วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

ทำไมต้องบริหารจัดการความมั่นคงตามแนวชายแดน

 23 มี.ค. 2565 11:05 น.    เข้าชม 7003

          นโยบายการเปิดชายแดนไทย-มาเลเซีย ​สร้างความยินดีปรีดาให้กับพี่น้องประชาชนทั้งไทย และ มาเลเซีย เพราะนี่คือการฟื้นคืนการเติบโตทางเศรษฐกิจมูลค่านับแสนล้าน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงเกือบสามปี ที่ผ่านมาก

          แนวโน้มที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามตัวอย่างการเปิดชายแดนไทย-มาเลเซียข้างต้น หรืออาจจะเป็นแนวชายแดนด้านอื่นๆ ของประเทศไทยนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะที่สิ่งดีๆ เกิดขึ้น ก็มีกิจกรรมบางอย่างในด้านไม่ดี หรือ ปัญหาทั้งที่ร้ายแรง และไม่ร้ายแรงเกิดคู่ขนานกันไป เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์

          อย่างไรก็ตามผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องอาศัยการบริหารจัดการ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นมากที่สุด แต่พยายามควบคุมไม่ให้สิ่งไม่ดี หรือ ปัญหา เกิดขึ้น หรือ เกิดขึ้นน้อยที่สุดตามแนวชายแดน เราเรียกสิ่งนี้ว่า “การบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง”

หลากหลายปัญหาที่สลับซับซ้อน และเชื่อมโยงกันในหลายมิติ

          ปัญหาที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน มีมากมายหลากหลายปัญหา สำหรับปัญหาหลักๆ ได้แก่

  • ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ได้แก่ 1) ปัญหาค้ายาเสพติด ซึ่งมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมาก ต่อจากนั้นนำเข้าสู่พื้นที่ตอนในของประเทศ ตลอดจนมีการใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางส่งผ่านยาเสพติดไปยังปลายทางประเทศที่สามทั้งใน และนอกภูมิภาพ และ 2) ปัญหาการค้าอาวุธ ที่มีการลักลอบค้าอาวุธสงครามในพื้นที่ชายแดน เพื่อนำไปขายต่อให้กับกองกำลังที่มีการสู้รบตามแนวชายแดน อีกทั้งปรากฏข่าวสารว่ากลุ่มนักค้ายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีการลักลอบนำอาวุธสงครามเข้าไปจำนวนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
  • ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย และการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ส่งผลให้ประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านจึงลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เพื่อแสวงหารายได้ และชีวิตที่ดีกว่า
  • ปัญหาการทำประมงรุกล้ำน่านน้ำ จากเรือประมงของประเทศเพื่อนบ้าน ในชายแดนที่ติดกับทะเล
  • ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคตามแนวชายแดน ยกตัวอย่างการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นล่าสุด นั่นคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย และ ชายแดนไทย-เมียนมา เป็นต้น
  • และปัญหาความไม่ชัดเจนของแนวชายแดน ในหลายๆ พื้นที่ตามแนวชายแดน เช่น ไทย-กัมพูชา และ ไทย-มาเลเซีย เป็นต้น

เกิดที่ชายแดน แต่ส่งผลกระทบทั้งประเทศ

          ประเทศไทยมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา และมาเลเซีย สิ่งที่เกิดขึ้นในแนวชายแดนแต่ละด้าน โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านความมั่นคงจะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับมิติต่างๆ ในระดับพื้นที่ และ/หรือ ในระดับประเทศ

          มิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ มีทั้งมิติในด้านดี เช่น การเติบโตของการค้าตามแนวชายแดน ที่ส่งผลดีต่อชีวิตผู้คนทั้งในบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดน และ ผลดีที่เกิดขึ้นการส่งต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจไปต่อยอดในพื้นที่อื่นๆ ที่ส่งผลดีในระดับประเทศ ในส่วนของมิติที่เป็นปัญหา และส่งผลกระทบทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ ก็มีมากมายหลายมิติเช่นเดียวกัน

ต้องมีการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง

          ลักษณะพิเศษของปัญหาที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็คือ เป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน เชื่อมโยงกันในหลายๆ มิติ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานราชการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้วิสัยทัศน์ร่วม และการมีเป้าหมายร่วมที่ชัดเจน         เพื่อสามารถจัดทำแผนการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคงที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการเชิงบูรณาการชายแดนด้านความมั่นคงให้กับหน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิผล

10 แนวทางในการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง

          แนวทางในการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง ประกอบด้วย 10 แนวทางหลักๆ ดังนี้

  1. จัดระบบป้องกันพื้นที่ชายแดน ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบป้องกันพื้นที่ชายแดนทางบก และทางทะเล ทั้งนี้เพื่อให้สามารถป้องกัน และจัดการภัยความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที รวมไปถึงการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
  2. พัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยความมั่นคง ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
  3. เชื่อมโยงฐานข้อมูลการสัญจรข้ามแดน (สินค้า และยานพาหนะ) ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังภัยความมั่นคงที่แฝงมากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  4. พัฒนาระบบสัญจรข้ามแดนให้สามารถป้องกัน และควบคุมการลักลอบเข้าเมือง และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถป้องกันภัยความมั่นคงจากการสัญจรข้ามแดนได้อย่างทันท่วงที
  5. จัดระบบแรงงานต่างด้าวข้ามแดน จัดระบบแรงงานต่างด้าวที่จะเข้าทำงานตามบริเวณชายแดนในแต่ละประเภทให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่
  6. พัฒนาระบบการตรวจโรคระบาด และระบบส่งต่อผู้ป่วยข้ามพรมแดน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่เป็นภัยคุกคามต่อประชาชน โรคระบาดสัตว์ และโรคพืช
  7. ดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่ที่มีเงื่อนไขของปัญหาความมั่นคง และควบคุมการใช้พื้นที่ที่มีปัญหาเขตแดน ทั้งนี้เพื่อลดการเผชิญหน้า หรือ การกระทบกระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้าน
  8. พัฒนาระบบข่าว ที่ให้ความสำคัญกับการบูรณาการการข่าวในพื้นที่ชายแดน และประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงสร้างเครือข่ายข่าวภาคประชาชน
  9. สนับสนุน พัฒนาการเสริมสร้างความเข้าใจ และการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ชายแดน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการบูรณาการในเรื่องการเสริมสร้างความเข้าใจ และการประชาสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชน นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายความมั่นคงในพื้นที่ชุมชนชายแดน
  10. จัดเฝ้าตรวจพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าตรวจชายฝั่งทะเลในการป้องกันภัยด้านความมั่นคง และการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

          เรื่องราวที่กล่าวไปทั้งหมดเพื่อต้องการบอกเล่าให้เห็นประเด็นสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หนึ่ง “ทำไมต้องบริหารจัดการความมั่นคงตามแนวชายแดน” สอง “สิ่งที่ต้องบริหารจัดการ หรือ ปัญหาสำคัญด้านความมั่นคงที่ต้องบริหารจัดการคืออะไร” และ สาม “10 แนวทางสำคัญที่จะถูกนำมาบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้วจัดทำเป็นแผนบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง” เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ และเป้าหมายร่วม ในการบริหารจัดการชายแดนชายแดนด้านความมั่นคงในแต่ละพื้นที่

ความคิดเห็น