วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

กลับบ้านมาเป็นครูใต้น้ำ อวดความงามท้องทะเลชายแดนใต้

 28 ก.ย. 2563 14:04 น.    เข้าชม 3443

“ผมไปดำน้ำที่ไรผมจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างบนบก เพื่อต้องการใช้ชีวิตใต้น้ำแล้วสัมผัสบรรยากาศใต้น้ำ หายใจเข้าหายใจออก เตะขา ดูปะการัง ดูสัตว์ใต้น้ำที่สวยงาม แหวกว่ายกับฝูงปลา มันรู้สึกดีมากเป็นความสุขที่อธิบายยาก” 
      ฮาฟิตซ์ เจ๊ะแม ครูใต้น้ำ หรือครูสอนดำน้ำแห่งโรงเรียน Muscle Diver อ.เมือง จ.นราธิวาส     ก่อนหน้านี้เขาก็เหมือนคนรุ่นใหม่ทั่วไปที่เรียนจบ และมุ่งสู่การทำงานในเมือง ฮาฟิตซทำงานเป็นครูสอนฟิตเนส    ผู้ฝึกสอนส่วนบุคคลที่ฟิตเนสชื่อดังหลายแห่ง และใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ มาเป็นเวลาสิบกว่าปีโดยไม่ได้มีความคิดจะกลับมาอยู่บ้านเกิดที่ปัตตานี จนกระทั่งวันหนึ่ง เขามีโอกาสได้ไปเที่ยวทะเล ได้เห็นคนดำน้ำ ก็รู้สึกอยากมีประสบการณ์ในการดำน้ำบ้าง มันดึงดูดจนทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากงาน จองคลาสเรียนดำน้ำกับสถาบันสอนการดำน้ำอย่าง Professional Association of Diving Instructors (PADI) ทันที
      ในครั้งแรกที่ได้ออกทะเล ฮาฟิตซ์ทั้งตื่นเต้น และมีการเมาเรือ จากการที่ไม่เคยใช้ชีวิตในใต้น้ำลึก กังวลเรื่องการหายใจ การลอยตัว แต่พอเขาได้ลงใต้น้ำ ล้อมรอบด้วยน้ำทะเล เห็นทรายละเอียด แนวปะการัง มีปลามาแหวกว่ายอยู่รอบข้าง เขาเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกใต้น้ำ เป็นความรู้สึกดีและประทับใจอย่างบอกไม่ถูก จึงศึกษาการดำน้ำลึกอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มในการเรียน Open water ต้องดำน้ำเก็บสะสม Dive ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ลอยตัวได้ชิน และเก่ง จนได้พัฒนาไปในระดับ 2 คือ Advanced Open Water ระดับ 3 เป็น Rescue diver ระดับ 4 Dive master และในที่สุดก็พัฒนาตัวเองไปเป็น Instructor ครูสอนดำน้ำ นับจากวันนั้นจนวันนี้ ฮาฟิตซ์เป็นครูใต้น้ำ สะสมประสบการณ์มานานถึง 13 ปีแล้ว
จุดเริ่มของการกลับบ้าน มาเปิดสอนดำน้ำลึกเป็นที่แรกในชายแดนใต้
 

      ครั้งหนึ่ง ฮาฟิตซ์ มีโอกาสได้ไปดำน้ำในท้องทะเล จ.ปัตตานี จังหวัดบ้านเกิดของเขาเอง มีโอกาสได้ดำน้ำใน 3 จุดสำคัญ ได้แก่ เกาะโลซิน เกาะยือลาปี จ.ปัตตานี และจุดปะการังเทียมรถถัง จ.นราธิวาส ในครั้งนั้นการจะไป   ดำน้ำที่เกาะโลซิน ต้องขึ้นเรือที่สงขลา และล่องเรือไปที่เกาะโลซิน ครั้งนั้นฮาฟิตซ์ได้เจอฉลามวาฬ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักดำน้ำทุกคนอยากเจอ มันบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล นอกจากนั้นยังมีสัตว์ทะเลแปลก ๆ อย่าง แมนต้า โรนัน โรนิน  ปลาสวยงามต่าง ๆ  มีปะการังทุ่งเขากวาง กัลปังหาสีชมพูที่สวยงามมาก    ปลาโลมาที่มาโฉบบนผิวน้ำ ได้เห็นความสวยงามแบบแปลกตาของปะการังเทียมรถถัง จากรถถังที่อยู่ในสนามรบกลายมาเป็นบ้านของปลา สร้างประสบการณ์ที่สุดแปลกใหม่ของนักดำน้ำอย่างเขา

      ทริปดำน้ำในครั้งนั้นเองที่ทำให้ฮาฟิตซ์รู้ว่า ท้องทะเลปัตตานีบ้านเกิดของเขานั้นงดงามกว่าที่คาด ทำให้เขาอยากจะกลับมาอยู่บ้าน  เพื่อจะได้แนะนำพื้นที่ให้คนรู้จัก ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่สร้างความสุขให้ตัวเขา ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ได้เปิดโอกาสเปิดโลกทัศน์ให้กับคนใหม่ ๆ ที่ยังไม่รู้จักการดำน้ำ และไม่รู้จักโลกใต้น้ำว่าสวยงามขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทะเลในแถบจังหวัดชายแดนใต้ยังมีความสมบูรณ์สวยงามอย่างมาก ฮาฟิตซ์ จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิดที่ปัตตานี เปิดฟิตเนสตามทักษะเดิมที่เขาถนัด และตั้งโรงเรียนสอนดำน้ำลึกเป็นแห่งแรกของชายแดนใต้ที่ อ.เมืองนราธิวาส สอนดำน้ำในสระ และต่อด้วยกิจกรรมทริปดำน้ำ โดยล่องเรือกอและ ไปยังจุดชมปะการังของทะเลปัตตานี ได้แก่ เกาะโลซิน เกาะยือลาปี หรือจุดปะการังเทียมรถถังที่ จ.นราธิวาส รายได้ของเขาอาจจะน้อยลงกว่าการทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ฮาฟิตซ์ก็ได้มีความสุขกับครอบครัว ได้กินข้าวที่แม่หุง ได้ไปดำน้ำ ได้อยู่ใช้ชีวิตกับปลา อยู่กับธรรมชาติรอบตัว นี่คือสิ่งที่เขาต้องการ 

แนวคิดสร้างนักดำน้ำรุ่นใหม่ในการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม
      เมื่อฮาฟิตซ์ และทีมงานพานักดำน้ำมาชมความงามใต้ทะเลปัตตานี นอกจากธรรมชาติที่งดงามแล้ว ก็ยังต้องพบเห็นสิ่งที่ไม่น่าดูด้วยเช่นกัน นั่นก็คือขยะที่ติดอยู่ตามแนวปะการัง นอกจากไม่น่าดูแล้วยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศฯใต้น้ำ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่พวกเขาดำน้ำแล้วเจอขยะ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ขวด อวน โฟมหรืออื่น ๆ ก็จะช่วยกันเก็บมา เพื่อต้องการให้ทรัพยากรท้องทะเลคงอยู่เป็นบ้านของปลา ให้ธรรมชาติที่งดงามเช่นนี้คงอยู่กับคนไทยไปอีกนาน จนเกิดเป็นกิจกรรมกลุ่มอาสาสมัครนักดำน้ำ รวมตัวกันเก็บขยะบริเวณแนวปะการัง

      โดยในเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้จัดกิจกรรมเชิญชวนอาสาสมัครนักดำน้ำคนรุ่นใหม่มาร่วมกิจกรรม   เก็บขยะที่เกาะยือลาปี จ.ปัตตานี พื้นที่ที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ มีปะการังกับสัตว์น้ำหลากหลาย โดย จุดเริ่มของกิจกรรมในครั้งนี้ เกิดจากมีสมาชิกดำน้ำไป พบอวนขนาดใหญ่ปกคลุมแนวปะการัง เพราะเรือประมงลากอวนไปติดรถถัง และขาดติดอยู่ ทางกลุ่มจึงชวนกันมาช่วยกันนำอวนออกจากปะการังเทียม นอกจากนั้นยังมีปลาตัวเล็กตัวน้อยติดอยู่ด้วย เมื่อนำอวน และขยะอื่น ๆ ขึ้นมาได้แล้วก็จะทำการคัดแยกขยะ นำส่งให้กับเทศบาลดำเนินการต่อไป จากกลุ่มคนเล็ก ๆ เพียงไม่กี่คนในปัจจุบันมีนักดำน้ำ มากกว่า 50 ชีวิตที่พร้อมจะพิทักษ์ใต้ท้องทะเลเก็บให้ไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชม และร่วมกันดูแลอนุรักษ์ต่อไป ผู้สนใจกิจกรรมดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลสามารถติดต่อครูฮาฟิตซ์ เจ๊ะแม ได้ที่เฟสบุคเพจ Musclediver

ความคิดเห็น