วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

ปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พัฒนาพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้

 27 ส.ค. 2563 16:37 น.    เข้าชม 4168

          “ปิดทองหลังพระไปเรื่อย ๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหา   ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เปรียบเสมือนแรงบันดาลใจในการทำงานของ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในการน้อมนำโครงการพระราชดำริกว่า 4,810 โครงการมาสานต่อ ด้วยหลักการดำเนินงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะนั่นคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบจากทั่วประเทศเพื่อการบูรณาการองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งในแต่ละพื้นที่แม้จะมีปัญหาที่แตกต่าง แต่ด้วยศาสตร์ของพระราชาที่พระองค์ทรงคิด และทรงทำเพื่อพสกนิกรของพระองค์นั้น ได้ประจักษ์แล้วว่า คือทางรอดของชีวิตแห่งความพอเพียงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ

          นอกจากปัญหาความไม่สงบแล้ว พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีปัญหาอีกหลายมิติที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านโดยตรง เช่น ทางเลือกในการประกอบอาชีพมีน้อย ขาดเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย ชาวบ้านในบางพื้นที่ไม่มีน้ำใช้ในการเกษตร ส่วนสภาพดินเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ การปลูกพืชบนผืนดินแบบนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวกันเกษตรกรก็ขาดความรู้ในการเพาะปลูก และที่สำคัญขาดช่องทางในการขายผลผลิต

ในปี 2559 สถาบันส่งเสริม และพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และผู้นำศาสนา ในการเข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบใน 7 อำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้นำ และชาวบ้านมีความพร้อมในการเข้ามาร่วมคิดร่วมลงมือทำ โดยพื้นที่ต้นแบบจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ บ้านฮูแตทูวอ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง และบ้านโคกยามู ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ, พื้นที่ต้นแบบจังหวัดยะลา ได้แก่ บ้านจำปูน ตำบลท่าธง อำเภอรามัน และบ้าน กม.26 ในตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา และพื้นที่ต้นแบบจังหวัดปัตตานี ได้แก่ บ้านละโพ๊ะ ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน, บ้านแป้น ตำบลแป้น อำเภอสายบุรี และบ้านสุเหร่า ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

          ด้วยแนวนโยบายการพัฒนาศักยภาพประชาชนในพื้นที่ ผ่านการทำงานของอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้าน (อสพ.) ซึ่งมาจากคนท้องถิ่น เป็นตัวแทนไปเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเป็นระยะเวลา 2-5 เดือน และกลับมาทำงานกับท้องถิ่นของตน ทำให้สามารถประสานงานกับชุมชนได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่จากภายนอก โดย อสพ. มีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในลักษณะ “พาทำ” หรือทำให้ดู ทำร่วมกัน หรือปล่อยให้เขาทำ ให้สอดคล้องกับบริบทในการทำงานตามฤดูกาล และการปฏิบัติตามหลักศาสนกิจของพื้นที่ ส่วนสำคัญคือการสร้างกระบวนการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ด้วยหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อให้ชาวบ้านกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนปัญหาของตนเอง และชุมชน สร้างผู้นำใหม่ในพื้นที่ ทำให้แผนงานพัฒนาชุมชนเกิดจากความต้องการของชาวบ้านจริง ๆ และสามารถเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาของหน่วยงานต่าง ๆ ได้

          หลักการพัฒนาพื้นที่จะเริ่มจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน น้ำทั้งเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภคในครัวเรือน การบริหารจัดการพื้นที่การทำเกษตร ปศุสัตว์ ทั้งการทำแปลงเกษตรในแต่ละครัวเรือนเพื่อใช้บริโภค ลดรายจ่ายในครัวเรือน ขยายไปสู่การรวมกลุ่มการผลิตเป็นเกษตรแปลงรวม เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ และส่งเสริมการผลิตที่หลากหลายมากขึ้น เช่น พืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง หรือปศุสัตว์ โดยมุ่งเน้นกระบวนการที่ละเอียด รอบคอบ มุ่งตอบคำถามที่ว่า “ทำแล้ว ชาวบ้านได้อะไร” พัฒนาการบริหารจัดการลักษณะกลุ่มให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกได้ในลักษณะ Social Enterprise

รูปธรรมสู่ความยั่งยืน

          ระยะเวลา 3 ปี ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ ชาวบ้านในพื้นที่ต้นแบบทั้ง 7 พื้นที่ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน ผลจากการแก้ไขปัญหาระบบน้ำ ทำให้การปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีความเป็นไปได้มากขึ้น พื้นที่ที่เป็นดินทรายสามารถแก้ได้ด้วยศาสตร์ของพระราชา นำไปสู่การเกษตรวิถีชุมชนปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา ไว้บริโภค ลดรายจ่าย และเมื่อเหลือก็ขาย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ต่อยอดไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง เช่น ที่บ้านฮูแตทูวอ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งสามารถปลูกเมล่อนได้บนผืนดินทราย สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้าน

          นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาพืชดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนใต้ หรือโครงการทุเรียนคุณภาพประจำปี 2563 ที่ส่งเสริม การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และเปิดช่องทางการตลาดทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อจังหวัดยะลา รวมไปถึงโครงการฟื้นฟูนาร้าง เสริมสร้างประเพณีเคียงคู่วิถีชุมชน โดยแก้ปัญหาระบบน้ำด้วยการฟื้นฟู และพัฒนาคูไส้ไก่ที่มีอยู่แล้วในชุมชน ตลอดทั้งส่งเสริมการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ที่บ้านละโพ๊ะ ตำบลป่าไร่ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

          ในภาคปศุสัตว์ ที่ผ่านมาชาวบ้านเลี้ยงแพะในรูปแบบเดิม ๆ แต่เมื่อได้รับแพะพระราชทาน พร้อมทั้งได้องค์ความรู้ทั้งเรื่องการสร้างคอก การดูแลแพะ และการส่งเสริมด้านการตลาด มาวันนี้ แพะคุณภาพจากบ้านสุเหร่า ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นที่ต้องการของตลาด จนต้องสั่งจองข้ามปี หรือการริเริ่มการเลี้ยงปูทะเล (ปูดำ) คอนโด ในบ่อซีเมนต์ที่ใช้พื้นที่น้อย สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นอย่างดี

          ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้น ล้วนเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ ที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่แบบพหุวัฒนธรรม และยังมุ่งมั่นพัฒนาต่อไปเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ความคิดเห็น