วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว ความสำคัญของการบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง

 16 ก.พ. 2565 18:07 น.    เข้าชม 7825

          บทความนี้ ขอขึ้นต้นด้วย ประโยคที่ค่อนข้างแปลกประหลาด แต่เป็นประโยคที่ผู้คนไม่น้อยเลยคุ้นเคย ประโยค ๆ นี้ก็คือ “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” ฟังดูเผินๆ อาจจะฟังเหมือนเป็นบทกวีสั้น ๆ

          ใช่...ประโยคนี้ ฟังดูเหมือนเป็นบทกวีสั้น ๆ จริง ๆ แต่มันไม่ใช่บทกวีแบบธรรมดา ประโยคนี้มีที่มาที่ไปจากทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกเลยทีเดียว ทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ก็คือ “ทฤษฎีปรากฏการณ์ ผีเสื้อขยับปีก” หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ “Butterfly Effect”

          สาระสำคัญของ “Butterfly Effect” ก็คือ “การกระทำสิ่งเล็ก ๆ หรือ การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ตามมา”

          หากการกระทำสิ่งเล็ก ๆ นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลล่ะ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพียงเล็กน้อยในบริบทหนึ่ง เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ เกี่ยวกับข้อมูลนั้นอาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบใหญ่ ๆ ในอีกบริบทหนึ่งก็เป็นได้

ที่มาของทฤษฎี Butterfly Effect

          ทฤษฎี Butterfly Effect นั้นเกิดขึ้นจากการค้นพบของ Edward Lorenz นักคณิตศาสตร์ และนักพยากรณ์อากาศชั้นนำของโลก Edward ได้ใช้คอมพิวเตอร์ซิมูเลชั่นแบบจำลองอากาศ คำนวณผลของสภาพอากาศ และผลการคำนวณแต่ละครั้งจะแตกต่างไปจากการคำนวณครั้งก่อนหน้านี้อย่างมหาศาล เพียงแค่เขาปัดค่าทศนิยมที่มีค่าน้อยมาก ๆ ของผลการคำนวณก่อนหน้า เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณครั้งต่อไป

          จากปรากฏการณ์ข้างต้น Edward จึงได้ตั้งคำถามว่า “หากมีผีเสื้อตัวหนึ่งกระพือปีกอยู่ที่ประเทศบราซิล จะสามารถทำให้เกิดพายุทอร์นาโดที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่”

          และนี่คือ ที่มาของทฤษฏีก้องโลก “Butterfly Effect” ที่นัยสำคัญของทฤษฏีก็คือ “การเปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิดของสิ่งหนึ่ง (ผีเสื้อขยับปีกในประเทศบราซิล) สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ (พายุทอร์นาโดในรัฐเท็กซัส)

ทฤษฎี Butterfly Effect กับงานด้านความมั่นคง

          หากเรามองในมิติด้านความมั่นคงผ่านกรอบแนวคิดตามทฤษฎี Butterfly Effect เราอาจจะตั้งคำถาม  ในลักษณะเดียวกันกับที่ Edward ตั้งคำถามข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น “หากการเปลี่ยนแปลงข้อมูลด้านความมั่นคงในบริบท ๆ หนึ่ง โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม ก็อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ หรือ ผลกระทบใด ๆ อย่างมหาศาลในอีกบริบทหนึ่งได้”

          ภายใต้คำถามดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่ทำงานด้านความมั่นคงเห็นถึงความเป็นไปได้ของโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ และเมื่อเห็นถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นของเหตุการณ์ๆ หนึ่ง ย่อมจะสามารถเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

การบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง

          อย่างไรก็ตามการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมี “ความพร้อมในเรื่องข้อมูลด้านความมั่นคง” และแน่นอนที่สุด “ความพร้อมในเรื่องข้อมูลด้านความมั่นคง” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “การบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง” มีประสิทธิภาพเพียงพอ

          ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงให้ความสำคัญกับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบองค์รวม ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น และหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมไปถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถบูรณาการการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่าง มีประสิทธิภาพ โดยมีฐานข้อมูลด้านความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิติ

          การมีฐานข้อมูลด้านความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิติ จะเกิดขึ้นได้ด้วย “การบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง”

          เมื่อการบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคงมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ โอกาส หรือ ความเป็นไปได้ที่จะตอบคำถามด้านความมั่นคงใด ๆ ตามทฤษฏี Butterfly Effect ได้ถูกต้อง ก็มีโอกาสมากขึ้น และนั่นหมายถึงโอกาสในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงใด ๆ ก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เราอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงกัน การเชื่อมโยงกันนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายจนยากที่จะจินตนาการ

          ในทำนองเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในโลกใบนี้ ปัญหาการก่อความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกันในหลาย ๆ มิติ การเกิดขึ้นของเหตุการณ์เล็ก ๆ เหตุการณ์หนึ่ง อาจจะก่อให้เกิดเหตุการณ์อีกเหตุการณ์ที่ส่งผลที่ยิ่งใหญ่ ที่อาจจะเป็นไปได้ทั้งผลดี และผลเสีย

          การที่จะสามารถคาดการณ์ความเป็นมาเป็นไปของผลกระทบดังกล่าว ย่อมต้องอาศัยความพร้อมของข้อมูล และความพร้อมของข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลด้านความมั่นคง ย่อมต้องอาศัย “การบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง” ที่มีประสิทธิภาพ เพราะสิ่งนี้ จะทำให้หน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ภายใต้บริบทที่มีพลวัตแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ดุจดั่งคำว่าที่กล่าวในข้างต้นว่า “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “Butterfly Effect”

ความคิดเห็น