วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ.2567

สื่อสร้างสรรค์ กับการเสริมสร้างความเข้าใจ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 16 ก.พ. 2565 17:54 น.    เข้าชม 2327

          เมื่อเราพูดถึงคำว่า “สร้างสรรค์” แน่นอนที่สุดคำ ๆ นี้เป็นคำที่ดี เพราะเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกดี ๆ และหากนำคำ ๆ นี้ มาผสมผสานกับคำอื่น ๆ ก็จะทำให้คำ ๆ นั้น เกิดคุณค่ามากขึ้นทันที ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “สื่อ” ซึ่งหมายถึง “สิ่งใดๆ ก็ตามที่เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารกับผู้รับสาร เป็นสิ่งที่นำพาสารจากแหล่งกำเนิดไปยังผู้รับสาร เพื่อให้เกิดผลใด ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร” มาร่วมกับคำว่า “สร้างสรรค์” ก็จะทำเกิดคำว่า “สื่อสร้างสรรค์” ที่ให้ความหมายในเชิงบวกมากขึ้นกว่าการใช้คำว่า “สื่อ” เพียงคำเดียว

          หากเรานำสามารถนำคำว่า “การสื่อสารสร้างสรรค์” มาวิเคราะห์ประยุกต์ใช้ จนทำให้เกิดแรงผลักดันในการดำเนินการเชิงปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาสำคัญในสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะไม่สงสัยเลยว่าคุณค่ามหาศาลในเชิงสร้างสรรค์นั้น ย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

การสื่อสารสร้างสรรค์ต้องเริ่มต้นที่ทัศนคติที่ดี

          ในการดำรงชีวิต รวมไปถึงการยกระดับชีวิต และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของคนในสังคมหนึ่ง ๆ ไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมระดับเล็ก ๆ เช่น ครอบครัว ชุมชน และอื่น ๆ ไปจนถึงสังคมขนาดใหญ่ เช่น สังคมในระดับประเทศ หรือ สังคมที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น เป็นต้น ย่อมจะต้องอาศัย “การสื่อสาร” เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการดำรงชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิต

          การสื่อสารดังกล่าวจะต้องเริ่มต้นด้วยการมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งที่ต้องการสื่อสาร เพราะทัศนคติที่ดีจะทำให้การ “สื่อสาร” เป็นการสื่อสารในลักษณะเชิงบวก หรือ การสื่อสารสร้างสรรค์ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั่นเอง

          เมื่อการสื่อสารเริ่มต้นจากทัศนคติเชิงบวกแล้ว โอกาสแห่งความสำเร็จในการสื่อสารย่อมจะมีมากตามไปด้วย ผลลัพธ์ที่แสดงออกมาคือ ผู้ที่รับสารจะเข้าใจ และมีท่าทีไปในทิศทางที่กำหนดไว้ในเนื้อหาของการสื่อสาร

          นอกเหนือไปจากนั้น หากการ “สื่อสารสร้างสรรค์” นั้นเป็นการสื่อสารในสิ่งที่มีอนุภาพ มีความยิ่งใหญ่ และทรงคุณค่า ต่อจิตใจของผู้คนมากมาย เฉกเช่นคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” การสื่อสารสร้างสรรค์นั้นย่อมก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลอย่างปฏิเสธไม่ได้เลยทีเดียว

ทักษะในการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัลเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้

          ทัศนคติที่ดี เป็นจุดเริ่มต้น และถือเป็นรากสำคัญยิ่งของการสื่อสารสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้ “การสื่อสารสร้างสรรค์” มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ก็คือ ผู้ที่ทำหน้าสื่อสารอย่างสร้างสรรค์นั้น จะต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ทันสมัย โดยเฉพาะทักษะการสื่อสารในยุคดิจิทัล

          ทักษะในการสื่อสารในยุคดิจิทัล ได้แก่ ทักษะในการวิเคราะห์สื่อ หรือ ข้อมูลข่าวสาร การออกแบบการสื่อสาร การพัฒนาเนื้อหาที่จะสื่อสาร หรือ ถ่ายทอด การผลิต และใช้สื่อดิจิทัล

          การมีทัศนคติที่ดี ที่ถูกรองรับด้วยการมีทักษะที่จำเป็นในการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัล จะทำให้เกิดสื่อสารสร้างสรรค์นี้ ทรงพลังมากยิ่งขึ้น

การเพิ่มพลังทวีคูณด้วยเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์

          ข้อเท็จจริงที่เราทุกคนในสังคม ไม่สามารถปฏิเสธได้ ก็คือ เครือข่ายการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัล ที่เราเรียกมันว่า สื่อประชาสังคม หรือ Social Media นั้น เป็นสิ่งที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหากต้องการเพิ่มพลังแบบทวีคูณให้กับการสื่อสารสร้างสรรค์ เราจำเป็นจะต้องใช้ประโยชน์จากสื่อประชาสังคม

          สื่อประชาสังคม และสื่อดิจิทัลอื่น ๆ จะก่อให้เกิดเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ขึ้น โดยเครือข่ายนี้ แทบจะไม่มีข้อจำกัดในเชิงพื้นที่ ตราบใดที่อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงพื้นที่นั้น และไม่ต้องสงสัยเลยว่า พลังแห่งการสื่อสารสร้างสรรค์อย่างเท่าทวีคูณจะเกิดขึ้นทันที

การเสริมสร้างความเข้าใจในการแก้ไขปัญหา จชต. ด้วยพลังแห่งเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์

          ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.5 กอ.รมน.) มีหน้าที่ในการบูรณาการงานด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ตระหนักอย่างแรงกล้าถึง “พลังแห่งการสื่อสารของสื่อสร้างสรรค์” ดังนั้นจึงได้จัดกิจกรรมในการสร้างสื่อสร้างสรรค์ และเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์ สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้าใจเพื่อความมั่นคงในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

          กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ ด้วยกัน 5 วัตถุประสงค์ ได้แก่ 1) เฟ้นหาผู้นำสื่อมวลชนต้นแบบประจำภูมิภาคที่มีความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ทางสังคม อาทิเช่น สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และนวัตกรรม เป็นต้น 2) พัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนต้นแบบในทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้เทคนิคที่ทันสมัย และช่องทางใหม่ ๆ ในการนำเสนอ, 3) เสริมสร้างทัศนคติเชิงบวก และจรรยาบรรณสื่อเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะประเด็นต่าง ๆ หรือ Fake News ที่กำลังแพร่ระบาดบนสื่อสังคมออนไลน์ 4) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสื่อมวลชนต่างภูมิภาค และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสื่อมวลชนกับหน่วยงาน รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ และ 5) กระตุ้นให้เกิด “การมีส่วนร่วม” และ “การระเบิดจากภายใน” ของสื่อมวลชนทั่วทุกภูมิภาค

          เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 5 ประการ ศปป.5 กอ.รมน. ได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ 1) พัฒนาสัมพันธ์สื่อมวลชน เสริมองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจพื้นฐานให้กับสื่อมวลชนภูมิภาค และคัดเลือกสื่อมวลชนดีเด่น 2) พัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้นำกลุ่มสื่อมวลชน และ 3) ประกวดผลงานสารคดี ผ่านภูมิทัศน์สื่อดิจิทัล

          การสื่อสารแบบสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างสิ่งดี ๆ หรือ การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ยิ่งถ้าหากสิ่งนั้น หรือปัญหานั้นมีความซับซ้อน การสื่อสารนั้นยิ่งต้องอาศัยการสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

          คุณภาพการสื่อสารแบบสร้างสรรค์  เกิดจากคุณภาพของผู้ที่ทำหน้าที่สื่อ ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการมีทัศนคติที่ดี ทัศนคติที่สร้างสรรค์ และที่สำคัญต้องมีทักษะในการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัล รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายของผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มพลังให้กับการสื่อสารแบบสร้างสรรค์ได้อย่างเท่าทวีคูณ

          การเสริมสร้างความเข้าใจเพื่อความมั่นคงในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องอาศัยผู้ที่ทำหน้าที่สื่อ ที่มีความสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดี มีทักษะในการสื่อสารในโลกยุคดิจิทัล และเชื่อมโยงสื่อสร้างสรรค์เชิงคุณภาพเหล่านี้ให้รูปของเครือข่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดแนวร่วมในการประชาสัมพันธ์ความมั่นคงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะนำไปสู่การเสนอข่าวสารเชิงบวก และการสื่อสารแบบสร้างสรรค์เกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ที่กว้างมากยิ่งขึ้น

ความคิดเห็น