วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

โลเคิล อร่อย ส่งตรงความอร่อยจากท้องถิ่น

 27 ส.ค. 2563 18:13 น.    เข้าชม 2569

          อาหารพื้นถิ่นของแต่ละชุมชน ถือเป็นภาษาอย่างหนึ่งที่สามารถบอกเล่าถึงเรื่องราวของวัฒนธรรม และวิถีชีวิตนั้น ๆ อย่างออกรส และตรงไปตรงมา “โลเคิล อร่อย” กิจการเพื่อสังคม ซึ่งเชื่อในแนวคิดนี้ และมีเป้าหมายในการสร้างเชฟท้องถิ่น โดยการนำเสนออาหารพื้นบ้านจานอร่อยจากชุมชน เพื่อให้คนเมืองได้มีโอกาสลิ้มรสอาหารที่อร่อยแปลกใหม่ และสัมผัสถึงวิถีวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลายจากท้องถิ่น

          โลเคิล อร่อย ต่อยอดมาจาก Local Alike กิจการเพื่อสังคมในรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Community-Based Tourism) ซึ่งพบว่ากระแสการท่องเที่ยวฐานชุมชน ยังไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มท่องเที่ยวกระแสหลัก เมื่อเราเดินทางไปเที่ยว คนจะได้รู้จักความเป็นท้องถิ่นผ่านการแสดง ศิลปวัฒนธรรม งานหัตถกรรมต่าง ๆ รวมถึงอาหารท้องถิ่นที่เจ้าบ้านทำมาให้ผู้มาเยือนได้ลิ้มชิมรส

         โลเคิล อร่อย จึงนำอาหารจากท้องถิ่นมาเสิร์ฟให้คุณได้รับรู้ถึงรสชาติชีวิตในรูปแบบ Local to Table หรือ Local Cuisine โดยผ่านฝีมือการปรุงจากชุมชนผู้เป็นเจ้าของตำรับอาหาร วัตถุดิบ ทรัพยากรทางวัฒนธรรม รังสรรค์และปรุงรสโดยเชฟท้องถิ่น คงรสชาติดั้งเดิม เพื่อป้อนประสบการณ์อาหารท้องถิ่นจากจานอร่อยสู่ปากอย่างมีความสุข และรับรู้เรื่องราวอันเป็นมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมชุมชน

เชฟลูกเหรียง อาหารจะเยียวยาทุกสิ่ง

          หนึ่งในชุมชนที่ โลเคิล อร่อย ได้เชิญมาทำอาหารจานอร่อยจากในส่วนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ เยาวชนจากกลุ่มลูกเหรียง หรือสมาคมเด็ก และเยาวชนเพื่อสันติภาพ จังหวัดยะลา ซึ่งทำงานดูแลเยียวยาเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ต้องกำพร้า และเผชิญความสูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ กลุ่มลูกเหรียงหยิบยื่นโอกาสให้เยาวชนสามารถก้าวข้ามผ่านอดีตอันโหดร้าย และลุกขึ้นมาทำตามความฝันของตนเองได้อีกครั้งหนึ่ง

          เด็ก ๆ และเยาวชนลูกเหรียงก็เหมือนกับเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตในทิศทาง และความชอบที่แตกต่างกัน มีเยาวชน 3 คน ที่มีความชอบด้านการทำอาหาร เป็นเด็กทุนลูกเหรียงที่ได้รับโอกาสร่ำเรียนเฉพาะด้านเกี่ยวกับอาหารมา ได้นำความรู้กลับมาสอนน้อง ๆ ในกลุ่มทำอาหาร เป็นความภูมิใจ และกำลังใจที่อยากส่งต่อให้น้อง ๆ และเพื่อน ๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ลุกขึ้นมาเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความหวังในทุกวัน เพราะเชื่อว่าอาหารจะเยียวยาทุกสิ่ง เยียวยาจิตใจของเด็ก ๆ ผู้สูญเสีย จากการที่เด็ก ๆ ได้มาช่วยกันเตรียมวัตถุดิบ ลงมือทำ นั่งล้อมโต๊ะ พูดคุยแลกเปลี่ยน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของกันและกัน และรับประทานอาหารร่วมกัน

เมนูจากใจ เรื่องราวจากท้องถิ่น

          ทุกจานอาหาร คือความตั้งใจของน้อง ๆ เยาวชนที่อยากจะมอบให้กับผู้รับประทาน อาหารจานแรก  ได้แก่ สลัดผัก ประกอบด้วยผักกูด วอเตอร์เครส ผักสลัดทั่วไป แต่โดดเด่นด้วย น้ำสลัดแบบสลัดแขก ที่มีความมันของกะทิและถั่ว   มีกลิ่นเครื่องเทศของภาคใต้ และแฝงไปด้วยความหอม และมีความนัวจากปลากุเลาที่ผ่านการหมักบ่ม สร้างความสดชื่นด้วยความเผ็ดเล็กน้อยที่ปลายลิ้น

          ปลากุเลาแทบไม่มีราคาตอนที่จับขึ้นมาจากทะเล แต่จะมีความพิเศษตอนที่ทำเสร็จเป็นปลากุเลาเค็มแล้ว การทำปลากุเลาเค็มจะมีขั้นตอนพิเศษ โดยที่ห้ามเอาปลาไปโดนน้ำจืดเด็ดขาด ไม่งั้นปลาจะเน่าเสียง่ายมาก ต้องล้างด้วยน้ำทะเล และนวดเป็นเวลาหลายวันให้เนื้อปลานุ่ม และบ่มด้วยการหมกทรายเพื่อเป็นการถนอมอาหาร เพิ่มรสชาติ และความหอมมากขึ้น และทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าของปลากุเลาอย่างก้าวกระโดด ในราคากิโลกรัมละ 1,700 บาท และมีแนวโน้มที่ราคาจะขึ้นทุกปี

          อาหารจานหลัก หรือ Main Course จานแรก เสิร์ฟ ไก่กอและ ข้าวเหนียวมูลห่อใบกะพ้อ และปลาโอราดซอสลูกหยีเสิร์ฟพร้อมข้าวเกรียบ ในส่วนของเมนูไก่กอและจะใช้เนื้อไก่พันธุ์ไก่เก้าชั่ง ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์มาเป็นไก่เบตงที่เรารู้จักกันดี ข้อดีของไก่เก้าชั่ง คือ มีไขมันน้อย หนังมีความหนึบหนับ ราดซอสพริกแกงใต้ผัดกับกะทิจนหอม รับประทานคู่กับไก่กอและ ทานคู่กับข้าวเหนียวมูนที่มีความหวาน หอมกะทิและใบกะพ้อ เข้ากันเป็นอย่างดี  ส่วนปลาโอซอสลูกหยี ตัวปลาโอเนื้อสัมผัสเหมือนปลาซาบะของญี่ปุ่น กับซอสลูกหยีที่มีความเปรี้ยวอมหวาน รวมกันเป็นรสชาติหวาน ๆ เปรี้ยว ๆ นวล ๆ ทานกับข้าวเกรียบปลาที่มีความกรุบกรอบ

          จานหลักจานที่ 2 ได้แก่ ละแซแกงปู ซึ่งก็คือ ขนมจีนชายแดนใต้นั่นเอง ขนมจีนทำจากแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้าและแป้งมันผสมกัน แผ่เป็นแผ่นกลม ม้วนแล้วเอาไปนึ่งให้สุก ก่อนจะนำมาตัดเป็นเส้นม้วนสั้นพอคำ ราดด้วยแกงปูเข้มข้น โรยหน้าด้วยหมี่กรอบ และใบกะหรี่ที่ให้กลิ่นเผ็ดร้อน เนื้อแป้งละแซมีความร่วนเข้ากับแกงปูที่เผ็ดร้อน เค็มมัน มีรสชาติของปู และมีเนื้อปูให้เคี้ยว มีความหอมของใบกะหรี่ และความกรอบของหมี่

          เมนูของหวาน ได้แก่ ตูปะซูตง เป็นปลาหมึกใส่ไส้ข้าวเหนียว ราดซอสกะทิน้ำตาลโตนด เสิร์ฟพร้อม ดอกดาหลา ตูปะซูตง เราอาจจะรู้สึกแปลกใจว่าทำไมเอาปลาหมึกมาทำเป็นขนมหวานแบบนี้ แต่จานนี้มีความเกี่ยวข้องกับบริบททางวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแนบแน่น เพราะเป็นเมนูที่ชาวมุสลิมมลายูรับประทานกันในช่วงถือศีลอดเดือนรอมฎอน เป็นตัวช่วยเพิ่มพลังงาน ความอร่อยของเมนูนี้ อยู่ที่ความหวานกำลังดี และมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในน้ำซอสคือ รสชาติของตะไคร้ ที่ช่วยชูรสให้ตัวปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียวมีความหอมละมุนอร่อยยิ่งขึ้น

          เฉาก๊วยเบตงชามาเล  เฉาก๊วยโบราณจากเบตง อีกหนึ่งเมนูของหวาน หอมกลิ่นสมุนไพรหญ้าวุ้นดำขนานแท้ เหนียวนุ่มตามธรรมชาติปราศจากผงวุ้น ในชามาเลที่มีรสหวานกลมกล่อม และกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสขมเล็กน้อย เสิร์ฟกับ กล้วยหินคาราเมล ที่เป็นกล้วยหินป่าจากปานังสตา หาได้เฉพาะในยะลา มีเนื้อขาวครีมออกรสเปรี้ยวเล็กน้อยตัดรสด้วยน้ำตาลคั่วไหม้ เป็นการจบคอร์สการกินอาหารที่อร่อย และอิ่มเอมจริง ๆ

          ผู้ที่สนใจสามารถจองมื้ออร่อยจากชุมชนกับเชฟครัวลูกเหรียง และเชฟจากชุมชนอื่น ๆ ได้ที่ เว็บไซต์ localaroi.com หรือ เพจเฟสบุ๊ค โลเคิล อร่อย-Local Aroi นอกจากมื้ออาหารที่ร้าน RX wellness แล้ว ยังมีบริการอาหารแบบ delivery ส่งถึงบ้าน เป็นตัวแทนของความคิดถึงจากชุมชนที่ส่งต่อให้พวกเราชาวกรุง ท่ามกลางสถานการณ์โควิดอีกด้วย

ความคิดเห็น