วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

โครงการทหารพันธุ์ดี กับการเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ จชต.

 15 ก.พ. 2564 16:31 น.    เข้าชม 3298

          เมื่อพูดถึงเรื่องความมั่นคง คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง “การรบทัพจับศึก” แต่จริงๆ แล้ว คำว่า ความมั่นคง มีความหมายมากมายหลากหลาย อาทิเช่น ความมั่นคงทางด้านพลังงาน ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านการเมือง และ ในด้านอื่นๆ  ในทำนองเดียวกัน หากพูดถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง “ทหาร” ที่มีหน้าที่หลักในเรื่อง “การรบทัพจับศึก” นั่นคือ ภาพของ “ทหาร” ในอดีตที่อยู่ภายใต้บริบทความมั่นคงแบบเดิม (Conventional Security Context)

ทหาร กับ การแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่

          ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ว่า ความมั่นคง ในโลกยุคปัจจุบัน หรือ โลกที่กำลังถูก Disruption ทั้งด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และ สิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เราต้องเผชิญอยู่กับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยวิธีการแบบเดิมที่เคยใช้ได้ผลมาในอดีต

          ทหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักทางด้านความมั่นคง ก็ต้องมีการปรับตัว ปรับบทบาท ประยุกต์ใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้บริบททางด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กับ หน่วยงานด้านความมั่นคง

          ต้องยอมรับข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ผู้คนทุกคนในสังคมต้องกินต้องใช้ ต้องมีอาหารให้บริโภคครบทุกมื้อ รวมไปถึงปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีพ และการให้ได้มาซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมต้องอาศัยความสามารถทางเศรษฐกิจ แน่นอนหากสภาวะทางเศรษฐกิจมีความเป็นปกติ ผู้คนทั่วไปก็จะไม่มีปัญหาในการให้ได้มาซึ่งปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อชีวิตเหล่านี้

          คำถามก็คือ หากสภาวะเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีปัญหาในด้านความมั่นคง หรือ ในพื้นที่ที่มีความรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น หน่วยงานด้านความมั่นคง เฉกเช่น ทหาร จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความมั่นคงในมิติทางเศรษฐกิจให้กับผู้คนในบริบทเหล่านั้นได้อย่างไร

โครงการทหารพันธุ์ดี กลไกเสริม เพิ่มเติมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

          หนึ่งในตัวอย่าง ในการเป็น “หน่วยงานด้านความมั่นคง” ยุคใหม่ ที่อาศัยเครื่องมือในหลายหลายมิติ มาช่วยเสริมความมั่นคงในกับพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง นั่นคือ “โครงการทหารพันธุ์ดี” มาเป็นเครื่องมือในการเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมิติความมั่นคงที่สำคัญยิ่งต่อภาพรวมของระดับความมั่นคงในพื้นที่หนึ่งๆ

          กองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานด้านความมั่นคงที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาจัดทำเป็นกิจกรรมในการเสริมสร้างศักยเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาหน่วยทหารในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ ผักคุณภาพดี และกระจายผ่านให้กับประชาชนในพื้นที่ ต่อจากนั้นถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ สู่กำลังพล และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพ และเป็นแหล่งผลิตอาหาร สำหรับเลี้ยงตนเองในยามสถานการณ์ไม่ปกติ และในระยะยาวจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตทหาร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องเกษตรกรรมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          ตัวอย่างของ “โครงการทหารพันธุ์ดี” ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ได้แก่ “โครงการทหารพันธุ์ดี ของ หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้สามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาปัญหาในเรื่องการเพิ่มรายได้ ให้กับประชาชนที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID 19 ไม่ว่าจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนแต่ละครัวเรือน ในการหาซื้อพืชผัก และไข่เป็ด ไข่ไก่ ที่ทหารจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชน ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด แถมยังเป็นพืชปลอดสารพิษ

สรุป

          การแก้ไขปัญหาความมั่นคง หรือ ปัญหาความรุนแรง ในโลกยุคปัจจุบันนั้น จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เนื่องจากความมั่นคงในภาพรวมในพื้นที่หนึ่งๆ นั้น เป็นผลรวมมาจากความมั่นคงของในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญที่ต่อการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน หน่วยงานด้านความมั่นคงนอกเหนือไปจากการดูแลในเรื่องความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินแล้ว ยังต้องมีขีดความสามารถในการเรื่องการสร้างศักยเศรษฐกิจในระดับพื้นฐานได้อีกด้วย

          โครงการทหารพันธุ์ดี เป็นหนึ่ง ในตัวอย่างการประยุกต์ศักยภาพที่หน่วยงานด้านความมั่นคงมีอยู่ มาเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างศักยเศรษฐกิจให้กับหน่วยงานตนเอง และขยายผลสู่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ อีกทั้งยังเป็นการสร้างกำลังพลให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพในอนาคตอีกด้วย

ความคิดเห็น