วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

Gen Y และ Gen Z กับการสร้างคุณภาพชีวิตดี ๆ ใน จชต. ด้วยแนวคิด “เมืองอัจฉริยะ”

 8 มี.ค. 2565 17:06 น.    เข้าชม 2199

          ข้อเท็จจริงสามประการ ในโลกปัจจุบัน ที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ ก็คือ 1. เทคโนโลยีดิจิทัลมีผลต่อการใช้ชีวิต และคุณภาพชีวิตของผู้คนในโลกปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง 2. เทคโนโลยีดิจิทัลมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก จนบางครั้ง หากเราไม่มีการติดตามที่ดี อาจจะทำให้เราตกยุคได้ และ 3. เด็ก และเยาวชนรุ่นใหม่ เช่น Gen Y และ Gen Z มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาก เมื่อเปรียบกับผู้คนใน Generation ก่อนหน้านี้ นั่นคือ Baby Boomer  และ Gen X

          หากเรายอมรับความจริงดังกล่าว เราจะเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการส่งเสริม ให้เด็ก และเยาวชนรุ่นใหม่ใน Gen Y และ Gen Z เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม อาทิเช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เป็นต้น และที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ โอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลนี้จะยังคงดำรงอยู่ในทุกพื้นที่ และหนึ่งในพื้นที่นั้นก็คือ “จังหวัดชายแดนภาคใต้”

“เมืองอัจฉริยะ” เมื่อคน และเทคโนโลยีผนึกกำลังในการยกระดับคุณภาพชีวิต

          คำว่า เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City น่าจะเป็นคำคุ้นเคยที่ได้ยินกันตามสื่อต่าง ๆ อย่างแพร่หลายในช่วงระยะเวลาไม่นานนี้ นั่นเป็นเพราะประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City เพื่อมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิเช่น Internet of Thing (IoT) ไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผลในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การทำธุรกิจ การศึกษา การอนุรักษ์​ และ รักษาสิ่งแวดล้อม หรือ แม้กระทั่งการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน

          อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการใช้ “เมืองอัจฉริยะ” มาช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนนั้น นอกจากจะต้องอาศัยความก้าวล้ำของเทคโนโลยียุคใหม่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การพัฒนาบุคลากร และการปลูกฝังให้ผู้ที่มี่ส่วนเกี่ยวข้องกับ “เมืองอัจฉริยะ” เกิดความตระหนัก และเกิดความรู้สึกในการมีส่วนร่วมที่จะนำไปสู่ความร่วมแรงร่วมใจในการสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา

          บุคคลที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ย่อมจะหมายถึงทุกคนในสังคมในทุก Generation ไม่ว่าจะเป็น Baby Boomer, Gen X, และ Gen ที่มีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของเมืองอัจฉริยะ นั่นก็คือ Gen Y และ Gen Z

ทำไมต้อง Gen Y, และ Z

          ดังที่กล่าวไปแล้วว่า หัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อาทิเช่น การเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในสังคมนั้น ยกตัวอย่างเช่น “เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City” นั้น ก็คือ คน หรือ บุคลากร และเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความกระตือรือร้น ชอบทำงานเป็นทีม มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มีการพัฒนาตนเอง และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี และชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

          คุณลักษณะดังกล่าว เป็นคุณลักษณะสำคัญของคน Gen Y และ Z ด้วยสาเหตุนี้เองจึงจำเป็นจะต้องดึงพลังของคนใน Gen นี้ มาช่วยสร้างสรรค์หนทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตภายใต้แนวคิด “เมืองอัจฉริยะ” ร่วมกับ Gen อื่น ๆ

ดึงพลังคนรุ่นใหม่คืนถิ่นขับเคลื่อน “เมืองอัจฉริยะ”

          รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศ ดังนั้น รัฐบาล โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ และภาคประชาชนมีส่วนร่วม ตามแนวคิด “การพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน”

          ณ ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งในเมืองหลัก และเมืองรอง โดยในระดับเมืองรองนั้น ได้กำหนดพื้นที่ในการพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะใน 15 พื้นที่ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้มีการประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ 50 พื้นที่ ทั่วประเทศ

          สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ การดึงพลังคนรุ่นใหม่คืนถิ่น เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ โดยมีการคัดเลือก 30 ตัวแทนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ ให้ทำหน้าที่เป็น “นักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (The Smart City Ambassadors)” และได้จัดกิจกรรมกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา ทั้งด้านการพัฒนากำลังคน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทันสมัยในการบริหารจัดการเมือง เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ ทุกภาคของประเทศ

          ยกตัวอย่างเช่น ภาคเหนือ ได้แก่ น.ส.เมธาวี ต๊ะผัด หรือ ฟ้า วิศวกรซอฟต์แวร์ และกำลังศึกษาปริญญาโททางด้าน ICT for Smart Society ที่ Politecnico di Torino ประเทศอิตาลี สำหรับภาคอีสาน ได้แก่  น.ส.วารุณี วันมะโน จบคณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ น.ส.กมลชนก มุสิกสูตร จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ น.ส.สุธินี ชำนิไพบูลย์ บัณฑิตสาวชาวสงขลา จบการศึกษาจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เริ่มปฏิบัติงานในโครงการยะลาเมืองอัจฉริยะ

ยะลาเมืองอัจฉริยะ เมืองนำร่อง Smart City ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          น.ส.สุธินี ชำนิไพบูลย์ ตัวแทนคน Gen Y และ Z นักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่เปิดเผยว่า การปฏิบัติในฐานะนักส่งเสริมดิจิทัลฯ เริ่มจากการทำความเข้าใจแผน Smart City ของเมืองยะลา พร้อม ๆ กับการศึกษา  ทำความเข้าใจบริบทของเมือง ตลอดจนปัญหาและความต้องการของเมือง เพื่อให้แผนมีความสอดคล้องกับบริบทของเมืองอย่างแท้จริง จากนั้นก็เข้าไปศึกษาโครงการแต่ละโครงการ และช่วยให้คำแนะนำในเรื่องของเทคโนโลยี  ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเมือง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน จังหวัดยะลาได้มีการริเริ่มไปหลายโครงการแล้ว อาทิ เพจฯ หลาดยะลา, Line OA, YALA mobile app, Free Wifi และอื่น ๆ เป็นต้น

          ล่าสุดประโยชน์ที่เมืองยะลาได้รับจากเทคโนโลยีดิจิทัล ก็คือ ประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็คือ ยะลาได้เลือกใช้ Big Data เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการมาตรการการควบคุมการเดินทางของคน ซึ่งส่งผลให้จำนวน ผู้ติดเชื้อลดลง และยังมีโครงการ Smart Pole ที่อยู่ในขั้นตอนของการของบประมาณ โครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นถนน ที่นอกจากจะให้แสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อการใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังตอบโจทย์ในเรื่องของการเฝ้าระวัง การป้องกันอันตราย และการมอนิเตอร์สภาพของเมืองในด้านต่าง ๆ อีกด้วย

          นอกเหนือไปจากประโยชน์มากมายที่ได้รับจากโครงการยะลาเมืองอัจฉริยะดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว บริการด้านสุขภาพ การสนับสนุนมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดก็คือในเรื่อง Smart Governance หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เมืองอัจฉริยะมาช่วยในการบริหารจัดการภาครัฐ ทำให้ภาครัฐใกล้ชิดประชาชน และสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ชีวิตของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี ดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ ก็เป็นอีกหนึ่งในหลาย ๆ เทคโนโลยีที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนในแทบทุกมิติไม่ว่าจะเป็นในมิติคุณภาพชีวิต มิติเศรษฐกิจ และการสร้างรายได้ มิติความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมิติอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีฯ นี้ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดผล ต้องอาศัยคนเป็นผู้ขับเคลื่อน และผู้ที่เหมาะต่อการขับเคลื่อนเทคโนโลยีฯ ให้เป็นรูปธรรมได้ดีที่สุดก็คือ กลุ่มบุคคลใน Gen Y และ Gen Z

          ณ ปัจจุบัน การขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ ตามนโยบายของรัฐบาล ได้เริ่มก่อร่างสร้างความเป็นรูปธรรมขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้วในทุก ๆ ภาคของประเทศ สำหรับในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “เมืองต้นแบบอัจฉริยะ” และแน่นอนว่าในอนาคตในอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นความเป็นรูปธรรมที่จะปรากฏให้เห็นมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในจังหวัดยะลาและในจังหวัดอื่น ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคิดเห็น