วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

แปลงเล็กไม่ แปลงใหญ่ทำ เปลี่ยนผืนนาติดลบ ให้เป็นผืนนาแห่งมูลค่า

 8 มี.ค. 2565 17:14 น.    เข้าชม 2395

          คำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหารการกินของประเทศไทย ที่ถือได้ว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ “ข้าว” ที่เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมที่ขึ้นชื่อของประเทศ และความสำคัญของกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง “ผลิตภัณฑ์ข้าว” ซึ่งก็คือ “ชาวนา” ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ”

          ในภาพรวมของประเทศ “ข้าว” ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางเกษตรที่สร้างรายได้หลักส่วนหนึ่งให้กับประเทศ อย่างไรก็ตามรายได้ที่เกิดขึ้นจาก “ข้าว” อาจจะมีความไม่แน่นอน มีการขึ้น ๆ ลง ๆ ของราคา ส่งผลให้บางครั้ง “ชาวนา” ต้องประสบกับภาวะขาดทุน จนทำให้พี่น้องชาวนาต้องประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต

          ในบางพื้นที่ อาทิเช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นอกจากต้องประสบกับภาวการณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ของราคาข้าว ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นแล้ว ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่อีกด้วย เรียกว่า ต้องเผชิญกับ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” จนทำให้พื้นนาที่เคยเขียวชอุ่มได้แปรเปลี่ยนเป็น “ผืนนาร้าง”

          หากเราเป็น “ชาวนา” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราคงท้อแท้ สิ้นหวังจนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต จากสถานการณ์ข้างต้น ดูเหมือนจะไร้หนทางในการแก้ไข แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดูเหมือนจะไร้หนทางในการแก้ไข จะสามารถกลับมามีหนทางที่จะช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ หนทางนั้นก็คือ “การทำนาในระบบแปลงใหญ่”

ชูระบบ 'แปลงใหญ่' เปลี่ยนนาขาดทุน รวมกลุ่มเข้มแข็ง ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ

          ดังที่กล่าวไปแล้วว่า “ข้าว” ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางเกษตรที่สร้างรายได้หลักส่วนหนึ่งให้กับประเทศ แต่ “ชาวนา” ที่เป็นกำลังหลักกลับต้องประสบปัญหาในเรื่องรายได้ หรือ การขาดทุน ซึ่งเกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาข้าว ประกอบกับคุณภาพในการปลูกข้าวยังไม่ดีนัก ต่างคนต่างทำ ไม่ร่วมกันพัฒนา นอกจากนั้นยังขาดการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้เมื่อผลิตออกมาแล้วผลผลิตล้นตลาด

          ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการทำนา เชิงอุตสาหกรรม (นาแปลงใหญ่)” ขึ้น โดยส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มกันเพื่อผลิต ทำให้มีอำนาจในการต่อรอง และสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ ซึ่งไม่ได้รวมทุกแปลงเข้าด้วยกัน เพียงแต่เป็นการรวมกลุ่มกันเท่านั้น โดยภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพข้าว และกิจกรรมการเกษตรอื่น ๆ รวมทั้งพัฒนาให้เป็นจุดเรียนรู้ การบริหารจัดการเชิงอุตสาหกรรมครบวงจร ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ประณีต และเหมาะสมกับพื้นที่สู่เกษตรกรในชุมชน

          แนวทาง “นาแปลงใหญ่” ถูกขยายผลไปทั่วประเทศ ส่งผลให้รูปแบบการผลิตแบบเดิม คือการผลิตรายย่อย ต่างคนต่างทำ สู่การรวมกลุ่มเกษตรกร ส่งผลให้ชาวนาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันขาย ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด สร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง โดยมีการดำเนินการส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และมีจำนวน นาแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 2,741 แปลง ชาวนาจำนวน 220,614 ราย บนพื้นที่ 3,102,303 ไร่ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ชาวนาสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 470 บาทต่อไร่ หรือลดลง 14% ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 78 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 12% และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,136 บาทต่อไร่

นาแปลงใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ประสบความสำเร็จในการประยุกต์การทำนาแบบ “นาแปลงใหญ่” เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การทำนาแปลงใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี

          จากเดิมในอดีตพี่น้องชาวนาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ต้องประสบปัญหาการขาดทุน และมีหนี้สิน ต่อมาในปี 2559 มีการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปัตตานีได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริมการรวมกลุ่ม ความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ และการวางแผนผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการกับตลาด

          การดำเนินการ “นาแปลงใหญ่” ในจังหวัดปัตตานีนั้นจะเริ่มต้นที่การวางแผน และกำหนดแผนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี โดยการวางแผนจะใช้ข้อมูลความต้องการของตลาด เมื่อมีแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดแล้ว ก็จะให้ศูนย์วิจัยข้าวดำเนินการผลิตโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ มีผลผลิตสูง สามารถต้านทานโรคและแมลงได้

          จากการเปลี่ยนแปลงในการทำนาแบบเดิม ๆ มาเป็นการทำแบบ “แปลงใหญ่” ส่งผลให้ยอดผลผลิตจากเดิม  ที่ผลิตได้ไม่เกิน 500 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 800-1,000 กิโลกรัมต่อไร่

แปลงใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้จำกัดแค่ข้าว

          คำว่า “แปลงใหญ่” นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “การทำนาข้าว” เท่านั้น แต่แนวคิด “แปลงใหญ่” สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรกรรมอื่น ๆ เช่น ยางพารา การทำปศุสัตว์ และการทำประมง เป็นต้น

          ณ ปัจจุบัน เฉพาะจังหวัดปัตตานี มีกลุ่มแปลงใหญ่มากกว่า 142 แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 7,000 คน ในพื้นที่มากกว่า 33,000 ไร่ กลุ่มแปลงใหญ่เหล่านี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ก่อให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับคุณภาพผลผลิต มีการบริหารจัดการรวมทั้งการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง

          ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความมั่งคั่งของประเทศ ไม่มากก็น้อยย่อมต้องเกิดขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตร ที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยพี่น้องเกษตรกร อย่างไรก็ตามถ้าหากพี่น้องเกษตรกรยังต้องประสบกับภาวะขาดทุน และมีหนี้สิน ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนก็ยากที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ

          พี่น้องเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากจะต้องประสบกับสถานการณ์เช่นนี้ เหมือนกับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ยังจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบฯ อีกด้วย

          แนวคิด “แปลงใหญ่” เป็นแนวคิดที่เมื่อถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาภาวะขาดทุน และปัญหาหนี้สินให้กับพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริง ๆ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างพี่น้องเกษตรกร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ การปรับปรุงคุณภาพในด้านต่าง ๆ และที่สำคัญแนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ “การทำนาข้าว” แต่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกสาขาของการทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชอื่น ๆ เช่น ยางพารา รวมทั้งการทำปศุสัตว์ และการทำประมงอีกด้วย

          ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า แนวคิด “แปลงใหญ่” จะเป็นแนวคิดหนึ่งที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ความคิดเห็น