วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

สองตักศิลา สองอุดมศึกษา แห่งชายแดนใต้ กับการแก้ไขปัญหา จชต.

 22 มี.ค. 2565 22:07 น.    เข้าชม 5675

          หากพูดถึงคำว่า “ตักศิลา” จะสามารถสื่อความหมายของคำ ๆ นี้ ได้สองความหมาย

          ความหมายที่หนึ่ง หมายถึง “เมืองตักศิลา” หรือ “ตักษศิลา” ในภาษาบาลี เป็นชื่อเมืองที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถานที่เป็นเมืองแห่งมหาวิทยาลัย และเป็นศูนย์กลางของศิลปวิชา ในอดีตครั้งพุทธกาล ซึ่งมีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์สั่งสอนศิลปะวิทยาต่าง ๆ

          ส่วนความหมายที่สอง มีความหมายว่า “ศูนย์กลางการศึกษาด้านวิทยาการ หรือ ด้านศิลปะ เช่น มหาสารคามเป็นตักศิลาแห่งที่ราบสูงอีสาน หรือ เคยมีผู้เสนอให้กรุงเทพเป็นตักศิลาด้านแฟชั่นของโลก เป็นต้น สำหรับความหมายที่สองนี้ เป็นความหมายที่ให้คำจำกัดความโดย สำนักงานราชบัณฑิตสภา

          หากพิจารณาถึงคำสำคัญของความหมายของคำว่า “ตักศิลา” แล้ว คำสำคัญที่ค่อนข้างเด่นชัดก็คือ “ศูนย์กลางของวิทยาการ” โดยคำว่า “ศูนย์กลางของวิทยากร” ในยุคปัจจุบันแล้ว ก็อาจจะเปรียบได้กับ “สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา” ซึ่งเป็นสถาบันที่รวบรวมเอาศาสตร์ และองค์ความรู้ที่หลากหลายมาไว้ในสถาบันดังกล่าว

          ประเทศไทย มี “สถาบันในระดับอุดมศึกษา” ที่มีชื่อเสียง และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

          สำหรับในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคใต้ ก็มี “ตักศิลา” หรือ “สถาบันในระดับอุดมศึกษา” ที่สำคัญอยู่ด้วยกัน สองสถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ม.อ.ปัตตานี” และ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า “มนร.”

ปรัชญา และวิสัยทัศน์ ของ สองตักศิลาแห่ง จชต.

          การศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือที่ในบทความนี้ จะใช้คำว่า “ตักศิลา” ย่อมจะต้องมีปรัชญา และวิสัยทัศน์  ที่ชัดเจน เนื่องจาก ปรัชญา และวิสัยทัศน์จะสะท้อนให้เห็นถึง “เหตุผล” ของการดำรงอยู่ของตักศิลานั้น และ “ภาพเชิงบวก” ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของ ตักศิลาที่รับผิดชอบอยู่นั้น

          เราจะมาพิจารณาดูกันว่า “ปรัชญา และวิสัยทัศน์ ของ สองตักศิลา แห่ง จชต.” มีลักษณะเป็นอย่างไรกัน

ปรัชญา และวิสัยทัศน์ ของ ม.อ.ปัตตานี

          ปรัชญา และวิสัยทัศน์ ของ ม.อ.ปัตตานี ก็คือ

          “เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรม และสังคมในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ชายแดนบนฐานพหุวัฒนธรรม นอกจากนั้นยังเน้นการสร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการ การสร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะทางวิชาการ และวิชาชีพ และ พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสังคมฐานความรู้”

ปรัชญา และวิสัยทัศน์ ของ มนร.

          ในส่วนของ มนร. ก็คือ

          “เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เข้าถึงชุมชน และชุมชนเข้าถึง โดยเน้นในเรื่องการศึกษาวิจัย วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และสังคมศาสตร์ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาคน ชุมชน สังคมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

ความเหมือน และความต่าง ที่จะผสานเป็นหนึ่งในการพัฒนา จชต.

          เมื่อพิจารณาจากปรัชญา และวิสัยทัศน์ ของทั้งสองตักศิลาแล้ว จะพบว่ามีทั้งความเหมือน  และความต่างความเหมือนของทั้งสองตักศิลา ก็คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) ที่ยึดโยงกับเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน 17 ด้าน ของสหประชาชาติ

          สำหรับความต่างก็คือ จุดเน้นในเรื่องความหลากหลายของวิทยากร โดย ม.อ.ปัตตานี ค่อนข้างจะมีความหลากหลายในสาขาของวิทยากรมากกว่า มนร. แต่ มนร. จะให้ความสำคัญกับการลงลึกในวิทยาการทางด้านเทคโนโลยี อาทิ ล่าสุดมีการเปิดสอนในหลักสูตรระบบราง เพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ทางราง (รถไฟ) ที่จะมีการขยายตัวอย่างมากในพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงพื้นที่ในภาคอื่น ๆ ของประเทศอีกด้วย

ปลายทางมุ่งสู่ความร่วมมือการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

          เราจะเห็นได้ว่าทั้งสองสถาบันการศึกษานี้ หรือ แม้กระทั่งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มิได้กล่าวถึงในบทความนี้ ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายนำความรู้เหล่านี้ ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

          ความรู้ที่ถูกส่งผ่านไปสู่ผู้คน ย่อมส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพของคนในพื้นที่จังหวัดขายแดนภาคใต้ ซึ่งท้ายที่สุดการสร้างทุนมนุษย์ ภายใต้ปรัชญา และวิสัยทัศน์ ของ สถาบันการศึกษาเหล่านี้ จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

          เมื่อผู้คนใน จชต. มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขาย่อมเกิดความต้องการให้สังคม และชุมชนที่เขาอยู่อาศัย มีความมั่นคง ปลอดภัย และท้ายที่สุด การมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างแน่นอน

ความคิดเห็น