วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

กระบวนการชุมชนบำบัดยาเสพติด สมัครใจเข้าบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด

 3 ธ.ค. 2564 14:19 น.    เข้าชม 5200

          ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พบว่ากลุ่มที่ตกเป็นเป้าหมายของขบวนการยาเสพติดส่วนใหญ่ จะเป็นเยาวชนที่อยู่ทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา กลุ่มแรงงานที่กำลังว่างงาน ซึ่งแนวทางในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาพบว่า การปราบปรามและการจับกุมอย่างหนักไม่ได้ช่วยให้ปัญหาลดลง แต่การสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของยาเสพติดให้แก่คนในสังคม ช่วยกันดูแลป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาในชุมชนของตนเอง และการช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดที่ควรจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ได้เข้ารับการบำบัดอย่างเร็วที่สุดพร้อมทั้งสร้างระบบฟื้นฟูร่างกายและจิตใจเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีกำลังใจอีกครั้งน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

          การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน รัฐบาลก็ได้มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ภายใต้กรอบความคิดผู้เสพคือผู้ป่วยเป็นการเปิดโอกาสให้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่เสียประวัติและไม่มีความผิด ซึ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองและคนในชุมชนในการสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนผู้เสพยาเสพติดให้เข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อที่จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นกลับออกมา และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้อย่างมีความสุข และมีชีวิตใหม่ที่ดียิ่งขึ้น

ครอบครัวสภาสันติสุขตำบล มะนังยง

          โครงการครอบครัวสภาสันติสุขตําบล สร้างชุมชนเข้มแข็ง เอาชนะยาเสพติด เป็นนโยบายที่ใช้จุดแข็งของสภาสันติสุขตําบล ในการสร้างความตื่นตัวเรื่องปัญหายาเสพติดแก่ชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ และอาศัยคนในชุมชนที่มีความคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดีในการช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลลูกหลานของตนเองให้ห่างไกลจากยาเสพติด ส่วนครอบครัวใดที่มีผู้เสพยาเสพติดก็จะให้ผู้ปกครองโน้มน้าวจิตใจยอมเข้ารับการบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นเวลาต่อเนื่องกัน ภายในสถานบำบัดยาเสพติดที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยที่ผ่านมาได้มีการทำงานประสานกันระหว่างหลายหน่วยงานในระดับจังหวัด และขยายต่อมายังชุมชนในแต่ละตำบล ซึ่งเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมในพื้นที่ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในความรับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 โดยกองร้อยทหารพรานที่ 4203 ได้มีการขับเคลื่อนกระบวนการชุมชนบำบัดยาเสพติด หรือ หมู่บ้าน CBTx ที่เรียกว่า ครอบครัวสภาสันติสุขตำบล มะนังยง

ภาพจาก เพจเฟสบุ๊ค ที่ว่าการอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี, ตุลาคม 2563
ภาพจาก เพจเฟสบุ๊ค ที่ว่าการอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี, ตุลาคม 2563

 

          CBTx มาจากคำว่า Community Based Treatment and Care ซึ่งหมายถึงแนวทางในการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติด โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง ดังเช่น หมู่บ้าน CBTx  ที่เรียกว่าครอบครัวสภาสันติสุขตำบล มะนังยง ประชาชนในพื้นที่ได้มีความเห็นร่วมกันว่า ปัญหายาเสพติดในพื้นที่เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งประชาชนได้รับความทุกข์และความเดือดร้อน จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ อยากจะให้ทุกภาคส่วน มีส่วนในการขับเคลื่อนดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด บำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เข้ารับการบำบัด ให้กลับเป็นคนดีคืนสู่สังคมโดยเร็วทำให้ภายในตำบลมะนังยง เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม มีการก่อตั้งสถานบำบัดยาเสพติด “บ้านอุ่นไอรัก” บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ขึ้นในพื้นที่ หมู่ 1 ของตำบลบาโรย อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีการแบ่งพื้นที่การบำบัด สำหรับเยาวชนผู้เข้ารับการบำบัดตั้งแต่ขั้นตอนการแรกรับผู้เข้ารับการบำบัด และสถานที่สำหรับการฟื้นฟู โดยมีเจ้าหน้าที่และเยาวชนที่เคยผ่านการเข้ารับการบำบัดมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง

ขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจและความร่วมมือ

ภาพจาก เพจเฟสบุ๊ค ที่ว่าการอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี, ตุลาคม 2563
ภาพจาก เพจเฟสบุ๊ค ที่ว่าการอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี, ตุลาคม 2563

 

          การขับเคลื่อนการดำเนินการชุมชนบําบัดยาเสพติด หรือหมู่บ้าน CBTx นั้น ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหา ยาเสพติดที่เกิดขึ้น โดยอาศัยการมีส่วนร่วมกันของประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะขจัดปัญหายาเสพติดให้หมดไป โดยการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งหรือที่เราเรียกกันว่า ครอบครัวสภาสันติสุขตำบลนั่นเอง ในพื้นที่ตำบลมะนังยงนั้น ได้เริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 เยาวชนที่ผ่านการบำบัดจากบ้านอุ่นไอรัก ก็จะได้รับการปลูกฝังการทำการเกษตรแบบผสมผสานควบคู่กับการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

          การแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนจะมีกระบวนการดำเนินการร่วมกันโดยผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำธรรมชาติ และตัวแทนของส่วนราชการ ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งที่บ้านอุ่นไอรักนี้ในระยะแรกพบกับปัญหาน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคและอาคารที่พักไม่เพียงพอเนื่องจากจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในภายหลังเมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง จึงได้รับงบประมาณจากกองทัพภาคที่ 4 พร้อมส่วนราชการในพื้นที่สนับสนุนการขุดเจาะบ่อบาดาลและสร้างอาคารที่พักเพิ่มขึ้นอีก 2 หลังด้วยกัน

บำบัดแล้ว ไม่กลับไปเสพซ้ำ

ภาพจาก เพจเฟสบุ๊ค ที่ว่าการอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี, ตุลาคม 2563
ภาพจาก เพจเฟสบุ๊ค ที่ว่าการอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี, ตุลาคม 2563

 

          นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2563 ในพื้นที่ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี พบว่ามีเยาวชนใช้ ยาเสพติดเป็นจำนวนมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลังจากที่มีการดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการชุมชนบําบัดยาเสพติดหรือหมู่บ้าน CBTx  ที่เป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงทุกครัวเรือนในชุมชน ชุดปฏิบัติการประจำตำบล มีศักยภาพในการติดตามและเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเสพซ้ำ ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ในปัจจุบัน มีจำนวนเยาวชนที่ใช้ยาเสพติดลดลงเหลือ 45% และนอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมความรู้ศาสตร์พระราชาแนวเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมทักษะอาชีพในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งทุกหน่วยงานพร้อมใจทำงานด้วยความเสียสละและมีความจริงใจที่อยากจะให้ชุมชนของตัวเองนั้นปลอดจากยาเสพติด ซึ่งยังเหลือแค่เพียงตัวผู้ป่วยเองที่พวกเขายังต้องการกำลังใจจากคนรอบข้าง และต้องการความเข้าใจจากคนในชุมชน

          จากการติดตามผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติด ทำให้พบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่หันกลับไปเสพซ้ำ นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขากลับมาแล้วก็ยังคงอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม ๆ และขาดกำลังใจจากชุมชนในการใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากว่าคนในชุมชน ร่วมแรงร่วมใจ เป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องดูแล สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับเยาวชนสร้างเข้มแข็ง คอยโน้มน้าวให้เยาวชนเหล่านั้นหันกลับมาเข้ารับการบำบัดรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่เสียประวัติ และไม่มีความผิด ก็จะทำให้พวกเขามีพลังในการเลิกยาเสพติด รวมไปถึงยิ่งถ้าหากได้รับกำลังใจจากคนในชุมชน เชื่อว่าโอกาสในการที่จะกลับไปเสพซ้ำลดลงอย่างแน่นอน

ความคิดเห็น