วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

หลักสูตรออนไลน์ที่จะช่วยสร้างคุณให้เป็นผู้นำเมืองอัจฉริยะ

 2 ธ.ค. 2563 12:45 น.    เข้าชม 4204

          Smart city เป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 โดยนำเอาเทคโนโลยีด้านข้อมูล และโทรคมนาคมใช้ร่วมกับการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิผลที่ได้รับ ในเมืองใหญ่ ๆ ล้วนต่างใฝ่ฝันที่จะเป็นเมืองน่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ประชากรมีสุขภาพและสวัสดิภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมในเมืองมีคุณภาพการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ในประเทศไทย หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการในการผลักดันเรื่อง เมืองอัจฉริยะ ได้แก่ สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) มีเป้าหมายการดำเนินการเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

          ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) มีการร่วมทำงานกับจังหวัด และท้องถิ่นเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเสนอเข้ารับประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะโดยมีจังหวัดปัตตานี เทศบาลนครยะลา จังหวัดสตูล และเทศบาลนครหาดใหญ่เป็น 4 ใน 27 เมืองที่เสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะเมื่อปลายปี 2562 และกำลังปรับปรุงแผนพัฒนาเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ New Normal ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในแต่ละเมืองมีความแตกต่างกันไป ตามบริบทของรูปแบบวิถีชีวิตของคนในเมืองนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งวัฒนธรรมความเชื่อ แม้แต่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ไม่ว่าจะเป็น ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ก็ยังมีรูปแบบและรายละเอียดที่มีความแตกต่างกัน การทำให้โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เป็นสังคมเมืองอัจฉริยะจึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ

คอร์สออนไลน์ หลักสูตรพื้นฐานการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

          สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จึงได้พัฒนาสื่อความรู้เป็นคอร์สออนไลน์ที่นำเสนอพื้นฐาน    องค์ความรู้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีหลักสูตรแรกที่พัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตรออนไลน์ได้แก่Fundamental of Smart City” หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้นำการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย และผู้สนใจทั่วไป ที่ต้องการปูพื้นฐานด้านการการวางแผนเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อต่อยอดในการเรียนและการอบรมขั้นสูง สำหรับการประกอบวิชาชีพในเครือข่ายผู้นำเมืองอัจฉริยะ    เป็น 1 ใน 5 องค์ประกอบของหลักสูตรผู้นำเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ Chief Smart City Officers (CSCO)

คอร์สนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อหลัก ดังต่อไปนี้

          1. แนะนำการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (Introduction of Smart City Thailand) โดย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในบทเรียนแรกนี้จะอธิบายว่า ทำไมต้องพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ความหมายของเมืองอัจฉริยะคืออะไร และแนวทางในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นอย่างไร

          2. การวางแผนโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities: Urban

Infrastructure Plan for Smart City Development) โดย รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล ในบทที่ 2 จะเป็นการสร้างความเข้าใจในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ ประสบความสำเร็จ และการบูรณาการแผนเมืองอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่เมืองมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน

          3. โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Smart Cities: City Data Platform, Big Data, IoT, and IoC)

โดย รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบัน Government Big Data Institute, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในบทเรียนนี้จะนำเข้าสู่การทำความเข้าใจในส่วนของ Big Data Behavior, Big Data Timeline, Smart City Focuses, Data Platform และ Data Governance

          4. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี (Citizens at the Center: A Practical Approach to Building a Smart City) โดย ดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล บทเรียนที่ 4 จะเป็นการอธิบาย 3 คอนเซ็ปท์หลัก และกระบวนการ Design Thinking และ Business model canvas ที่จะใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

          5. แนวทางการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City, Technology and You) โดย ดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในบทเรียนนี้จะตอกย้ำถึงความสำคัญของข้อมูล ที่มีต่อการตัดสินใจของผู้คน นำมาซึ่ง Data platform จนไปถึง IoT Solution Technology อันเป็นแนวทางการสร้างเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน

          6. เทคนิคในการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินในการจัดทำโครงการ เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities: Development Economics and Financial feasibility for Smart City Project) โดย นายวิศิษฐ์ เพชรชูพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วยองค์ความรู้ด้านการบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็น Project Feasibility, การประเมินศักยภาพองค์กร, การประเมินโอกาสทางการตลาด, ประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และการตัดสินใจลงทุน

ผู้สนใจสามารถสมัครเรียนฟรีได้ที่ https://www.coursesquare.co/course/courseInfo/The-Fundamentals-of-Smart-City หลังจากผ่านการอบรมครบทุกองค์ประกอบ และผ่านแบบทดสอบตามหลักสูตร ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตร

ความคิดเห็น