วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำใน 3 จชต.

 3 ธ.ค. 2564 16:00 น.    เข้าชม 4121

          ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่สั่งสมมานาน เป็นภาวะความขาดแคลน ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระดับบุคคล ส่งผลให้เกิดความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิต รวมถึงการขาดโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลาย ๆ ด้าน และส่งผลต่อการพัฒนาในระดับประเทศตามมาในที่สุด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความยากจนในสังคมไทยให้ทุเลาเบาบางลงไป เพื่อให้สามารถต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ ต่อไป

ภาพรวมคนยากจนของประเทศไทย

          จากข้อมูลในระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytic Platform) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านประชาชน (Big Data) เกี่ยวกับ “คนจนเป้าหมาย” ได้เปิดเผยให้เห็นว่า ณ ปัจจุบัน สามารถแบ่งกลุ่มคนยากจน ออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่หนึ่ง คือ คนที่ได้รับการสำรวจตามข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จำนวนทั้งสิ้น 36 ล้านคน
  • กลุ่มที่สอง คือ คนยากจนที่ถูกแยกแยะโดยใช้ดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index หรือ MPI) ขององค์กรสหประชาชาติ (United Nation) จำนวนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน
  • กลุ่มที่สาม คือ “คนจนเป้าหมาย” ที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 1.03 ล้านคน และ
  • กลุ่มที่สี่ คือ คนที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 11.4 ล้านคน

          ภาพด้านล่างแสดงให้เห็นโครงการ “คนยากจน” ในประเทศไทย

          Big Data ในฐานข้อมูล TPMAP ช่วยตอบคำถามที่สำคัญยิ่ง 3 คำถาม ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  หนึ่ง “คนจนอยู่ที่ไหน” สอง คนจนมีปัญหาอะไร และ สาม จะช่วยให้คนยากจนเหล่านี้ พ้นจากความยากจนได้อย่างไร

ความยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          จากข้อมูล Big Data ในฐานข้อมูล TPMAP แสดงให้เห็นว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิเช่น ยะลา, ปัตตานี และ นราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วน “คนจนเป้าหมาย” ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศ (ค่าเฉลี่ยคนจนเป้าหมาย อยู่ที่ร้อยละ 2.67

          ตารางต่อไปนี้ แสดงสถิติข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยากจนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จังหวัด

จำนวนคนจน (คน)

สัดส่วน (ร้อยละ)

ด้านสุขภาพ (คน)

ด้านความเป็นอยู่ (คน)

ด้านการศึกษา(คน)

ด้านรายได้(คน)

ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ (คน)

นราธิวาส

17,339

3.43

2,624

4,175

7,737

5,388

55

ปัตตานี

18,137

3.93

3,341

2,826

6,154

9,233

50

ยะลา

20,298

6.37

2,878

5,936

7,218

7,760

16

หมายเหตุ : คนจน 1 คน มีปัญหามากกว่า 1 ด้าน

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ จชต.

          มีงานวิจัยหลายงาน อาทิเช่น งานวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยว่า “ความยากจน และความด้อยพัฒนา” คือ หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐตระหนักถึงปัญหานี้ ดังนั้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จึงมีการพัฒนาแนวทาง/นโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญยิ่งมีโครงการตามพระราชดำริมากมายที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ การพัฒนาเหล่านี้ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก

การแก้ไขปัญหาให้ตรงประเด็นโดยใช้ฐานข้อมูล Big Data

          จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีความรุดหน้าไปอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ทำงานร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พัฒนาระบบ Big Data ของภาครัฐ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านความยากจนได้อย่างเบ็ดเสร็จ และแม่นยำ

นำร่องความร่วมมือระหว่าง ศอ.บต. และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จชต.

          ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ร่วมกันวิจัยพัฒนาต้นแบบและนวัตกรรมในการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

          นอกเหนือไปจากความร่วมมือระหว่าง ศอ.บต. กับ มนร.​ แล้ว ยังมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายจำนวน 21 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการนำร่องความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกมิติแบบองค์กรในการช่วยเหลือครัวเรือนที่ยากจนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ให้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ พัฒนาคุณภาพชีวิต ในการปรับปรุงเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้เอื้อต่อการสร้าง หรือ เพิ่มรายได้ ให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

          ในอนาคตอันใกล้นี้ ศอ.บต. จะขยายผลการดำเนินการไปในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความร่วมมือในลักษณะการบูรณาการกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อลดระดับความยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดระดับความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคิดเห็น