วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

ความท้าทายในการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 16 ก.พ. 2565 18:01 น.    เข้าชม 2140

          ลองนึกถึงภาพของคนๆ หนึ่ง ที่มีร่างกายอ่อนแอ จิตใจหดหู่ คน ๆ นั้น มีแนวโน้มว่าหมดพลังทั้งแรงกายแรงจนไม่มีแก่จิตแก่ใจจะทำอะไรต่อมิอะไรในชีวิต แต่ถ้าหากคน ๆ นั้น เกิดความรู้สึกมีพลังขึ้นมาในจิตใจว่า “ฉันไม่ต้องการจะตกอยู่ในสภาพนี้ต่อไป แต่ฉันต้องการเดินหน้า และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” ทันใดที่ความคิดนี้ผุดขึ้นมา พฤติกรรมของคน ๆ นั้น ก็จะเปลี่ยนแปลงไปทันที ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายที่อ่อนแอ กลับมาแข็งแรง จิตใจที่หดหู่ กลับมาสดใส เราอาจจะเรียก ปรากฏการณ์นี้ว่า “การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงในระดับบุคคล” อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ คงต้องเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย และต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรค และ ความท้าทายมากมาย กว่าจะถึงจุดที่ต้องการ

          หากเรามองในเชิงเปรียบเทียบในบริบทที่กว้างขึ้น เช่น การทำให้สังคม หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่มีความอ่อนแอ ผู้คนในสังคมนั้นมีจิตใจที่เป็นทุกข์ มีความหวาดระแวง ความกังวล กลับกลายมาเป็นสังคม หรือ พื้นที่ที่มีความมั่นคงในระดับหนึ่งนั้น ก็คงต้องใช้การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง แต่การพัฒนานี้จะเป็นการพัฒนาในบริบทที่กว้างขวางกว่า หรือ เราอาจเรียกการพัฒนาแบบนี้ว่า “การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงในระดับพื้นที่”

          สิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างระดับบุคคล กับ ระดับพื้นที่ ก็คือ ทั้งสองระดับจะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรค และความท้าทาย ในการที่จะเปลี่ยนผ่านระดับความมั่นคง แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ปัญหาอุปสรรค และความท้าทายในระดับพื้นที่นั้นย่อมมีมากกว่า ในระดับบุคคล อย่างเทียบกันไม่ได้ และหากพื้นที่นั้น ๆ มีความสลับซับซ้อนในแง่สังคมจิตวิทยาแล้ว เฉกเช่น “พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ปัญหาอุปสรรค และความ ท้าทาย จะยิ่งมีเพิ่มขึ้นมากกว่าในพื้นที่ทั่ว ๆ ไป

แนวทางในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงในพื้นที่ จชต.

          สำหรับแนวทางในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงในพื้นที่ จชต. นั้น จะยึดแนวทางพระราชดำริ การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง หรือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยุทธศาสตร์แนวทางดำเนินงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” รวมทั้งแนวทางการพัฒนาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี นโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ

          เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และแผนต่าง ๆ ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น จำเป็นจะต้องดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น การปรับ “การปรับกระบวนคิด” ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้มีมุมมอง และจุดมุ่งหมายร่วมกันในการดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการนี้ต้องยึดพื้นที่เป้าหมายเป็นหลัก โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเน้นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือมีเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคง และมีการประเมิน และจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ มุ่งพัฒนาคน และพื้นที่ไปพร้อมกัน ภายใต้การบูรณาการระหว่างงานด้านการพัฒนา และงานด้านความมั่นคง และที่สำคัญที่สุด จะต้องเสริมสร้างความมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน

ความท้าทายในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงในพื้นที่ จชต.

          เราจะเห็นได้ว่า การดำเนินการตามแนวทางพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมายในทุกระดับ ผ่านกระบวนการต่างๆ ที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ความหลากหลายทางความคิด และ อื่นๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นความท้าทาย 4 ประการในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความท้าทายประการที่หนึ่ง: การบูรณาการการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง

          ถึงแม้ในภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรงจะมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในบางพื้นที่ยังคงมีความเสี่ยงสูงอยู่ ดังนั้นจึงทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไม่สามารถทำงานในแบบปกติได้ แต่จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับต่างหน่วยงาน นั่นคือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานในพื้นที่เสี่ยงสูงเหล่านี้ได้

ความท้าทายประการที่สอง: การสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมระหว่างหลากหลายหน่วยงาน

          เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกองค์กรทุกหน่วยงานในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไป และวัฒนธรรมในการทำงานเป็นของตนเอง ในทำนองเดียวกันการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีหน่วยงานจำนวนมากที่มีความแตกต่างในเรื่องวัฒนธรรมองค์กร การมาปฏิบัติงานร่วมกันย่อมจะต้องมีการปรับตัว และพัฒนาวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกัน ให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างสร้างสรร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย

ความท้าทายประการที่สาม: การสร้างความเข้าใจในเรื่องเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของนโยบาย/แผน

          เนื่องจากมีแผนงาน และกิจกรรมในการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ และนโยบาย ในหลายระดับ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระดับผู้ปฏิบัติยังมีความเข้าใจไม่เพียงพอ ซึ่งระดับความเข้าใจนี้ มีผลอย่างยิ่งต่อผลลัพธ์ของงานที่เกี่ยวข้อง

ความท้าทายประการที่สี่: การบูรณาการ และประสานสอดคล้องระหว่างแผนงาน

          ความท้าทาย 3 ประการ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบูรณาการแผนงาน โดยเฉพาะแผนงานระหว่างหน่วยงาน ประสิทธิภาพของการบูรณาการเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของงานไม่มากก็น้อย

          ความท้าทายที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างไร แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นในการทำงานที่มีความสลับซับซ้อน มีผู้คนจำนวนมากจาก หลากหลายภาคส่วน หลายหลายองค์กร หลากหลายหน่วยงาน หลากหลายระดับ แต่ความท้าทายดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการพัฒนา การยกระดับให้ดีขึ้น ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างมีพลวัตของมัน ดังนั้นความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเป็นนำไปสู่การพัฒนาใหม่ ๆ ย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลา ก่อให้เกิดเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด

ความคิดเห็น