วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

ผ้ามัดย้อมดินมายา ต่อยอดภูมิปัญญาสู่โจทย์การออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน

 28 ก.ย. 2563 14:27 น.    เข้าชม 4543

      การประกวดออกแบบระดับเยาวชนแห่งชาติ (National Youth Design Award) เป็นเวทีระดับประเทศเพื่อแสดงความสามารถของเยาวชนนิสิตนักศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็นเวทีน้องใหม่ในวงการศิลปะ โดยมีการจัดประกวดครั้งแรกในปี 2560 มีเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานการออกแบบในระดับเยาวชน ในสาขาต่าง ๆ สู่มืออาชีพ และให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  เปิดโอกาสให้นักศึกษาในสถาบันศิลปะการออกแบบของไทยได้ใช้ความรู้ความสามารถให้การออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ และนำเสนอสู่สาธารณะ และที่สำคัญคือการใช้องค์ความรู้เหล่านี้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม และชุมชนท้องถิ่น โดยมีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

      ในการประกวดแต่ละปีจะมีโจทย์ และประเภทการประกวดที่แตกต่างกันไป เช่น ประเภท การออกแบบอัตลักษณ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือการออกแบบสภาพแวดล้อม และโจทย์การประกวด ทั้งในระดับประเทศ เช่น        การออกแบบตราสัญลักษณ์สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562  หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน โจทย์หลักของการประกวดในปี 2563 ได้แก่ การออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน สำหรับการประกวดออกแบบประเภทเครื่องแต่งกาย เป็นการออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าสีย้อมจากดิน ”สีมายา”
ผ้าสีมายา ผ้าของแผ่นดิน

      เขาถ้ำพระนอนบ้านหน้าถ้ำหมู่ 1 ตำบลหน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทั้งวัดคูหาภิมุข ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่สมัยศรีวิชัย และแหล่งโบราณสถานสำคัญวัดถ้ำศิลป์ ที่มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณล้ำค่าอายุกว่า 3,000 ปี ที่สำคัญที่นี่ยังเป็นแหล่งดินมายา หรือดินบายอที่เกิดจากการกัดกร่อนของหินปูน ทับถมกับซากพืช และมีขี้ค้างคาวผสมอยู่ ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีปุ๋ยเคมีแพร่หลายชาวบ้านมีอาชีพเสริมจากการทำเกษตร โดยการนำดินมายานี้ เอง มาบรรจุถุงขายเป็นปุ๋ยชั้นดี
      จากการทำอาชีพขายปุ๋ยดินมายา ทำให้ชาวบ้านเกิดข้อสังเกตุอย่างหนึ่งคือ เมื่อดินมายาเปื้อนเสื้อผ้า จะติดแน่นจนซักไม่ออก ในปี 2558 ได้เกิดการรวมกลุ่มของแม่บ้านเผื่อสร้างงานในชุมชน และได้ใช้ข้อสังเกตุดังกล่าวมาคิดค้นผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้น โดยการนำดินมายามาใช้ในงานมัดย้อมผ้า ปัจจุบันกลุ่มสามารถสร้างสรรค์ผ้ามัดย้อมได้กว่า 10 ลาย และได้มีการพัฒนาชิ้นงานโดยใช้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนสีโบราณในวัดถ้ำศิลป์ นำลวดลายที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนโบราณ เช่น ภาพคนยิงธนู คนหาบน้ำ  มาสกรีนลงบนผ้าผสมผสานไปกับการย้อมสี กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ชุมชนบ้านหน้าถ้ำ

      กระบวนการทำผ้าสีมายา จะนำดินจากเขาหน้าถ้ำ หรือเขากำปั่น มาละลายกับน้ำ กรองเอากรวดหินสิ่งเจือปนออก ระหว่างนั้นก็จะนำผ้ามาเตรียมก่อนการย้อม โดยเริ่มจากการล้างผ้า และนำมาตากแห้ง แล้วจึงนำผ้าไปพับ ม้วน หรือขด  และมัดเพื่อทำให้เกิดลวดลายเวลาย้อม จากนั้นจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการย้อมสี ที่มีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่การย้อมเย็น และการย้อมร้อน การย้อมสีจากดินมายาจะใช้วิธีการย้อมเย็น ส่วนวิธีการย้อมร้อนจะใช้กับการย้อมสีจากพืช เช่น มังคุดให้สีชมพู ใบหูกวางให้สีเขียวอมเหลือง ฝักของต้นราชพฤกษ์ให้สีเทา เมื่อย้อมจนได้สีที่ต้องการแล้วก็จะนำผ้ามาล้างให้สะอาด จากนั้นผึ่งให้แห้ง แต่ห้ามโดนแดด เมื่อผ้าแห้งดีแล้วก็จะนำมารีด และเข้าสู่กระบวนการตัดเย็บ หรือจำหน่ายต่อไป

      ปัจจุบัน กลุ่มสีมายา มีสมาชิก  20 คน ร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์สีมายามากมาย อาทิ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าชิ้นลวดลายวัฒนธรรม ผ้าคลุมอเนกประสงค์ ผ้าเช็ดหน้า (เล็ก/ใหญ่) กระเป๋าแฟชั่น กระเป๋าฟักทอง กระเป๋าลายถ้ำศิลป์ กระเป๋าสับปะรด กระเป๋าอเนกประสงค์ กระเป๋าโยคะ กระเป๋าลดโลกร้อน และยังมีการขยายผลิตภัณฑ์จากดินมายาสู่การทำ “ไข่เค็มดินมายา” เป็นไข่เค็มที่ทำโดยใช้ดินมายามาผสมกับเกลือ และขี้เถ้า นอกจากนี้ทางกลุ่มได้ใช้ที่ทำการของกลุ่มจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลหน้าถ้ำ มีนักเรียน นักศึกษาประชาชน องค์กรต่าง ๆ มาเยี่ยมชม และเรียนรู้สัปดาห์ละกว่า 400 คน ทั้งยังเป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ของฝากที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่สำคัญของ จ.ยะลา อีกด้วย
ต่อยอดภูมิปัญญาด้วยการพัฒนาการออกแบบ

      จากศักยภาพในการทำงานของกลุ่ม และความเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้โครงการการประกวดออกแบบระดับเยาวชนแห่งชาติมองเห็นความสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์ให้กับชุมชนสูงสุด จึงได้รับเกียรติให้เป็นโจทย์ในออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อชุมชน ในประเภทการออกแบบเครื่องแต่งกาย โดยให้ผู้เข้าประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายพร้อมใช้ (Ready to wear) โดยผลิตจากผ้ามัดย้อมสีมายา อาจผสมผสานวัสดุอื่นได้เล็กน้อย เช่นกะลามะพร้าว การปัก ซึ่งชาวบ้านมีเครือข่ายผู้ผลิตอยู่แล้ว และต้องมีรูปแบบที่ง่ายต่อการผลิต ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจักหรือเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจากหลากหลาย สถาบันการศึกษา

      ผลการตัดสินมีผู้ได้รับรางวัลประเภทการออกแบบเครื่องแต่งกาย ได้แก่ คุณสุทธิเชษฐ์ บุญมีรักษ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศเป็นของ คุณนภสร พาณิชพัฒน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรางวัลชมเชย คุณอดิศร สลางสิงห์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมการประกวด ทางคณะทำงานก็ได้ทำการส่งมอบแบบตัดเย็บเครื่องแต่งกาย (pattern) ที่ได้รับรางวัลจากการประกวด ให้แก่ทางกลุ่มสีมายา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อทางกลุ่มจะได้นำไปพัฒนาต่อยอดขยายผลิตภัณฑ์ ให้กับประชาชนทั่วไปได้รู้จักผ้าสีมายาของ จ.ยะลา สามารถสร้างคนสร้างอาชีพสร้างรายได้แล้วก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สีมายา สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ เฟสบุคเพจ: กลุ่มสีมายา หน้าถ้ำ

ความคิดเห็น