วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

น้ำผึ้งชันโรง จังหวัดชายแดนใต้ จากแมลงรำคาญ สู่การตลาดแบบยั่งยืน

 28 ก.ย. 2563 14:20 น.    เข้าชม 4923

      ความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับสังคมใดก็ตาม มักจะมีการมองต่างมุมอยู่เสมอในกระบวนการเปลี่ยนแปลงมุมมอง และทัศนคติ หนึ่งในเรื่องราวแห่งความเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืนเกิดขึ้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ณ บ้านเกาะแลหนัง อ.เทพา จ.สงขลา และขยายสู่พื้นที่ทั้ง 4 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีจุดเริ่มจากชายคนหนึ่งที่หลายคนมองว่า “เพี้ยน” ไม่มีใครคาดคิดว่าการกระทำของเขาจะนำมาซึ่งความสำเร็จของชุมชน  จากการเลี้ยงตัวชันโรงที่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นแมลงน่ารำคาญ วันนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่สร้างผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่า ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
      “ชันโรง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “อุง” เป็นแมลงในตระกูลผึ้งชนิดไม่มีเหล็กไน น้ำผึ้งชันโรงมีคุณค่าทางสารอาหารสูง มีสรรพคุณทางยาเนื่องจากมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ไบโอฟลาโวนอยด์ กรดอะมิโน วิตามิน และแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ มากมายทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดการแพทย์สูงมาก ความพิเศษเช่นนี้มีที่มาจากลักษณะพฤติกรรมการหาอาหารของตัวชันโรงที่คล้ายแต่ไม่เหมือนผึ้ง เพราะมันไม่จำกัดชนิดของพืชพันธุ์ และดอกไม้ที่จะเก็บน้ำหวาน และยังเป็นที่มาของรสชาติเปรี้ยวอมหวาน  ให้ความสดชื่นคล้ายกับดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาว 
เริ่มจากศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้และลงมือทำ

      เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงข้างต้นมีจุดเริ่มมาจาก คุณสมศักดิ์ หนิหลง หรือ บังนิก ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง บ้านเกาะแลหนัง อ.เทพา จ.สงขลา บังนิก เป็นคนบ้านเกาะแลหนังแต่กำเนิด เกิดและเติบโตที่นี่ จนกระทั่งอายุ 20 ปี ได้ออกไปทำงานนอกพื้นที่เหมือนกับวิถีคนรุ่นใหม่ทั่วไป ขณะนั้นมีความสนใจเรื่องน้ำหอมกฤษณา  จึงไปทำงานด้านนี้ที่มาเลเซีย และอินโดนีเซียอยู่หลายปี จนกระทั่งเมื่อปี 2555 ที่ได้มีโอกาสพบเพื่อนชาวมาเลเซียที่ทำฟาร์มผึ้งชันโรง ก็เกิดความสนใจ และคิดว่าเป็นงานท้าทาย เพราะในประเทศไทยแทบไม่มีใครสนใจการทำน้ำผึ้งชันโรงเลย แต่บังนิกจำได้ว่า สมัยยังเด็กเดินป่าเห็นชันโรงมากมาย ตามบ้านเรือนก็มีมาทำรังอยู่ตามชายคา และโพรงตามเสาเรือนเต็มไปหมด สร้างความรำคาญให้กับผู้คน

      เมื่อบังนิกตัดสินใจกลับบ้านเกิดเพื่อทำฟาร์มเลี้ยงผึ้งชันโรง ในยุคที่ยังไม่มีใครทำ ไม่มีตัวอย่างให้ไปศึกษาดูงาน     ก็เริ่มต้นจากการไปหาผึ้งชันโรงในป่า เก็บมาขยายพันธุ์ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องสายพันธุ์     การเลี้ยง การเก็บผลผลิต รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณประโยชน์ของน้ำผึ้งชันโรง ยิ่งทำให้มั่นใจว่าสิ่งนี้สามารถเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงได้ พบข้อดีหลาย ๆ อย่างของการทำฟาร์มเลี้ยงผึ้งชันโรง ได้แก่ เป็นธุรกิจการเกษตรที่ทำครั้งเดียว สร้างรัง และจัดหาสายพันธุ์ผึ้งชันโรง จากนั้นก็สามารถเก็บผลผลิตได้ยาวนาน ไม่ต้องให้อาหารให้น้ำหรือใส่สารบำรุงใด ๆ เช้ามาผึ้งชันโรงก็ออกไปหาน้ำผึ้งมาให้เรา ผู้เลี้ยงมีหน้าที่เพียงแค่ดูแลความปลอดภัยให้ ไม่ให้ศัตรูอย่าง กบ จิ้งจกเข้ามาทำร้ายเขา โดยการสร้างโรงเรือนสูงขึ้นจากพื้น 50 ซม. บังนิกใช้เวลาริเริ่ม ทดลองทำจริง ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เริ่ม ชวนญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านมาทำทีละคนสองคน เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงยอมรับ จากการที่เห็นรายได้ที่เข้ามาทุกเดือน สมาชิกกลุ่มเริ่มอยู่ได้ จากเคยขี่รถเครื่องเริ่มได้ ขับรถยนต์
คิดถึงน้ำผึ้งชันโรง คิดถึงบ้านเกาะแลหนัง

      วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านเกาะแลหนัง ในปัจจุบันมีสมาชิกในหมู่บ้านเกาะแลหนัง 15 ราย และในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อีก 15 ราย โดยมีที่ทำการวิสาหกิจฯ เป็นจุดกลางในการรวบรวม การแปรรูป การขนส่ง รวมถึงการทำการตลาดที่บังนิกให้ความสำคัญมาก ในช่วงเริ่มต้นกิจการนั้นคนไทยไม่รู้จักน้ำผึ้งชันโรง ทางกลุ่มฯ จึงส่งขายตลาดมาเลเซียเป็นหลัก โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาล ซึ่งให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ผ่านการทำเคมีบำบัด ได้ดื่มน้ำผึ้งชันโรงเพื่อเป็นการฟื้นฟูร่างกาย ต่อมาผลผลิตจากฟาร์มในมาเลเซีย       มีมากขึ้น ยอดขายของทางกลุ่มฯ ก็ลดลง จึงระดมสมองกันว่าจะทำยังไง โดยวิเคราะห์ว่าทางกลุ่มเริ่มทำมา 3 ปีแล้ว น้ำผึ้งชันโรงเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นในหมู่คนไทย จึงตัดสินใจเริ่มทำตลาดในไทย โดยเริ่มจากการออก      บูธงานแสดงสินค้า แม้ตอนแรกจะยังขายไม่ได้ แต่ถือว่าได้ประชาสัมพันธ์

      ก้าวต่อมาก็เป็นเรื่องของการทำให้ไว้วางใจ และมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์     การบริหารสินค้าชุมชนเพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยเน้นการรับประกันคุณภาพ ความสะอาด และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มจึงเข้าสู่กระบวนการทำมาตรฐาน อาหารและยา (อย.) และมาตรฐานฮาลาล โดยใช้เวลาถึง 1 ปี จึงได้ตราสัญลักษณ์ อย. และฮาลาล มาอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ในที่สุดปี 2560 จึงเริ่มวางขายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งในตอนแรกก็ยังใช้วิธีวางจำหน่ายตามจุดจำหน่ายสินค้าตามแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งผลตอบรับที่ได้คือ สินค้าขายออกยาก เพราะคนที่ขายไม่ได้รู้ถึงข้อมูลของสินค้า
จากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ควบคู่การพึ่งตนเองด้านโลจิสติกส์

      ในช่วงปี 2560 ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ตัดสินใจเปิดร้านในห้างสรรพสินค้าที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นหน้าร้านวางขายสินค้า โดยลงทุนไปถึงสามแสนบาท แต่เปิดได้แค่สามเดือนก็ต้องปิดตัวลง สาเหตุเพราะบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ รอรับของที่บ้าน ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลามาซื้อที่หน้าร้าน ลูกค้ายังสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมในการตัดสินใจ จากการเสิร์ชดูว่าข้อมูลเราถูกต้องหรือไม่ เปรียบเทียบกับร้านอื่น ๆ ดูการรีวิวสินค้า และพบว่า หากลูกค้าตัดสินใจซื้อก็จะเกิดการสั่งซื้อประจำ ทางกลุ่มจึงตัดสินใจเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มที่ มีการสร้างช่องทางการจำหน่ายทางแอพพลิเคชั่น Lazada, Shopee, เว็บไซต์ Thailand post mart และ Otopsongkhla และยังมีช่องทางไลน์ และเพจเฟสบุค น้ำผึ้งชันโรง ตราบ้านเกาะแลหนังอีกด้วย 

      ปัจจุบัน กว่า 90% ของลูกค้ามาจากช่องออนไลน์ เมื่อมีช่องทางการขายออนไลน์หลากหลาย กิจกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ การขนส่ง เพื่อส่งสินค้าให้ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันระบบโลจิสติกส์ก้าวหน้า และแข่งขันสูง ราคาค่าขนส่งถูกลงมากและรวดเร็ว แต่ในช่วงแรกทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ยังประสบปัญหาการจัดการที่คุ้มทุน เนื่องจากอยู่ไกลจากจุดบริการขนส่งในตัวเมือง บังนิกจึงได้วางกลยุทธใหม่ ตัดสินใจต่อยอดการขนส่งโดยซื้อแฟรนไชส์ขนส่งมาเปิดในหมู่บ้าน ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนการขนส่งสินค้าของกลุ่มเอง ได้รายได้จากการส่งพัสดุในพื้นที่ และได้เปอร์เซ็นต์ค่าส่งรวมอีกด้วย
ความยั่งยืนจากการรวมกลุ่ม

      การมุ่งมั่นทำสิ่งใดจนประสบความสำเร็จ ควบคู่ไปกับการได้ช่วยคนอื่นนั้นเป็นความสุขที่แท้จริง บังนิก เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ร่วมสร้างความสุข ความเจริญ และความสันติให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างแท้จริง ทำให้เราได้เข้าใจว่า ความคิดที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องแปลกหรือทำให้แตกแยกแต่อย่างใด แต่ความแตกต่างนั้นจะต้องมีการร่วมมือกันพิสูจน์เพื่อให้เห็นประจักษ์ต่อสายตาว่าสิ่งที่เป็นความฝันอยู่นั้นจะกลายเป็นความจริงขึ้นได้อย่างไร จากการเรียนรู้ สู่การมุ่งมั่นลงมือทำ ปรับเปลี่ยน ต่อยอด วางแผนได้อย่างรอบคอบ รอบด้านครบทุกมิติ มีการอบรมส่งต่อความรู้ให้กับผู้สนใจ ปัจจุบันวิสาหกิจเลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านเกาะแลหนังนั้นประสบความสำเร็จ สร้างความยั่งยืนให้แก่สมาชิกกว่า 30 คนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งออกน้ำผึ้ง 200-300 กิโลกรัมต่อเดือน มูลค่าหลักแสน เป็นตัวชี้วัดแห่งความสำเร็จการรวมกลุ่มของพี่น้องในพื้นที่ ที่นำไปสู่ความสันติ และก่อให้เกิดความสุขที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้อย่างยั่งยืนสืบไป

ความคิดเห็น