วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

พลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชนด้วยมะพร้าวสายบุรี

 17 ก.พ. 2564 20:38 น.    เข้าชม 3723

          มะพร้าวนั้นถือว่าเป็นพืชที่มีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของคนไทยอย่างมาก ในปัจจุบันมะพร้าวได้ถูกนำมาผลิตเป็นอาหารและแปรรูปเป็นของใช้ต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย รวมถึงมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ในประเทศไทยของเรามีแหล่งปลูกมะพร้าวอยู่ที่ภาคกลางและภาคใต้ และที่ตำบลบ้านแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีเองนั้น        ก็เป็นแหล่งการปลูกมะพร้าวดั้งเดิมของภาคใต้ตอนล่าง แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมาอาชีพการทำสวนมะพร้าวในพื้นที่แห่งนี้ได้กำลังถูกกลืนหายไป เนื่องจากว่าเกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจในการบำรุงดูแลต้นมะพร้าว ผลผลิตต่อไร่  มีปริมาณลดลง เนื่องจากต้นมะพร้าวมีอายุมากขึ้น แต่ในปัจจุบันนี้พวกเขาได้พลิกฟื้นอาชีพการทำสวนมะพร้าว ให้กลับมาเป็นอาชีพหลัก และสามารถสร้างรายได้ ได้เป็นอย่างดีให้กับชาวบ้านในพื้นที่ด้วยการใช้หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่

          มะพร้าวสายบุรีเป็นที่นิยมของพ่อค้าที่คั้นกะทิขาย เพราะให้ความมันหวานหอม อำเภอสายบุรี เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจังหวัดปัตตานี ประชาชนมีอาชีพการทำนาและทำสวนผลไม้เป็นหลัก โดยในทุก ๆ สวนจะมีการปลูกมะพร้าวแซมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก และสวนมะพร้าวดั้งเดิมที่นี่ก็มีอายุต้นเฉลี่ย 40-60 ปี       ซึ่งการปลูกมะพร้าวในพื้นที่ตำบลแป้น อำเภอสายบุรี  นั้นทำมานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย แต่ปล่อยตามธรรมชาติ ใส่ปุ๋ยบ้าง ไม่ใส่บ้าง อาศัยเผาทางมะพร้าวที่โคนต้นเป็นการบำรุง ส่วนใหญ่ปลูกมะพร้าวเอาไว้กิน และมีการแปรรูปขายเป็นมะพร้าวย่าง โดยมีผู้รับซื้อเอาไปทำน้ำมัน จนช่วงหนึ่งตลาดเริ่มดีขึ้นลูกละ 3 บาท ชาวเจ้าบ้านจึงเปลี่ยนมาขายผลทั้งเปลือก โดยมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อมะพร้าวจากสวน ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้เลย ประกอบกับผลผลิตส่วนใหญ่นั้นยังไม่มีคุณภาพ เพราะเกษตรกรไม่ได้ให้ความสำคัญกับการบำรุงดูแลต้นมะพร้าวมากนัก

ก่อเกิดวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะพร้าวบ้านแป้น

          ต่อมาเมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอสายบุรี มีการจัดทำโครงการเกษตรแปลงใหญ่เข้ามา เกษตรกรจึงรวมกลุ่มกันในพื้นที่หมู่ 6 ตำบล บ้านแป้น อำเภอสายบุรี จำนวน 30 ราย ซึ่งภายหลังได้มีเกษตรกรจากหมู่บ้านอื่นสนใจเข้าร่วมกลุ่มด้วย จึงได้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะพร้าวบ้านแป้น โดยการสนับสนุนของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งใช้กระบวนการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาปรับใช้   ในการพัฒนากลุ่ม ช่วยค้นหาเป้าหมายว่าทำไมถึงต้องตั้งกลุ่ม วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน มาพัฒนากลุ่ม พาไปศึกษาดูงานกระบวนการผลิต ตั้งแต่เรื่องสายพันธุ์ การดูแล การเก็บรวบรวม การแปรรูป จัดจำหน่ายทำอย่างไรมีชาวบ้านให้ความสนใจเข้าร่วมมาก โดยปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 121 ราย และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักพัฒนาชุมชน พัฒนาที่ดิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          แม้ว่าวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะพร้าวบ้านแป้น จะมีแหล่งรวบรวมผลผลิตมะพร้าวร่วมกัน โดยการรับซื้อจากสมาชิกในราคายุติธรรม เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้กับเกษตรกร ในการเป็นผู้ควบคุมกลไกตลาดแล้ว แต่ก็ยังคงพบกับปัญหาการปั่นราคาจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งในเรื่องนี้พวกเขาหลีกเลี่ยงในเรื่องของความขัดแย้ง และมองว่าจะต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรกลุ่มสมาชิก สร้างแรงจูงใจจากการขายในราคาตลาด จากเดิมที่เคยขายได้ลูกละ 3-4 บาท มาอยู่ที่ 13-14 บาท นอกจากนี้ยังมีการกันผลกำไรไว้ส่วนหนึ่งนำมาเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิก และมุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการผลิตในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เมื่อมีงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะเลือกให้การสนับสนุนกับสมาชิกที่ทำตามเงื่อนไขของกลุ่มก่อน

รักษาความหลากหลาย เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน

          วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะพร้าวบ้านแป้น แม้ว่าจะก่อตั้งมาได้เพียงสองปี แต่การดำเนินงานเป็นไปอย่าง  ก้าวกระโดด ผลดำเนินงานเติบโตเกินคาด ปัจจุบันผลผลิตมะพร้าวมีตลาดรองรับที่แน่นอน เฉลี่ย 1,000 ลูก ต่อสัปดาห์ และยังสามารถหาออเดอร์ได้มากขึ้นจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน แต่ยังติดปัญหาที่ไม่สามารถ หาผลผลิตมาป้อนตลาดได้อย่างเพียงพอ แต่พวกเขาก็ไม่มีแนวคิดที่จะเพิ่มพื้นที่การปลูกมะพร้าว แต่พยายามแสวงหาวิธีในการเพิ่มผลผลิตบนพื้นที่เดิมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดมะพร้าวดั้งเดิมที่ปลูกมาตั้งแต่ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย หรือแม้กระทั่งการหาสายพันธุ์มะพร้าวใหม่ ๆ มาปลูกทดแทน

          วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะพร้าวบ้านแป้นซึ่งกำลังเติบโต ไม่ได้มุ่งหวังเพียงจะขายผลผลิตให้ได้จำนวนมาก ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังคงไว้ซึ่งพื้นที่การทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีนาข้าวไว้ปลูกข้าวกิน มีแปลงปลูกสมุนไพร  มีสวนผลไม้ไว้จำหน่ายผลผลิตตามฤดูกาล และปลูกมะพร้าวแซมในทุกพื้นที่ของสวน โดยพยายามหาวิธีสร้างรายได้นอกเหนือไปจากการจำหน่ายผลมะพร้าวเพียงอย่างเดียว มีการนำเอาส่วนอื่น ๆ ของมะพร้าวมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าในการจำหน่ายได้แก่ เปลือกหรือกาบมะพร้าวเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมกล้วยไม้เป็นอย่างมากทางกลุ่มได้แปรรูปจำหน่ายในรูปแบบของขุยมะพร้าวที่ใช้ผสมดิน และการเพิ่มมูลค่าโดยการตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกเต๋า

          เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในตำบลแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีต้นทุนทางธรรมชาติที่ดี และมีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน คือ การทำสวนผลไม้พบคู่กับการปลูกข้าวและปลูกมะพร้าวในพื้นที่ เมื่อมีการส่งเสริมการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ การเตรียมพันธุ์ เตรียมดิน บำรุงต้นและกำจัดศัตรูพืช รวมถึงในเรื่องของการรวมกลุ่ม การสร้างระบบบัญชีและการวางแผนการผลิตอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ก็จะทำให้พวกเขาเหล่านั้น สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจภายในครัวเรือนของตัวเองให้กลับมาพอมีพอกินได้อีกครั้ง ซึ่งในอนาคตพวกเขา ก็จะสามารถก้าวขึ้นสู่ขั้นของการลงทุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องยั่งยืนต่อไป

ความคิดเห็น