วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

ธนาคารปูม้าชุมชน สร้างรอยยิ้มที่ยั่งยืนให้กับชุมชนชายฝั่ง

 15 ก.พ. 2565 13:12 น.    เข้าชม 2097

          หากเราถามคนส่วนใหญ่ว่า “ชอบทะเลไหม” แน่นอนคำตอบที่ได้รับจากคนส่วนใหญ่ ก็น่าจะตอบว่า “ชอบ” เพราะทะเลคือทรัพยากรธรรมชาติ ที่มอบสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้คน ทั้งในแง่ความสุข และการเป็นแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ มากมาย ที่ยังประโยชน์ให้กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็น แหล่งอาหาร และอื่น ๆ

          ข้างต้นคือ คำถาม และคำตอบที่ได้จากผู้คนส่วนใหญ่ แต่ถ้าเราถามคำถามนี้ กับผู้คนบางกลุ่ม ที่ต้องอยู่อาศัย ต้องใช้ชีวิต และฝากชีวิตกับทะเล คำตอบที่ได้ อาจจะไม่ใช่แค่ “ชอบทะเล” แต่คำถามที่ได้ย่อมต้องเป็น “รักทะเล” เพราะทะเลไม่ใช่เพียงสิ่งที่ให้ความสุขชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนคนส่วนใหญ่ แต่ทะเลคือส่วนหนึ่งของชีวิต อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อชีวิต ที่เปรียบได้ดั่งบ้านหลังใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งอาหารสำหรับการบริโภค แหล่งสร้างอาชีพ และรายได้ รวมทั้งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนเหล่านี้อีกด้วย

          อาจกล่าวได้ว่า “ทะเลคือชีวิต” ของพวกเขานั่นเอง

เมื่อทะเลถูกบั่นทอนจากมลภาวะ

          จากเอกสารทางวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย[1] พบว่า ในปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลกำลังถูกบั่นทอนจากมลภาวะในหลายหลายรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็น มลพิษจากชุมชน (น้ำทิ้งจากชุมชน และ ของเสียที่เป็นของแข็ง), มลพิษจากเกษตรกรรม (การเพาะเลี้ยงสัตวน้ำ และการเพาะปลูก), มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม (อินทรีย์, ความร้อน, โลหะหนัก และสารโพลีคอรีเนเต็ดไปเฟนิล), มลพิษจากการท่องเที่ยว, มลพิษจากท่าเรือ และสะพานปลา เป็นต้น

          มลภาวะทางชายฝั่งทะเลดังกล่าว ส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้น และในระยะยาว ต่อทั้งสภาพทางนิเวศวิทยาทางทะเล และ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และการสร้างรายได้ของชุมชน และผู้คนที่อาศัยอยู่รอบชายฝั่ง

          ชุมชนรอบชายฝั่งทะเลในพื้นที่ในหลายจังหวัดของประเทศ รวมไปถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จังหวัดปัตตานี ก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะรอบชายฝั่ง ซึ่งส่งผลต่อการสร้างรายได้หลักของชุมชน

เครือข่ายการเรียนรู้การเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

          ดังนั้นเพื่อการเป็นลดมลภาวะ หรือ ลดการบั่นทอนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชุมชุน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นประชาชนในชุมชนเอง หน่วยงานภาครัฐ และ องค์กรภาคเอกชน จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ กิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในเรื่องผลกระทบที่มีต่อการสร้างรายได้ของชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่ สงขลา, ปัตตานี และนครศรีธรรมราช เช่น บริษัท ปตท. สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรภาคธุรกิจ ที่มีพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่นอกชายฝั่งทะเล ได้ริเริ่มโครงการจัดทำ และกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และนิเวศทางทะเล และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการนี้ มีชื่อว่า “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และชุมชน

          กิจกรรมของโครงการนี้ได้แก่ การบริหารจัดการขยะทะเล เพื่อให้ความรู้กับชุมชุนในการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม, การปลูกป่าชายเลน และอื่น ๆ รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทะเล

          ล่าสุด ได้มีการจัดทำโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ” ที่ร่วมมือกับชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่จังหวัดสงขลา, ปัตตานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 5 ศูนย์ สามารถเพาะฟักลูกปู และนำไปปล่อยคืนสู่ทะเลได้กว่า 5,000 ล้านตัว และช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาทต่อปี

แม่ปูเพียงหนึ่งตัว อาจให้ปูไข่เกือบ 2 ล้านฟอง แต่ละวันมีแม่ปูม้าที่ส่งมาให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ ช่วยยีไข่

ธนาคารปูม้าชุมชน สมาคมพื้นบ้านอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

          นอกจากความพยายามในการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนขององค์กรธุรกิจระดับชาติ เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ตามตัวอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในระดับชุมชนก็มีความพยายามในการรักษาคุณค่าของทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกัน

          “ธนาคารปูม้า” เป็นหนึ่งในความพยายามของชุมชนชายฝั่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็น “นวัตกรรม และภูมิปัญญาในการฟื้นฟูทะเลไทยของชาวประมงพื้นบ้านเลยทีเดียว

          ยกตัวอย่าง เช่น โครงการ “ธนาคารปูม้าชุมชน” ที่ดำเนินการโดย “สมาคมชาวประมงพื้นบ้าน อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ได้มีการเพาะเลี้ยงลูกปู แล้วปล่อยกลับสู่ท้องทะเล เพื่อให้ท้องทะเลไทยมีศักยภาพด้านอาหารทะเล และที่สำคัญยิ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมงท้องถิ่นให้มีรายได้พิเศษเพิ่มตลอดการทำอาชีพประมง

          การที่สังคม หรือ ชุมชนหนึ่งๆ จะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน สังคม หรือ ชุมชนนั้นจะต้องเข้าใจถึงคุณค่า หรือ ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ และที่สำคัญจะต้องเรียนรู้ในการรักษาคุณค่า หรือ ศักยภาพเหล่านั้นให้สร้างประโยชน์กับสังคม หรือ ชุมชนได้อย่างยั่งยืน และหากการเรียนรู้เหล่านั้นได้รับการสนับสนุนการองค์กรภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่องแล้ว คุณค่า หรือ ศักยภาพเหล่านั้น นอกเหนือไปจากจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนแล้วยังสามารถสร้างคุณค่าอื่น ๆ ให้กับสังคม หรือ ชุมชนเหล่านั้นได้ อันจะนำมาซึ่งรอยยิ้มที่สะท้อนให้เห็นถึงความสุขอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากใจของผู้คนในสังคมนั้น ๆ และโครงการธนาคารปูม้า คือ หนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จนั้น

 


[1] รองศาตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส, มลพิษทางทะเล และชายฝั่ง, ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, 2557

ความคิดเห็น