วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ.2567

นราธิวาส ยังยิ้มได้

 17 ก.พ. 2564 20:42 น.    เข้าชม 2981

          ปัจจุบัน เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจรวมกลุ่มกัน แล้วก็ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์กันมากขึ้น โดยพวกเขานั้นจะชักชวนเพื่อนและคนในชุมชนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ดังเช่น กลุ่มเยาวชนที่ชื่อว่ากลุ่มยังยิ้ม  ในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 18 ประจำปี 2560–2561 ประเภทกลุ่มเยาวชน ซึ่งชื่อ “ยังยิ้ม” ดูเหมือนจะเป็นความจงใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ที่อยากจะสื่อสารให้คนภายนอกรู้ว่า คนที่นี่ยังมีความสุขดีและยังยิ้มได้กับธรรมชาติและวิถีชีวิตที่พวกเขาคุ้นเคย

ยังยิ้ม –Youth Smile

          กลุ่มยังยิ้มได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2556 โดยมี นูรฮีซาม บินมามุ หรือ แบซัม เป็นผู้ริเริ่มและรับหน้าที่ประธานกลุ่มยังยิ้ม ด้วยจำนวนสมาชิกแรกเริ่มที่มีไม่ถึง 10 คน ในปัจจุบันมีเยาวชนมากมายที่มาขอสมัครเข้าร่วมเป็นกลุ่มสมาชิก จนเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีเครือข่ายแล้วก็มีอิทธิพลทางความคิดกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่สนใจ และตั้งใจอยากจะทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจัง ทุกคนได้รับโอกาสในการทำงาน พร้อมทั้งเรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติไปพร้อมกัน เยาวชนจำนวนมากซึ่งอยู่ในวัยเรียนและอยู่ในช่วงวัยที่ต้องการค้นหาตัวตนของตนเอง จึงขอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มยังยิ้มทั้งที่ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ เลย

          ยังยิ้มคือสัญลักษณ์ของคนหนุ่มสาวที่มีความสุข มีชีวิตด้วยการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อต่อกันดุจพี่น้อง และสามารถทำงานสร้างสรรค์ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งความสุขของอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ที่กลุ่มยังยิ้มเลือกนำมาเป็นแรงขับเคลื่อนนั่นก็คือความสุขที่บ้านของพวกเขามีป่ามีภูเขา ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ และยังติดทะเล มีหมู่บ้านที่มีวิถีชีวิตสงบสุขท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และความสุขจากความภาคภูมิใจที่อำเภอแว้งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่า ที่ได้ชื่อว่าเป็นอเมซอนแห่งอาเซียนนั่นก็คือ ป่าฮาลาบาลา ที่พวกเขาพากันมาเที่ยวเล่นกันตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่มสาววัยรุ่น

          ป่าฮาลาบาลาเป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนในการศึกษาธรรมชาติ โดยทั่วไปทุกคนต่างก็ชื่นชอบธรรมชาติแต่มักจะขาดความรู้ความเข้าใจในการเชื่อมโยงกันระหว่างป่าไม้ สัตว์ป่าและพืชพรรณต่าง ๆ ว่ามีความเกื้อกูลกันอย่างไร จึงทำให้หลายคนได้แต่ชื่นชมความงาม ของธรรมชาติเพียงเปลือกนอกเท่านั้น แต่สำหรับกลุ่มยังยิ้ม พวกเขาได้นำข้อมูลความรู้ทางวิชาการและวิธีการปฏิบัติในการอยู่ธรรมชาติของคนและสัตว์มาถ่ายทอดให้กับน้อง ๆ เยาวชน โดยได้มุ่งเน้นกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมและซึมซับจากการเข้าป่าจริง ๆ

ห้องเรียนธรรมชาติไม่มีกำแพง

          กิจกรรมในค่ายเยาวชนของกลุ่มยังยิ้ม เริ่มจากเกมสัมผัส สังเกต ให้เยาวชนได้เรียนรู้ธรรมชาติด้วยประสาทสัมผัสต่าง ๆ ไม่ใช่ผ่านการรับรู้ตามความเคยชิน ต่อด้วยกิจกรรมการดูนก ตกบ่ายเด็ก ๆ จะมานั่งจับกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนเองได้สังเกตพบเห็นในธรรมชาติ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่นกนอกจากนี้แล้ว เด็ก ๆ จะได้ทำกิจกรรมนักสืบสายน้ำเพื่อเรียนรู้ว่าสายน้ำนั้น เป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดมากกว่าที่พวกเขามองด้วยตา และจริง ๆ แล้ว น้ำที่ดื่มอยู่จากขวดหรือก๊อกน้ำที่บ้าน ต้นกำเนิดล้วนมาจากป่าฮาลาบาลา ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาในฐานะผู้ใช้ทรัพยากรต้องรู้ว่าต้นกำเนิดของสิ่งที่เราใช้อุปโภคบริโภคทุกวันนั้นมาจากไหน และวิเคราะห์ได้ว่าหากป่าและสายน้ำถูกทำลายจะเกิดอะไรขึ้น ทุกครั้งหลังทำกิจกรรมเด็ก ๆ และพี่เลี้ยง จะได้มีโอกาสมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงสรุปความรู้ร่วมกัน

          จากกิจกรรมค่ายเยาวชนของกลุ่ม นำไปสู่กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น “ดูนก เดินป่า ศึกษาธรรมชาติ” โดยกลุ่มยังยิ้มเป็นแกนนำในการประสานงาน ชักชวนเยาวชนในโรงเรียนสังกัดอำเภอแว้ง รุ่นละ 40 คน เข้ามาทำกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้พวกเขาได้มีความรู้กลับไป การปลูกฝังให้เด็ก ๆ รักธรรมชาติในบ้านเกิด ของตนเองเช่นนี้จะทำให้พวกเขาภูมิใจ และมีความหวงแหนในธรรมชาติอันสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม “ยังยิ้มสัญจรโรงเรียน” ทำงานภายใต้แนวคิด “ร่วมเล่น เรียนรู้ แบ่งปัน” ประกอบด้วยการเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับธรรมชาติ การฉายสารคดีธรรมชาติ และนิทรรศการภาพถ่ายธรรมชาติ เป็นต้น

          ในท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชนหลายต่อหลายกลุ่มต้องยุติบทบาทด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัย แต่การทำงานของเด็ก ๆ หลายกลุ่มยังผลิบานต่อไปได้ กลุ่มยังยิ้มก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการต่อยอดทางความคิด เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในกลุ่มเยาวชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี ในการทำงานของกลุ่มยังยิ้มพวกเขามีการเตรียมการที่ดี มีการประชุมวางแผนและสำรวจสถานที่ นอกจากนั้นทุกคนยังสามารถให้ข้อมูลรวมถึงอธิบายหลักวิชาการผสมผสานไปกับประสบการณ์จริง มาร่วมเป็นแรงใจให้เยาวชนหัวใจกล้า มีพลังสร้างรอยยิ้มให้แก่ธรรมชาติต่อไปสามารถติดตามกิจกรรมความเคลื่อนไหวของกลุ่มยังยิ้มได้ที่ FB page ยังยิ้ม - Youth Smile

ความคิดเห็น