วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

คำตอบอยู่ที่ตำบล การสร้างเครือข่ายความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

 16 ก.พ. 2565 17:19 น.    เข้าชม 2120

          ภาพที่เห็นข้างต้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ภาพป้าย “กลุ่มโฮมสเตย์ บ้านทรายขาว จังหวัดปัตตานี” หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นว่าภาพดังกล่าวนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพี่น้องในชุมชนแห่งบ้านทรายขาว ที่มีความเข้มแข็งในด้านการนำทรัพยากร หรือ ต้นทุนของชุมชน นั่นคือ ทรัพยากรในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาบริหารจัดการเชิงคุณภาพ จนได้รับรางวัลชุมชนด้านการท่องเที่ยว “Tourism Award 2007”

          แน่นอนที่สุด เมื่อชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีศักยภาพ จนสามารถสร้างความเข้มแข็งในเรื่องเศรษฐกิจ และการสร้างรายได้ ให้กับชุมชน สิ่งที่จะตามมาคือคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน การมีความหวงแหนในถิ่นฐานบ้านเกิด และการร่วมมือร่วมใจในการดูแลรักษาชุมชนของตนเอง ก่อให้เกิดการพัฒนา หรือ อาจจะกล่าวได้ว่า เกิดสิ่งที่เรียกว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นั่นเอง

          ลองจินตนาการดูว่า หากทุกชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถนำต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่ในการบริหารจัดการ ให้ต่อยอดไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจในการสร้างรายได้ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิต และร่วมกันดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของชุมชนจากภัยคุกคามในด้านต่าง ๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสามารถลดลงสู่ระดับปกติได้

          จากเนื้อหาที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสื่อให้เห็นว่า หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จที่แฝงตัวอยู่ในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นความเข้มแข็งของชุมชน และนั่นก็คือ “คำตอบอยู่ที่ตำบล”

เศรษฐกิจชุมชน คือ เศรษฐกิจฐานราก

          หากเปรียบเทียบว่าประเทศ คือ “บ้านหลังใหญ่” ชุมชน หรือ สังคมในระดับตำบล ก็เปรียบได้ดั่ง “ฐานราก” ของบ้านหลังใหญ่ หากชุมชน หรือ รากฐานมีความมั่นคง บ้านหลังใหญ่ก็จะมั่นคงตามไปด้วย ในทำนองเดียวกัน หากรากฐานไม่มั่นคง ก็ยากที่ประเทศจะมั่นคงได้

          เฉกเช่นเดียวกัน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เปรียบได้ดั่ง “บ้านหลังหนึ่ง” ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “บ้านหลังใหญ่” และแน่นอนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมต้องมีชุมชนเล็ก ๆ เป็น “ฐานราก” โดย “ฐานราก” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ อาจจะมีความพิเศษกว่า “ฐานราก” ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ เนื่องจาก เป็น “ฐานราก” แห่งความเป็นพหุวัฒนธรรม อันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา วิถีชีวิต ความคิด และวิถีปฏิบัติของกลุ่มรากฐานนั้น สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข สามัคคี ท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างลงตัว

          การทำให้เศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้มแข็งและแข็งแรง จึงเปรียบเสมือนการสร้าง “ฐานราก” ทางเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้แข็งแรงไปด้วย ซึ่งแน่นอนที่สุดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามวิถีชุมชนจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดความรักความหวงแหน และความรู้สึกรักใน   ถิ่นฐานบ้านเกิดก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ

โครงการ “คำตอบ อยู่ที่ตำบล”

          เพื่อเป็นการยกระดับให้กับเศรษฐกิจฐานราก หรือ เศรษฐกิจชุมชน อันจะนำไปสู่การเกื้อกูลต่อการพัฒนา และการยกระดับในมิติอื่นๆ ที่มีผลต่อความสุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นภายในราชอาณาจักร หรือ ศปป.5 กอ.รมน. จึงได้ดำเนินการโครงการ “คำตอบอยู่ที่ตำบล” ที่มีวัตถุประสงค์ในการเฟ้นหาผู้นำมวลชน และตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างเครือข่ายของชุมชน และขยายผลไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในระดับพื้นที่การจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “คำตอบ อยู่ที่ตำบล” แบ่งเป็น 2 กิจกรรม

          กิจกรรมครั้งที่ 1 ได้แก่ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และวัฒนธรรมของกลุ่มมวลชน เพื่อคัดเลือกผู้นำ  จากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ รูปแบบการจัดกิจกรรมครั้งที่ 1 การจัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวัฒนธรรมนั้น ประกอบด้วยมวลชนจากพื้นที่ 5 จชต.ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมจำนวน 2 วัน 1 คืน รวมจำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 120 คน รวม 480 คน ในการเฟ้นหาผู้นำ/กลุ่มมวลชนต้นแบบ จำนวน 80 คน ที่มีความโดดเด่นในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต และพร้อมเป็นผู้นำเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้รับสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          และกิจกรรมครั้งที่ 2 การออกแบบตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ร่วมกันระหว่างผู้นำมวลชน เพื่อสร้างเครือข่ายตำบลต้นแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้รับการคัดเลือกจากกิจกรรมครั้งที่ 1 ซึ่งมีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้น 10 กลุ่ม ได้แก่

          1. วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร บ้านทรายขาว จังหวัดปัตตานี
          2. กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางและผลิตภัณฑ์ยางตาชี จังหวัดยะลา
          3. กลุ่มตัดเย็บดาหลาปาเต๊ะ จังหวัดสตูล
          4. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักผลไม้ปลอดภัยอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
          5. วิสาหกิจชุมชนบ้านกล้วย จังหวัดปัตตานี
          6. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านเกาะแลหนัง จังหวัดสงขลา
          7. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านเกาะแลหนัง จังหวัดสตูล
          8. วิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องหอมมะลิแดงท่าด่าน จังหวัดปัตตานี
          9. กลุ่มน้ำพริก / วิสาหกิจชุมชนศิลานารี จังหวัดยะลา
          10. กลุ่มทุเรียนกวน จังหวัดนราธิวาส

          นอกจากนั้นยังมีการจัดบูธแสดงสินค้ากันมากมาย โดยมีทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตร กลุ่มประมง กลุ่มปศุสัตว์ และกลุ่มแปรรูปในเครือข่ายดาหลาบารู เป็นต้น

ผลลัพธ์ในระยะยาว คือ ความเข้มแข็งของชุมชน

          กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เหล่านี้คือ ต้นแบบของวิสาหกิจชุมชน ที่เปรียบได้ดั่งต้นแบบแห่ง “ฐานราก” ของเศรษฐกิจชุมชนแห่ง “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่อาศัยความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจ และทุนของชุมชนที่มั่นคง สามารถพึ่งตนเอง และจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ 1) การเงินและการลงทุน 2) การพัฒนาอาชีพ รายได้ 3) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 4) การสร้างสวัสดิการ และ 5) การพัฒนาเครือข่ายในกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ในเชิงพื้นที่ อาทิเช่น การร่วมรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของชุมชน และอื่น ๆ เป็นต้น

          เมื่อระดับชุมชน หรือ ตำบลมีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการรู้จักใช้ประโยชน์จากทุนชุมชน และถูกขยายผลผ่านเครือข่ายชุมชน ก็จะทำให้เกิดการขยายผลต่อยอดไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น อำเภอ หรือ จังหวัด หรือ ระดับพื้นที่ที่กว้างขวางออกไป และนี่คือเหตุผลของประโยคที่กล่าวว่า “คำตอบอยู่ที่ตำบล”

ความคิดเห็น