วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

พรุโต๊ะแดง ป่าเดียว น้ำเดียว ในแดนดินชายแดนใต้

 11 มี.ค. 2564 16:47 น.    เข้าชม 6236

          หลายๆ คนอาจจะไม่รู้จักว่า “ป่าพรุ” คืออะไร แต่น่าจะเคยได้ยินชื่อ “พรุโต๊ะแดง” ป่าพรุดั้งเดิมที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย และเป็นป่าพรุผืนใหญ่ผืนสุดท้าย เนื้อที่กว่า 125,625 ไร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นป่าพรุได้นั้น จะต้องมีลักษณะภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยที่เกิดป่าพรุติดต่อกันเป็นเวลานานนับร้อยปีเลยทีเดียว เราจึงจะได้เห็นระบบนิเวศป่าพรุที่สมบูรณ์ได้ ประกอบด้วยสังคมพืชไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ชนิดต่างๆ รองลงมา คือสังคมพืชจำพวกปาล์ม ได้แก่ หมาก สาคู หลุมพีและหวาย จากนั้นจะเป็นสังคมพืชล้มลุกและไม้พุ่ม เช่น ไม้น้ำ หญ้า กกและไม้เลื้อยชนิดต่างๆ

          ส่วนใต้ระดับน้ำลงไปนั้น ดินพรุจะมีลักษณะโครงสร้างที่เป็นดินอินทรีย์ทับถมด้านบนดินเลนทะเลดั้งเดิม ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของเศษซากใบไม้กิ่งไม้ บางแห่งอาจพบว่ามีความหนาได้มากสุดถึง 5 เมตรเลยทีเดียว  ถึงแม้ว่าป่าพรุนั้นจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรได้ แต่นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของโลกเป็นอย่างมาก ในฐานะของพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญที่มีขนาดใหญ่ โดยการกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินในลักษณะของอินทรีย์สาร ทำหน้าที่เสมือนเครื่องฟอกอากาศที่ดีของมนุษย์

ศึกษารวบรวมองค์ความรู้และเผยแพร่

          ในปีพุทธศักราช 2533 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังป่าพรุโต๊ะแดงเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานวิจัยเกี่ยวข้องกับป่าพรุมาโดยตลอด ทำให้พรุโต๊ะแดงมีอีกชื่อเรียกว่า ป่าพรุสิรินธร  และในปี 2534 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรขึ้น ใน ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับป่าพรุทั้งหมดเอาไว้ และเผยแพร่ให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไปได้เข้าศึกษา รวมถึงเปิดเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของ จ.นราธิวาส ด้วย

          จากการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับป่าพรุนั้น ทำให้หลายหน่วยงานหันมาฟื้นฟูป่าพรุโต๊ะแดง รวมถึงป่าพรุพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดนราธิวาสมากยิ่งขึ้น และในปี 2534 กรมป่าไม้ได้ประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ขึ้นในพื้นที่ป่าไม้ในท้องที่ 9 ตำบลใน 4 อำเภอในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีเนื้อที่รวมประมาณ 201 ตารางกิโลเมตรและมีสภาพเป็นป่าพรุและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่ารวมถึงเป็นการรักษาที่อยู่ของสัตว์ป่าให้ปลอดภัย นอกจากนั้นยังเป็นการรักษาไว้ซึ่งป่าพรุผืนสุดท้ายของประเทศไทยให้คงอยู่ไว้อย่างถาวรด้วย

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “พรุโต๊ะแดง ป่าเดียว น้ำเดียว ในแดนดิน”

          ปัจจุบัน ป่าพรุโต๊ะแดงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดนราธิวาส และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ครั้งที่ 11 ปี 2560 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่นี่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปศึกษาธรรมชาติ โดยจุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุโต๊ะแดงนี้จะพบกับสระน้ำขนาดย่อมที่มีป้ายบอกข้อมูลและมีการจัดภูมิทัศน์ไว้อย่างสวยงาม เป็นไฮไลท์ที่ทุกคนชื่นชอบ ประกอบด้วยลานระเบียง จุดนั่งพักผ่อนชมวิว และมีป้ายข้อความระบุเอกลักษณ์ป่าพรุโต๊ะแดง นั่นคือ “พรุโต๊ะแดง ป่าเดียว น้ำเดียว ในแดนดิน

          เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าพรุโต๊ะแดง มีฐานให้ความรู้ตลอดเส้นทาง 1.2 กิโลเมตร บอกข้อมูลเกี่ยวกับพืชพรรณไม้และชนิดของสัตว์ต่างๆ ในป่าพรุ เช่น ข้อมูลเรื่องลักษณะของดินพรุ โครงสร้างดินพรุในระดับต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำให้ทราบว่าต้นไม้ต่างๆ ในป่าพรุมีระบบราก ที่เรียกว่า รากหายใจ คือรากที่งอกจากรากแขนงแทงโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำขึ้นมาเพื่อระบายอากาศ และต้นไม้ขนาดใหญ่มากมาย เช่น ต้นพูพอน จะไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้บนดินพรุที่ทับถมกันอย่างหลวมๆ หากไม่มีรากค้ำยันที่ทำหน้าที่พยุงลำต้นเอาไว้ ซึ่งป่าพรุแห่งนี้มีพันธุ์ไม้ต่างๆ อยู่มากกว่า 500 ชนิดที่มีความสำคัญด้านพันธุกรรมและสัมพันธ์กับห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ

สืบต่อคุณค่าและหัวใจอนุรักษ์

          ที่ผ่านมาป่าพรุโต๊ะแดงและบริเวณใกล้เคียงนั้นได้รับความเสียหายจากหลายสาเหตุ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดไฟไหม้ป่าพรุครั้งใหญ่ ในปี 2541 เหตุการณ์นั้นทำให้หน่วยงานต่างๆ ถอดบทเรียนหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ซ้ำขึ้นอีก โดยบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานและประชาชนที่จะคอยเป็นหูเป็นตาให้กับทางภาครัฐด้วย  นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรยังมีกิจกรรมสำคัญคือการสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าพรุให้กับเด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่ด้วย

          เด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่ มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมศึกษาธรรมชาติในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันภายหลังจากเดินชมป่าพรุ ซึ่งทำให้พวกเขาเกิดคำถามมากมายถึงสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จัก แม้จะไม่สามารถเก็บเกี่ยวความรู้กลับไปได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยพวกเขาเกิดความรู้สึกอิ่มเอมใจที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดินแดนอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง มีผืนป่าพรุโต๊ะแดงที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าพรุผืนสุดท้ายอยู่ที่นี่ เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ใจและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว สมควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะช่วยกันปกป้องอนุรักษ์ป่าพรุที่ดีที่สุดในประเทศไทยผืนนี้เอาไว้ให้นานเท่านาน

ความคิดเห็น