วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

จะชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงได้อย่างไร

 16 ก.พ. 2565 17:40 น.    เข้าชม 1898

          เมื่อเราพูดถึงคำว่า “ความมั่นคง” เรามักจะได้ยินคำอีกคำที่มักมาคู่กับคำว่า “ความมั่นคง” คำ ๆ นี้ ก็คือ “การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคง” ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงตามแนวชายแดน, การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ อื่น ๆ เป็นต้น

          ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อเห็นคำ ๆ นี้ ก็มักจะมีคำถามข้อสงสัยตามมา คำถามนี้ ก็คือ “ทำไมต้องมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคง” และคำถามที่ตอบยากมากที่สุด ก็คือ “จะรู้ได้อย่างไรว่าการพัฒนานี้ประสบผลสำเร็จ”

ทำไมต้องมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคง

          การที่สังคม ๆ หนึ่ง หรือพื้นที่ ๆ หนึ่ง จะมีความเจริญก้าวหน้าผู้คนในสังคม หรือพื้นที่นั้น ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเศรษฐกิจที่ดี เป็นสังคมที่มีความสุข สังคมนั้นจะมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน

          เมื่อสังคม หรือพื้นที่นั้น ๆ มีความปลอดภัย ผู้คนในสังคม หรือพื้นที่นั้น ๆ ย่อมจะมีความสบายอกสบายใจ และพร้อมที่จะพัฒนาสังคม หรือ พื้นที่ของตนเอง ได้อย่างปกติสุข

          ในทางตรงกันข้าม หากสังคม หรือพื้นที่นั้น ๆ ไร้ซึ่งความมั่นคงในมิติของความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินเป็นสังคมที่มีพื้นที่เสี่ยงสูง มักมีปัญหาของคนในสังคม หรือพื้นที่นั้น ๆ ก็จะเต็มไปด้วยความหวาดกลัววิตกกังวล หรือความหวาดระแวง ทำให้สังคม หรือพื้นที่เหล่านั้นยากที่จะเจริญก้าวหน้า เท่าเทียมได้เหมือนกับสังคม หรือพื้นที่ที่มีความปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงเสียก่อน จึงจะสามารถนำสังคม หรือพื้นที่เหล่านั้น ไปสู่การพัฒนาตามปกติ

          ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการจะพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน หรือพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงจำเป็นจะต้องใช้การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคง เพื่อให้พื้นที่เหล่านั้น มีพื้นฐานในด้านความมั่นคงเพียงพอที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาในมิติอื่น ๆ ต่อไป

จะรู้ได้อย่างไรว่าการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงนั้นประสบความสำเร็จ

          ศาสตร์ของการบริหารจัดการงานใด ๆ ให้ประสบความสำเร็จ ได้กล่าวไว้ว่า “หากเราไม่สามารถประเมินสิ่งที่เราทำได้ เราก็ไม่สามารถบริหารจัดการมันได้” ในทำนองเดียวกัน “การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคง” ก็ต้องสามารถประเมินได้ว่า สำเร็จ หรือไม่สำเร็จตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รู้ว่าการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงนั้น ๆ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ หากสำเร็จจะสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแนวทางในการชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเสริม ความมั่นคง ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวชี้วัด และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

          ในส่วนของตัวชี้วัดที่จะใช้ชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงนั้น ประกอบด้วยตัวชี้วัด 2 ประเภท ได้แก่ ตัวชี้วัดร่วม (Joint KPI) และตัวชี้วัดเชิงกลยุทธ์ (Strategic KPI)

          ตัวชี้วัดร่วม (Joint KPI) คือ ตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่นั้น ๆ สามารถกลับไปพัฒนาในด้านอื่น ๆ หรือมิติอื่น ๆ ได้ตามปกติ หรือมีความมั่นคงในระดับที่ปกติเหมือนสังคมทั่ว ๆ ไป

          ตัวชี้วัดเชิงกลยุทธ์ (Strategic KPI) คือ ตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การลดปัญหา หรือ ลดเงื่อนไขสำคัญ ในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งผลรวมระดับความสำเร็จของตัวชี้วัดเชิงกลยุทธ์จะมีนัยสำคัญมากต่อความสำเร็จของตัวชี้วัดร่วม

กรณีศึกษาตัวชี้วัดในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ในกรณีของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ตัวชี้วัดร่วม (Joint KPI) ได้แก่ ตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เป็นต้น ระดับความสำเร็จที่ชี้วัดจากตัวชี้วัดร่วม เปรียบได้ดั่งภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการต่อ Jigsaw เล็ก ๆ หลาย ๆ Jigsaw

          Jigsaw เล็ก ๆ นี้เปรียบได้ดั่งความสำเร็จที่สามารถชี้วัดจากการประเมินตัวชี้วัดในระดับกลยุทธ์ (Strategic KPI) ได้แก่ ประสิทธิภาพของการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน การศึกษา การพัฒนาศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน ประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย และการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นต้น

          การดำเนินการกิจกรรม หรืองานใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาอย่างยิ่งกิจกรรม หรืองานที่มีผลต่อชีวิต และความสุขของผู้คน จำเป็นจะต้องมีตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรม หรืองานเหล่านั้น ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และตัวชี้วัดนี้จะต้องสะท้อนให้เห็นถึงภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งเราเรียกมันว่า “ตัวชี้วัดร่วม” และ “ตัวชี้วัดความสำเร็จของกลยุทธ์” ที่เป็นความสำเร็จต้นทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของ “ตัวชี้วัดร่วม” ที่เป็นผลลัพธ์สุดท้าย หรือ Ultimate Outcome ที่เราต้องการให้เกิดขึ้น

ความคิดเห็น