วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ.2567

ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entreprise) กับคุณภาพชีวิตใน จชต.

 11 มี.ค. 2564 16:27 น.    เข้าชม 3851

          หากพูดถึงคำว่า “ธุรกิจ” คนส่วนใหญ่มักนึกถึงในเรื่องราวของ “เงินๆ ทองๆ” หรือ “การทำกำไร” ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่มีทัศนคติไม่ค่อยดีกับการทำธุรกิจ เช่น เป็นเรื่องของคนที่เห็นแก่เงิน เป็นเรื่องของการเอาเปรียบ เงินทำให้คนเรามีความโลภไม่รู้จักพอ เงินไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มีความสุข หรือ เงินซื้อความสุขไม่ได้ และ อื่นๆ อะไรประมาณนี้

          อย่างไรก็ตามในโลกยุคดิจิทัล แนวความคิด หรือ ทัศนคติแบบลบๆ เกี่ยวกับ “การทำธุรกิจ” หรือ “เรื่องเงินๆ ทองๆ” ที่กล่าวไปข้างตนเริ่มเปลี่ยนจากทัศนคติแบบลบๆ เป็น ทัศนคติแบบบวกๆ กล่าวคือ แต่เดิมการทำธุรกิจถูกต้องว่า “มุ่งทำกำไรสูงสุดให้เกิดขึ้นกับธุรกิจ” แต่ในปัจจุบัน การทำธุรกิจนอกจากจะทำกำไรแล้ว จะต้องนำกำไรบางส่วนมาตอบแทนเพื่อสังคม เพราะความจริง ก็คือ หากสังคมไม่สามารถอยู่รอด ธุรกิจก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นเดียวกัน

          จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเกิดแนวความคิดที่เรียกว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ “Social Enterprise” ขึ้นมาและที่สำคัญ แนวความคิดในเรื่อง “ธุรกิจเพื่อสังคม” นี้ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทางด้านความมั่นคงแบบสมดุล (Comprehensive Security) นั่นคือการใช้มิติทางเศรษฐกิจ มาเกื้อกูลต่อมิติด้านความมั่นคง

ธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร

          ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) คือ หน่วยงานที่ดำเนินงานโดยใช้ยุทธศาสตร์แบบกลไกตลาด เพื่อเป้าหมายทางสังคม หรือ สิ่งแวดล้อม การดำเนินงานของธุรกิจเพื่อสังคม มุ่งเน้นเป้าหมายทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการเงินไปพร้อม ๆ กัน หรือที่เรียกว่า Triple Bottom Line โดยเป้าหมายทางการเงิน เช่น การสร้างรายได้นั้น มีขึ้นเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นเหมือนกิจการทั่วไป

          เมื่อพิจารณาจากคำจำกัดความข้างต้นแล้ว ธุรกิจเพื่อสังคม จะมีความคล้ายคลึงกับ เอ็นจีโอ มูลนิธิ องค์กรการกุศลต่างๆ แต่มีวิธีหากำไร วางระบบมาร์เก็ตติ้งได้เหมือนบริษัททั่วไป มองอย่างง่าย กิจการเพื่อสังคมคือการหยิบยกข้อดีของงานภาคธุรกิจ และภาคสังคมมาผสมผสานกัน เพราะถ้ามัวแต่กอบโกยกำไรสูงสุดโดยไม่สนสังคม และโลก ธุรกิจก็ไม่มีทางยั่งยืนมั่นคงอยู่ได้ในสังคมเหลวเป๋วเละเทะ แต่ถ้าจะมุ่งมาทำมูลนิธิ เป็นเอ็นจีโอ กันหมดโลก ความก้าวหน้า สร้างสรรค์ ของการแข่งขันพัฒนาสิ่งใหม่แบบทุน นิยมก็คงไม่มี แถมยังไม่มีรายได้หรือแหล่งทุนมาใช้จ่ายเพื่อให้สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น กลายเป็นรถไม่มีน้ำมัน จอดนิ่ง วิ่งไม่ได้หรืออะไรทำนองนี้

Local Alike ตัวอย่างธุรกิจเพื่อสังคมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนใน จชต.

          หนึ่งในตัวอย่างของ “ธุรกิจเพื่อสังคม" ที่เชื่อมโยงผู้คนจากนอกพื้นที่ จชต. เข้ากับศักยภาพทางการท่องเที่ยวของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ที่มีชื่อว่า “โลเคิล อไลค์ (Local Alike)” กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่เชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับนักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเข้าด้วยกัน โดยทำหน้าที่เป็นพาร์ทเนอร์กับชุมชนแบบระยะยาวเพื่อทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว ใช้เครื่องมือจากการท่องเที่ยวมาช่วยในการพัฒนาชุมชน โดยไม่เพียงแต่มอบประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยว แต่ยังมอบโอกาสการเป็น 'เจ้าของทรัพยากร' เป็นผู้ออกแบบและตัดสินใจการนำเที่ยวของชุมชนเองเช่นกัน

          ในหนึ่งตัวอย่างกิจกรรมธุรกิจเพื่อสังคมของ “โลเคิล อไลค์” ที่เชื่อมโยงศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จัดทริปเดินป่า ฮาลาบาลา จ.ยะลา ชวนเข้าไปในชุมชนที่เป็นเหมือนหมู่บ้านจีนในหุบเขา หรือ ชุมชนจุฬาภรณ์ พัฒนา 9 ชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่า มีผู้สูงอายุที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คอมมิวนิสต์ ยะลา ก็ได้รับการตอบรับที่ดี สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนประมาณหนึ่ง และตอนนี้ทางทีมก็กำลังหาชุมชน ที่น่าสนใจ พร้อมกับมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ มาร่วมทำงานด้วย"

          "สมศักดิ์ บุญคำ" ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด ฉายภาพให้ฟังว่า โลเคิล อไลค์ ทำงานด้านการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนไทยมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ก่อน ปี 2555 ที่เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ โดยจุดประสงค์หลักเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีรายได้จากการท่องเที่ยว โดยใช้ "การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน" เป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชน ซึ่งความยั่งยืนในที่นี้หมายถึงชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-Based) เพื่อช่วยชุมชนท้องถิ่นต่างๆให้เติบโตและพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันทำงานร่วมกับชุมชนในประเทศไทยกว่า 200 ชุมชน

          "ฉะนั้นการทำงานของ โลเคิล อไลค์ จึงเป็นการพัฒนาแผนการเที่ยวร่วมกับ ชุมชน ดึงศักยภาพที่ชุมชนมีทั้งในเรื่อง ของทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม อาหาร ออกมานำเสนอ พร้อมใช้แพลตฟอร์ม หรือ Technology เพื่อช่วยให้ชุมชนเชื่อมโยง กับนักท่องเที่ยวได้โดยตรง จากนั้นติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงไป ทำงานกับชุมชน และเป็นกระบอกเสียงชุมชน ให้ภูมิปัญญาที่ถูกซ่อนอยู่ได้เป็นที่รับรู้มากขึ้น และยังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นทั้งคู่ค้า บริษัททัวร์ โรงแรม เพื่อส่งเสริมการขายด้วย ทั้งนี้ไม่ได้มองว่าเมื่อชุมชนบริหารจัดการเองได้แล้ว จะมุ่งไปสู่การทำเรื่อง ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว โลเคิล อไลค์ ยังมีแผนมาตลอดว่าจะทำสิ่งใหม่ ๆ หาแบรนด์ใหม่ ๆ มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนยังมีรายได้”

          และนี่คือ คอนเซปต์ หรือ แนวคิด รวมไปถึงตัวอย่าง ในการทำธุรกิจยุคใหม่ หรือ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่คำนึงถึง “คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในชุมชนหรือสังคม (People)” “คุณภาพของสิ่งแวดล้อมของชุมชน” และ “ผลกำไรที่ทำธุรกิจอยู่รอดได้เพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคม” และสามาถใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพด้วยการใช้เครื่องมือในมิติทางเศรษฐกิจ และสังคม ในการแก้ไขปัญหา จชต.

ความคิดเห็น