วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

นกพิราบแห่งสันติสุข กับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

 16 ก.พ. 2565 18:15 น.    เข้าชม 2297

          ให้ท่านลองจินตนาการว่า ตัวท่านเองกำลังอยู่ในส่วนลึกของถ้ำแห่งหนึ่ง แน่นอนที่สุดในส่วนลึกของถ้ำนั้นย่อม มืดมิด ไร้ซึ่งแสงสว่าง ซึ่งจะทำให้สภาพจิตใจของท่าน เกิดความหวาดกลัว และความวิตกกังวล ไม่มากก็น้อย และการที่จะขจัดความหวาดกลัว และความวิตกกังวล เหล่านั้นออกไปจากจิตใจ ท่านจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางออกจากความมืดมิดนั้น และทันทีที่ท่านได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ความหวาดกลัว และความวิตกกังวล ย่อมสูญมลายหายไป ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาทดแทนก็คือความหวังในการที่จะออกจากห้วงแห่งความมืดมิดได้ เมื่อมีความหวังเกิดขึ้น ก็ย่อมเกิดความปิติยินดีมองเห็นอนาคตสดใสที่จะตามมา

          ความมืดมิดในถ้ำนั้น สามารถอุปมาอุปไมยได้กับ “ปัญหา” ที่สังคม ๆ หนึ่ง ต้องประสบ และยังหาทางแก้ไขไม่ได้ อย่างทันทีทันใด ที่ได้ค้นพบหนทางในการแก้ไขปัญหานั้น ก็สามารถอุปมาอุปไมยได้กับ “การได้เห็นแสงสว่าง ที่ปลายอุโมงค์” นั่นเอง

          ในทำนองเดียวกัน ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำรงอยู่มากว่าสองทศวรรษนั้น ก็เปรียบได้กับการที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องต่างติดอยู่ในความมืดมิดของถ้ำแห่งความขัดแย้ง จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้ค้นพบวิธีการออกจาก “ถ้ำแห่งความขัดแย้ง” นั่นคือ “การพูดคุยเพื่อสันติสุข” ซึ่งเปรียบได้ดั่ง “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ณ ปากถ้ำแห่งความขัดแย้ง” และหากผู้คนที่เกี่ยวข้องเดินตามแสงนั้นไป ในที่สุดก็จะได้พบ “นกพิราบแห่งสันติสุข” ที่กำลังโบยบินอยู่ที่ปากถ้ำ หรือ ความสันติสุขอย่างยั่งยืนนั่นเอง

กระดุมเม็ดแรกของเส้นทางแสงสว่างสู่สันติสุข

          การก่อร่างสร้างพาหนะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อโลดเล่นบนเส้นทางแสงสว่างสู่สันติสุขนั้น เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2557 โดยเริ่มต้นจากการพูดคุย และหารือกับผู้ที่มีนัยสำคัญต่อความสำเร็จ นั่นคือ การพูดคุยหารือกับประเทศมาเลเซีย โดยการพูดคุย และหารือนี้ เปรียบได้ดั่ง กระดุมเม็ดแรกของการเดินทางไปตามเส้นทางแห่งสันติสุข ซึ่งถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญที่สุด

          การติดกระดุมเม็ดแรกดังที่กล่าวไปข้างต้น ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม สรุปได้ดังนี้

  • ปี พ.ศ.2558 กลุ่มขบวนการ 6 กลุ่ม ตอบรับเข้าร่วมการพูดคุย
  • ปี พ.ศ.2559 จัดตั้งคณะทำงานทางเทคนิคร่วม
  • ปี พ.ศ.2560 บรรลุข้อตกลงเรื่อง Term of Reference
  • ปี พ.ศ 2561 เห็นชอบพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง

ทุกเส้นทางล้วนแล้วต้องเผชิญกับอุปสรรค และความท้าทาย

          เนื่องจากการเดินทางตามเส้นทางแสงสว่างสู่สันติสุขนั้น เป็นงานที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งภายในประเทศ และภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปสรรคที่มีนัยสำคัญมากที่สุดก็คือ “ระดับความเข้าใจในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติ” ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข หากผู้คนในแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขาดความเข้าใจ หรือ ยึดติดกับทฤษฎี หลักการ และแนวความคิดเดิม ๆ แล้ว ย่อมจะเป็นตัวฉุดรั้งความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ดังนั้นคณะทำงานที่รับผิดชอบกระบวนการพูดคุย จึงต้องใช้เวลาในการทุ่มเทความพยายาม เพื่อสถาปนาความเข้าใจในเรื่องนี้กับผู้คนที่เกี่ยวข้อง

          นอกเหนือไปจากปัญหาในเรื่อง “ระดับความเข้าใจ” ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้ว กระบวนการพูดคุยฯ ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ส่งผลให้กระบวนการพูดคุยฯ ต้องเกิดการชะลอไปในช่วงปี พ.ศ. 2562-2564

ถึงจะประสบอุปสรรค แต่ความก้าวหน้าก็ไม่หยุดยั้ง

          ถึงแม้ว่าจะประสบอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากระดับความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง และอุปสรรคจากภัยพิบัติตามธรรมชาติ เฉกเช่น การแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่หยุดการดำเนินการ อีกทั้งได้พยายามสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขผ่านช่องทางออนไลน์​รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ​ เพื่อให้การพูดคุยมีความคืบหน้า​ต่อเนื่อง​ จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการประชุมแบบ​ Face to Face ที่ประเทศมาเลเซีย​ระหว่างวันที่​ 11-12 มกราคม​ 2565 โดยผลการหารือจากการประชุมดังกล่าว​มีข้อสรุปใน​ 3 ประเด็นหลัก

ประเด็นแรก : 3 กรอบสารัตถะสำคัญ

          ประเด็นแรก​ คือ​ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยหารือ ​และเห็นพ้องกันในเรื่องหลักการทั่วไป​ ในกรอบ​สารัตถะ 3 เรื่อง​ ได้แก่ 1) การลดความรุนแรง 2) การปรึกษาหารือของประชาชนในพื้นที่ และ 3) การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยทั้ง 3 สารัตถะนี้ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยประชาชนฯ ต้องการเห็นความสงบสุขในพื้นที่ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เป็นรากเหง้า อันจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขอย่างถาวรยั่งยืน

ประเด็นที่สอง : กลไกขับเคลื่อนประเด็น 3 สารัตถะให้เป็นรูปธรรม

          เมื่อมีประเด็นสำคัญที่จะพูดคุย และหารือกันแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องมี “กลไก” ในการขับเคลื่อนสิ่งที่พูดคุยหารือกันให้เป็นรูปธรรม

          ในการจัดตั้ง “กลไก” ดังกล่าวได้มีการพิจารณาที่จะจัดตั้ง ผู้ประสานงาน Joint Working Group ขึ้นมาในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะประเด็น การลดความรุนแรง และการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ ส่วนประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน และมีความละเอียดอ่อนค่อนข้างมาก ก็จะใช้ลักษณะการจัดตั้ง Joint Study Group เข้ามาเพื่อศึกษาในรายละเอียดหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

          โดยกลุ่มการทำงานทั้งสองรูปแบบ จะมีลักษณะแบบกึ่งทางการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความอ่อนตัวในการปฏิบัติงาน ความอ่อนตัวนี้จะทำให้กระบวนการพูดคุยสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด

ประเด็นที่สาม : สมัครใจลดความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย

          คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยได้นำเสนอในเรื่อง “การลดกิจกรรมความรุนแรงลงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยความสมัครใจ” ทั้งนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพูดคุยในครั้งต่อไป รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพูดคุยที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในพื้นที่  โดยคณะพูดคุยฝั่งไทย และกองทัพภาคที่ 4 ได้มีการเตรียมการในเรื่องดังกล่าวไว้บางส่วนแล้ว

          การเกิดของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เปรียบได้ดั่ง การปรากฏตัวขึ้นของแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์ และ    แสงสว่างนี้ นำมาซึ่งความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ที่เปรียบได้ดั่งการปรากฏตัวของ “นกพิราบ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติสุข ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบัน เราอาจจะเห็นรูปร่างของ “นกพิราบ” ตัวนี้ ไม่ชัดเจนนัก แต่จงเชื่อเถอะว่า ภายใต้ ความมุ่งมั่นของคณะทำงานพูดคุยฯ ของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้เราได้เห็น “นกพิราบ” ตัวนี้ ได้อย่างชัดเจนได้ในเร็ววัน

ความคิดเห็น