วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

Deep South Cofact รู้ทันสื่อ เพื่อสันติภาพ

 22 ก.ค. 2564 11:45 น.    เข้าชม 3399

“อยู่คนเดียว​ก็คงจะดี​ไม่ต้องปวดหัวไม่ต้องรับรู้วิถีใครจะเป็นยังไงไม่สนไม่อยากจะฟังข่าวคราว ไม่ต้องรับสารของผู้คน จริงหรือเท็จจะปลอมจะข่าวลือแต่ในความเป็นจริง เรามีสังคมที่กว้างใหญ่ ใครจะถามอะไรเราก็รู้รวดเร็วอะไรจะปาน ก็มีข่าวสารให้เราดู อยู่คนละที่ก็เห็นกันแต่รู้ไหมข่าวมาจากไหน ? จริงหรือเท็จ จะยังไง ? อ่านทั้งทีถ้าเราไม่เอาใจใส่ ทำให้คนเสียหายกับข่าวลวง มาช่วยกันกรอง ช่วยกันเช็ค ช่วยกันดูให้ดี ข่าวที่เห็น ที่ได้ยิน เฟคนิวส์มันยังมี อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าส่งต่อ เลิกกันเสียทีกับข่าวลือ อย่าเชื่อถือจะเสียหาย... จงไตร่ตรองและคิดให้ดี ๆ ผลเสียมีมากเท่าไร หากว่าเราเชื่อข่าวกันง่ายดาย สูญสลายซึ่งความยุติธรรม”

          นี่คือบทเพลง “อย่าเพิ่งเชื่อ” ซึ่งอธิบายบริบทของการสื่อสารในปัจจุบัน ซึ่งมีช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัยมากขึ้น ข้อมูลมากมาย ก่อให้เกิดความสับสน ประกอบกับการสื่อสารขยายกว้างไปกว่าผู้สื่อข่าววิชาชีพ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและพื้นที่ ทำให้สังคมเต็มไปด้วยผู้สื่อข่าวที่ไม่ได้ถูกฝึกฝน ทำให้การตรวจสอบข้อมูล หรือการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลมีความยากมากขึ้น เป็นที่มาของปัญหา Fake News หรือข่าวลวง ข่าวปลอม เมื่อข่าวลวงเหล่านี้แพร่กระจายออกไปในสังคม อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ความบาดหมางระหว่างกันเกิดขึ้น อาจนำไปสู่ความรุนแรงสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็ประสบปัญหาจากการปล่อยข่าวลวงต่าง ๆ มาโดยตลอด

“Cofact” พื้นที่เปิดให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบข่าวลวง

          การรู้เท่าทันสื่อ และการใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ที่สุดเพื่อการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องสำคัญแพลตฟอร์มออนไลน์ Cofact หรือ Collaborative Fact Checking จึงเป็นนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากหลายองค์กร ในนามกลุ่มภาคีเครือข่ายป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง โดยมีเป้าหมายในการทำให้ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าว หรือ Fact Checker และสร้างพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันให้เกิดขึ้นช่วยให้คนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อของ “ข่าวลวง” ทุกรูปแบบ

          วิธีการตรวจสอบข่าวลวงผ่านแพลตฟอร์ม Cofact หากท่านพบข้อความที่น่าสงสัย ก่อนจะเชื่อหรือส่งต่อ ทุกคนสามารถนำข้อความหรือข่าวสารนั้นมาตรวจสอบผ่าน แพลตฟอร์ม Cofact ได้ใน 2 ช่องทาง ดังต่อไปนี้

          ๑. วิธีตรวจสอบข่าวลวงบนเว็บไซต์ cofact.org เข้าไปที่เว็บไซต์ https://cofact.org พิมพ์ข้อความที่คุณต้องการตรวจสอบในกล่องค้นหา แล้วกด ค้นหาสามารถ ค้นหาตามหมวดหมู่ โดยการคลิกเลือกหมวดหมู่ที่ถูกนำเสนอไว้ เช่น โควิด 2019 หากมีผู้ใช้ท่านอื่นพูดถึงเรื่องที่ท่านสนใจผ่านการ Post และ Comment ไว้ในระบบแล้ว เรื่องนั้นจะถูกดึงขึ้นมา กดเข้าไปดูรายละเอียดข้อความนั้น จะมีความคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้ตัดสินใจเพิ่มเติมได้ และสังเกตที่มาตรวัดระดับ จะมีลูกศรีชี้ (จากแดงไปเขียว หมายถึงข้อความลวงไปถึงความข้อความจริง)

          ๒. วิธีตรวจสอบข่าวลวงใน LINE @cofact เปิดเเอปพลิเคชันไลน์ จากนั้นทำการค้นหาเพื่อน พิมพ์ช่อง LINE ID ว่า @cofact จะปรากฎ "Cofact" ให้เพิ่มเพื่อนทันทีในช่องเเชทจะปรากฎข้อความแสดงการทักทาย คุณสามารถส่งข้อความที่คุณสงสัยลงในระบบได้เลย Cofact จะทำการดึงข้อมูลที่เคยมีคนกล่าวถึงไว้ในระบบออกมาให้ท่านตรวจสอบ ถ้าใน Cofact มีข้อความคล้ายกับที่สงสัย จะปรากฏตัวอย่างข้อความให้เลือก เลื่อนไปดูข้อความที่สนใจ ถ้าต้องการดูรายละเอียด กด เลือกอันนี้ แชทบอทจะสรุปให้ดูว่าข้อความที่เลือกนี้ มีคนให้ความเห็นว่าจริงหรือหลอกลวงกี่ความเห็น และมีตัวอย่างแต่ละความเห็นให้ดู หากต้องการอ่านความเห็นใด กด อ่านความเห็นนี้ หากท่านค้นหาข่าวลวงในระบบแล้วไม่พบ แสดงว่ายังไม่มีใครพูดถึงในประเด็นนี้ เราขอชวนคุณเข้าไป Post ตั้งหัวข้อใหม่ที่ https://cofact.org

เปิดตัวเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงจังหวัดชายแดนภาคใต้

          เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Deep South Collaborative Fact Checking) ได้เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ดำเนินงานโดยมูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  เพื่อสนับสนุนกิจกรรมภาคประชาสังคมของเยาวชน ให้ตื่นตัวต่อการจัดทำสื่อที่ถูกต้อง ป้องกันข่าวลวง สร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนในเรื่องของสื่อสันติภาพ

          แนวทางในการดำเนินการผ่านความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน สถาบันการศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย โดยใช้ตัวช่วยคือ แพลตฟอร์ม Cofact ในการตรวจสอบข้อมูล และจะยังให้ความสำคัญกับสื่อออฟไลน์อย่างวิทยุ เพื่อให้ชาวบ้านที่ยังไม่คุ้นชินกับการสื่อสารแบบออนไลน์ ยังสามารถจะโทรเข้ามาสอบถามเพื่อให้ผู้ดำเนินรายการวิทยุตรวจสอบข่าวน่าสงสัยผ่านแอพพลิเคชั่นได้

          ปัญหาจากเทคโนโลยี สามารถแก้ได้ด้วยเทคโนโลยี ที่ช่วยในการตรวจสอบข้อเท็จจริงลดความเข้าใจผิด ลดการสื่อสารผิดพลาด เปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดต่างกันได้มีโอกาสหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยข้อเท็จจริง ทำให้ Social Media และอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โครงการนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะความจริงจะนำมาสู่ความเข้าใจอันเป็นพื้นฐานสำคัญของสันติภาพ

ความคิดเห็น