ และมุสลิมเกิดความหวาดกลัว และอาศัยอยู่ด้วยความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ เทศบาลตำบลท่าสาปเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างพี่น้องไทยพุทธ ไทยมุสลิมที่มีอยู่ให้กลับมามีความรัก ความสามัคคี และความสมานฉันท์เฉกเช่นในอดีต จึงได้สร้างสรรค์นวัตกรรม และดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างสันติสุข และความสมานฉันท์ ได้แก่ “โครงการตลาดนัดภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น” ซึ่งเริ่มจัดขึ้นในปี 2560 ในรูปแบบงานประจำปีและจัดต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยจัดขึ้นบริเวณท่าแพเก่า เชิงสะพานเรือนจำ หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

          โครงการตลาดนัดภูมิปัญญาฯ เป็นการใช้กุศโลบายในการเชิญชวนให้ประชาชนออกจากบ้านเรือนมาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งนับวันจะสูญหายไปจากความทรงจำ และชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังเจริญเติบโตขึ้น ร่วมเรียนรู้และมีใจอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ให้คงอยู่สืบไปอย่างยั่งยืน

          โดยได้จัดให้มีกิจกรรมรูปแบบต่างๆ มากมาย และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ การแสดงซีละ (หรือเรียกว่าดีกา หรือบือดีกา เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชาวไทยมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย), การแสดงชุดรำถวายพระพร, กิจกรรมกวนข้าวเหนียวแก้วสัมพันธ์, การประกวดทำอาหารและขนมพื้นบ้าน, การสาธิตการแกะหนังวายังกูเละ (หนังตะลุง), การจักสาน, การทำหัวกรงนก, การแสดง ตารีกีปัส (ศิลปะการแสดงระบำพื้นเมือง), การแสดงดิเกฮูลู, การแสดงรำมโนราห์, การแสดงวายังกูเละ (หนังตะลุง), การแข่งขันพายเรือทวนน้ำ, และการแข่งขันลูกข่างไม้ (กาซิง) เป็นต้น โดยมีประชาชนในเทศบาลตำบลท่าสาป และประชาชนในเขตพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาร่วมงานอีกมากมาย

ตลาดต้องชม ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

          นอกจากโครงการตลาดนัดภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งจัดเป็นงานประจำปีแล้ว เทศบาลตำบลท่าสาป ยังมีการต่อยอดกิจกรรมโดยจัดงานในพื้นที่เดียวกัน และพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติม ได้แก่ ตลาดต้องชม ท่าแพ-ท่าสาป ที่มีการขายสินค้า และอาหารพื้นบ้านในทุกวันเสาร์ และชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ถนนคนเดินท่าสาปแต่ก่อน มีการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายในทุกวันเสาร์ต้นเดือน ในพื้นที่ชุมชนไทยพุทธ โดยมีพ่อค้าแม่ค้าที่มีความหลากหลายทางศาสนามาร่วมจำหน่ายสินค้า ทำให้ประชาชนได้รับการพัฒนาอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการพัฒนาคุณภาพ และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ปรับตัวเข้าสู่การพัฒนา และสร้างตลาดที่สามารถดึงคนเข้าหมู่บ้านด้วยชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ให้เกิดการกระจายรายได้หมุนเวียนเพิ่มขึ้น

          ปัจจุบัน “โครงการ ตลาดนัดภูมิปัญญาสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น” “ตลาดต้องชม ท่าแพ-ท่าสาป” และ “ชุมชน ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ถนนคนเดิน ท่าสาปแต่ก่อน” เป็นงานที่ดึงดูดให้ประชาชนทั้งในเขตเทศบาลตำบลท่าสาป และนอกเขตพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่่ยวเข้ามาเยี่ยมชม และแวะเวียนมาอย่างคับคั่ง โครงการดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเน้น การส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ความปรองดอง และลดความหวาดระแวงในกลุ่มพี่น้องไทยพุทธ และพี่น้องไทยมุสลิม ด้วยรูปแบบของพหุวัฒนธรรม

ความคิดเห็น