วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567

โกโก้ พืชทางเลือกใหม่ชายแดนใต้ พร้อมบทเรียนจากอดีต

 28 ก.ย. 2563 14:11 น.    เข้าชม 7461

      จากปัญหายางพาราตกต่ำ ที่ส่งผลต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทยทั่วทุกภูมิภาค รัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราตกตํ่า ว่า มี 2 แนวทาง ได้แก่ ต่อยอดการแปรรูปยางพาราเพื่อใช้ประโยชน์ในประเทศให้ได้มากที่สุด และอีกแนวทางหนึ่ง คือ การลดการผลิตยาง โดย การปลูกพืชทดแทน หรือ แซมในสวนยาง ซึ่งพืชที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ โกโก้ โดยประเมินจากสภาวะตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลกมีความต้องการผลผลิตโกโก้เพิ่มขึ้น มีการนำเข้าโกโก้ในปี 2562 คิดเป็นมูลค่า 1,761 ล้านบาท
      ข้อมูลจากการศึกษาของภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า สภาพพื้นที่และภูมิอากาศของประเทศไทยนั้นเหมาะสมต่อการปลูกโกโก้เกือบทุกพื้นที่ แต่ปัจจุบัน มีการปลูกโกโก้เพียง 5,000 ไร่ทั่วประเทศ ปริมาณการผลิตได้เพียงไม่เกิน 200 ตัน แต่มีการนำเข้าปีละเกือบ 5 หมื่นตัน ขณะที่ตลาดช็อกโกแลตที่ใช้โกโก้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปทั่วโลก มีอัตราการเติบโตปีละ 6% ซึ่งถือว่าสูงมาก จึงถือเป็นโอกาสของประเทศไทย รวมถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เกษตรกรเริ่มให้ความสนใจพืชเศรษฐกิจชนิดนี้
เหลียวหลังแลหน้า บทเรียนจากนครศรีธรรมราช

      อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของนโยบายการส่งเสริมการปลูกโกโก้ เมื่อ 30 ปีก่อน ในพื้นที่ภาคใต้ บริเวณลุ่มน้ำคลองกลาย ตำบลสระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เคยเป็นแหล่งผลิตโกโก้สำคัญ แต่ก็เหมือนกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ที่เกษตรกรไม่มีความรู้ในการแปรรูป ทำได้เพียงการขายผลสด ซึ่งไม่มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน และเมื่อปลูกกันมากขึ้นปัญหาราคาตกต่ำจึงตามมา จนท้ายที่สุดเกษตรกรส่วนใหญ่ตัดสินใจโค่นต้นโกโก้ทิ้งหันไปปลูกพืชอย่างอื่น เช่น ยางพารา มังคุด ทุเรียน
      ปัจจุบัน วังเวียนนี้เกิดขึ้นกับยางพารา ซึ่งกลายเป็นพืชสวนที่กำลังล้มเหลว ต้นโกโก้ที่มีหลงเหลืออยู่ หรือที่มีการปลูกแซมพืชสวนอื่นกลายเป็นผลผลิตที่มีราคาดี แต่กลับไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่กำลังขยายตัว โกโก้จึงถูกให้ความสนใจอีกครั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเตรียมส่งเสริมเป็นพืชทดแทนยางพารา แต่เกษตรกรก็ยังหวั่นใจไม่มั่นใจว่าอนาคตโกโก้จะมีภาวะตลาดซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ รัฐบาลจึงควรต้องวางแผนให้ชัดเจนโดยยึดโมเดลการปลูกกาแฟที่เริ่มจากผู้ผลิตกาแฟ สู่เกษตรกร ประสานผู้ผลิต หรือ อุตสาหกรรมแปรรูปโกโก้ก่อนจะส่งเสริม เพื่อให้ตรงความต้องการ ปริมาณเพียงพอ และมีคุณภาพมากที่สุด
ช็อคโกแลตคราฟต์ อีกหนึ่งทางเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชน

      ปัจจุบันใน อ.ท่าศาลา มีการปลูกโกโก้ผสมผสานกับพืชอื่นเพียง 2-3 ต้นต่อไร่ ตำบลสระแก้วปลูกโกโก้รวมกันเพียง 50 ไร่ มีแหล่งรับซื้อขนาดเล็กที่อำเภอท่าศาลาเป็นธุรกิจในครัวเรือน เนื่องจากมีเกษตรกรที่ได้ไปเรียนรู้การผลิตช็อคโกแลต ตั้งแต่การเลือกเก็บเกี่ยวผลโกโก้ การหมักเมล็ด ตากแห้ง นำไปคั่ว และบดจนได้เป็นช็อคโกแลต      โฮมเมด และมีการนำผลผลิตโกโก้ไทยที่ปลูกใน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ไปแปรรูปส่งประกวดแล้วชนะในเวทีโลก International Chocolate Awards ปี 2018 และ 2019 โดยร้าน PARADAI Craft Chocolate ผู้ประกอบการผลิตช็อคโกแลตเจ้าแรกของเมืองไทย จากแนวคิดที่ว่า วัตถุดิบท้องถิ่นของไทยไม่ได้ด้อยกว่าใคร แต่มีความแตกต่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของวัตถุดิบ จึงใช้ส่วนผสมทั้งหมดเป็นวัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้น รวมถึงลายไทยบนช็อคโกแลต และบรรจุภัณฑ์ นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่สามารถส่งเสริมการผลิตที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชนได้
โอกาสใหม่ของชาวจังหวัดชายแดนใต้ที่มาพร้อมบทเรียน

      พื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกโกโก้ คือ ภาคใต้ เพราะโกโก้ชอบอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุก การปลูกโกโก้สามารถปลูกได้ในร่มเงาของพืชสวนชนิดอื่น เกษตรกรสามารถใส่เพียงปุ๋ยคอก ต้นก็เติบโตตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี สิ่งสำคัญคือ ต้องมีน้ำสม่ำเสมอตลอดปี โกโก้จะออกดอก และติดผลได้ดี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี ต้นโตไว และมีอายุยาวเป็นร้อยปี โดยการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเริ่มจากปีที่ 3 หลังจากการปลูกลงดิน
      ปัจจุบัน พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้มีเกษตรกรให้ความสนใจเริ่มปลูกต้นโกโก้กันเป็นจำนวนมาก ทั้งจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีสถาบันการศึกษา เช่น วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งได้ให้ความรู้ โดยจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้ความรู้ และสาธิตเกี่ยวกับการปลูกโกโก้เป็นพืชแซมสวนยาง เพื่อสร้างทางเลือกในการเพาะปลูก และเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนยางในอนาคต และเริ่มมีบริษัทเอกชนหลายบริษัทเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นโกโก้ พร้อมทั้งยังทำสัญญารับซื้อผลโกโก้ โดยประกันราคาผลโกโก้ขั้นต่ำ

      สิ่งสำคัญคือ องค์ความรู้ในการแปรรูปที่ควรมีควบคู่ไปกับการปลูกโกโก้ รวมถึงความจำเป็นในการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกร เพื่อที่จะสามารถรวบรวมผลผลิต และแปรรูปเบื้องต้นเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้มากขึ้น จากผู้ผลิตต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ ดังเช่น การส่งเสริมการแปรรูปยางพาราให้เกษตรกรสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราในลักษณะของนวัตกรรม เป็นแผ่นยางพาราปูพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยกลุ่มเกษตรกรทำสวนยาง และผลิตภัณฑ์ยางตาชี จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ทางภาครัฐ และเอกชนควรให้การสนับสนุน ทั้งในด้านการให้ความรู้ และนวัตกรรมในการผลิตและแปรรูป เพื่อความมั่นคง และยั่งยืนของคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน ไม่ซ้ำรอยวังวนเดิมอีกต่อไป

ความคิดเห็น